svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ราเมศ" เตือนรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้ถูกกฎหมายย้ำหากละเลยถึงมือ ป.ป.ช.

10 พฤษภาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"โฆษกพรรคประชาธิปัตย์" เตือนรัฐบาลคำนึงการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน-ไตรภาคี พิจารณาแล้ว ย้ำจะมากำหนดเองตามอำเภอใจไม่ได้ ย้ำหากเมินกฎหมาย เรื่องนี้ต้องถึง ป.ป.ช.

10 พฤษภาคม 2567 "นายราเมศ รัตนะเชวง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า กรณีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลประกาศชัดเจน โดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2567 นี้ ซึ่งก็ต้องมาดูรายละเอียดอยู่มากพอสมควร

ทั้งนี้ เข้าใจทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งต้องอยู่ร่วมพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายจึงมีเจตนารมณ์ที่กำหนดกลไก ให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ "ไตรภาคี" ซึ่งจะมีภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้แทนรัฐบาล ต้องพูดคุยกันเพื่อพิจารณา อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่

ขณะเดียวกัน โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ มาตรฐานการครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และข้อเท็จจริงอื่นๆนำมาร่วมในการพิจารณา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาขึ้นค่าแรง 

"ขอย้ำว่าสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ให้เป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ไตรภาคี ได้พิจารณาแล้ว" นายราเมศ กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม แต่เรื่องนี้ควรต้องแยกการพิจารณาออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด เพราะข้อเท็จจริงเรื่องการขึ้นค่าแรงไม่เหมือนกันทั้งหมด เมื่อได้ความเหมาะสมแล้ว ก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คือขั้นตอนที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกลไกการพิจารณา

 

"พรรคการเมืองและรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่การกำหนดเป็นนโยบายพรรคการเมือง ที่ประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงเท่านั้น เท่านี้ ผมก็อยากถาม กกต.ว่า เป็นนโยบายที่ทำได้จริงถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือ" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว 

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าห่วงคือรัฐบาล บริหารราชการโดยไม่สนใจหลักเกณฑ์กฎหมาย รัฐบาลประกาศล่วงหน้าแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนตามกฎหมายกำหนด ประชาชนก็สับสน สุดท้ายถ้าไปคนละทางกับไตรภาคี ใครจะรับผิดชอบ รัฐบาลก็โยนบาปให้คนอื่นอีก

 

"อย่าทำการเมืองแบบเอาแต่ตัวเองได้ ควรคิดให้ละเอียดรอบคอบก่อน คิดให้ครบ รัฐบาลต้องคิดควบคู่กันไป คือ เรื่องสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ก็จะเพิ่มมูลค่าทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง สุดท้ายเรื่องนี้ถ้ารัฐบาลยังคิดจะทำ โดยไม่สนใจใยดีต่อกฎหมาย ป้ายหน้าก็เจอกันที่ ป.ป.ช. ต่อไป" นายราเมศ ระบุ

logoline