svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

CPF จับมือ 3 มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน 5 โครงการเร่งด่วน แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

CPF ประกาศจับมือ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำ ขับเคลื่อน 5 โครงการเร่งด่วนของรัฐบาล แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้

23 กรกฎาคม 2567 นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้ประกาศความร่วมมือกับคณาจารย์จาก 3 สถาบันการศึกษาชั้นนำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งโรงงานผลิตปลาป่น เพื่อบูรณาการแก้ไขสถานการณ์ของปลาหมอคางดำ

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า บริษัทตระหนักดีว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นความเดือดร้อนของประชาชนในหลายพื้นที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับตอนนี้ คือ การร่วมมือและสนับสนุนการจัดการปัญหาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างเร่งด่วน ในฐานะภาคเอกชน บริษัทสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 5 โครงการ ร่วมแก้ไขปัญหานี้ของภาครัฐตามศักยภาพของบริษัท ต้องขอบคุณ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

ประกอบกับ  นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ที่เข้มแข็งลงมือปฏิบัติการเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบเพื่อลดจำนวนปลาหมอคางดำ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน  ทางบริษัทพร้อมนำศักยภาพขององค์กรเข้ามาช่วยสนับสนุนการแก้ไขอย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และลงมือปฏิบัติการเชิงรุกในหลายมิติ ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยมีแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการ ดังนี้ 
CPF จับมือ 3 มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน 5 โครงการเร่งด่วน แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ
 

โครงการที่ 1 คือ ทำงานร่วมกับกรมประมงสนับสนุนการรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด ราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม นำมาผลิตเป็นปลาป่นเพื่อเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากระบบให้มากและเร็วที่สุด โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมมือกับโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร รับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ไปแล้ว 600,000 กิโลกรัม และยังมีแผนรับซื้ออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังประสานจุดรับซื้อเพิ่มเติม  ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณกรมประมงที่มีมาตรการที่รัดกุม ออกประกาศห้ามการเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้า  

โครงการที่ 2  ซีพีเอฟจะร่วมสนับสนุนภาครัฐและชุมชน ปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ จำนวน 200,000 ตัว โดยที่ผ่านมา บริษัทมีการส่งมอบปลากะพงขาว จำนวน 45,000 ตัว ให้กับประมงจังหวัดสมุทรสาคร /จ.สมุทรสงคราม /และ จ.จันทบุรี แล้ว ขั้นตอนในการปล่อยปลาผู้ล่านั้น จะเป็นไปตามแนวทางของกรมประมง 

โครงการที่ 3  ซีพีเอฟจะร่วมสนับสนุนภาครัฐ ชุมชนและภาคประชาสังคม จัดกิจกรรมจับปลา สนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคน  ในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เช่น ที่ผ่านมาบริษัทได้ร่วมกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง ทีมแม่กลองปราบหมอคางดำ" ที่จัดขึ้นในจังหวัดสมุทรสงครามแล้ว 4 ครั้ง  และจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด 
CPF จับมือ 3 มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน 5 โครงการเร่งด่วน แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ
 

โครงการที่ 4  การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ  โดยมีสถาบันการศึกษาแสดงความสนใจเพื่อร่วมดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาวิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ที่ผ่านมา บริษัทได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาเมนูอาหารจากปลาหมอคางดำ เช่น ปลาร้าทรงเครื่อง ผงโรยข้าวญี่ปุ่น และ น้ำพริกปลากรอบ  

โครงการที่ 5  ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงเจตจำนงร่วมมือกับบริษัทในการบูรณาการเพื่อพัฒนาแนวทางที่จะบรรเทาปัญหาในระยะยาวต่อไป และยินดีที่จะร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศเพิ่มเติม 
CPF จับมือ 3 มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน 5 โครงการเร่งด่วน แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

ด้านนายปรีชา ศิริแสงอารำพี  เจ้าของโรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่มีโปรตีนที่สามารถนำมาผลิตเป็นปลาป่นคุณภาพ โรงงานยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาปัญหานี้ โดยได้ประสานงานกับซีพีเอฟ ที่ร่วมปฏิบัติการกับกรมประมง และได้รับซื้อแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เป็นจำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยยังคงเปิดรับซื้ออย่างต่อเนื่อง  

ขณะที่ นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ผศ.ดร.สิทธิชัย ฮะทะโชติ ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง กระบวนการแพร่พันธุ์ปลาว่า มีกระบวนการและใช้เวลาตามวงจรชีวิต กระบวนการที่รัฐบาลเร่งดำเนินการที่ให้ผลเร็วที่สุด คือ การจับออกไปจากแหล่งน้ำ และปลามีโปรตีนที่ดี สามารถนำไปปรุงเป็นอาหารเพื่อการบริโภคได้ ทั้งยังสามารถนำไปดำเนินการแปรรูปเป็นปลาป่น เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบแหล่งโปรตีน ในสูตรอาหารสัตว์ได้ หรือนำมาทำเป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพที่ดีได้ ตามแนวทางของกระทรวงเกษตรฯ 
CPF จับมือ 3 มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน 5 โครงการเร่งด่วน แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ

ในส่วนของ ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้ช่วยคณบดี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  กล่าวว่า คณาจารย์ สจล.มีความยินดีที่จะร่วมมือกำหนดแนวทาง เพื่อจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างยั่งยืน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ร่วมกับวิธีควบคุมทางชีวภาพ รวมถึงการนำปลานักล่าท้องถิ่นกลับสู่ระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการมุ่งเป้าไปที่การรักษาสมดุลทางธรรมชาติและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำของไทย 

สำหรับ ผศ.ดร นันทิภา พันธุ์สวัสดิ์ ภาควิชาผลิตภัณฑ์ประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ควรสร้างการรับรู้การบริโภคปลาชนิดนี้ให้มากขึ้น ว่าสามารถรับประทานได้ ทำอาหารได้หลากหลาย หรือใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารพิเศษ  ควรประสานโรงงานตัดแต่งเนื้อปลา เพื่อส่งเป็นเนื้อปลาแช่เข็ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคปลายทาง ทั้งยังสามารถแปรรูปได้อีกแหลายรูปแบบ ขนส่งได้สะดวก ไม่ต้องส่งปลาทั้งตัว ซึ่งจะป้องกันแพร่ขยายของปลาไปในพื้นที่อื่นได้
CPF จับมือ 3 มหาวิทยาลัย ขับเคลื่อน 5 โครงการเร่งด่วน แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ