svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นิพนธ์-มาดาเดียร์" จัดเวทีระดมแนวคิดชาวสงขลาร่วมพัฒนาพื้นที่ตัวเอง

"นิพนธ์-มาดามเดียร์-สรรเพชญ-สามารถ" เปิดเวทีระดมความคิดชาวสงขลา กระตุกรัฐบาล "กระจายอำนาจ-งบประมาณ" ให้ประชาชนร่วมออกแบบการใช้จ่ายภาษีของตัวเอง เพื่อพัฒนาพื้นที่

7 เมษายน 2567 นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต รมช.มหาดไทย พร้อมด้วย น.ส.วทันยา บุนนาค นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต สส. และ นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเวทีระดมความคิดกับชาวสงขลาเพื่อออกแบบเมืองสงขลา ในหัวข้อ "อยากเห็นสงขลาเป็นแบบไหน…แหลงได้เลยน้อง"

โดย นายนิพนธ์ กล่าวว่า ประชาชนอยากเห็นอะไรในเมืองสงขลา ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต รวมไปถึงอยากเห็นประเทศไทยเดินทางไปทางไหน 

ขณะที่ น.ส.วทันยา กล่าวว่า ทุกวันนี้ (7เม.ย.) ประเทศที่พัฒนาแล้วและประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่วนใหญ่ก็มีการกระจายอำนาจ และการสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์หรือประชาธิปไตย เช่น ประเทศจีนมีการปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้มแข็งมากที่สุดของโลก

ทั้งนี้ แต่ละมณฑลสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องกลับไปสอบถามรัฐบาลส่วนกลาง เช่น เซินเจิ้น การพัฒนาก้าวกระโดดกลายเป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี เพราะสามารถตัดสินใจเรื่องการใช้จ่ายเงินภาษีได้เองทั้งหมด ไม่ว่าจะลดจะเพิ่ม ย่อมดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามา และเพิ่มกำลังซื้อเพื่อที่จะได้เก็บภาษีมากขึ้น
 

ส่วนประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีการปกครองประชาธิปไตยแบบทางตรง ไม่ว่าจะเป็นเลือก สส. หรือผู้แทนรัฐ หากรัฐไหนอยากได้สนามฟุตบอลใหม่ ก็ให้ประชาชนร่วมโหวตกันได้เลย ว่าจะมีสนามบอลหรือไม่ เพื่อเป็นการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม แม้ทั้งสองประเทศนี้จะมีระบอบการปกครองที่เป็นคู่ตรงข้ามกันสุดขั้ว แต่สิ่งที่ทำกันทั้งคู่ คือ การกระจายอำนาจไปยังการปกครองท้องถิ่น เพื่อสร้างความก้าวหน้าของประเทศ ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ภาคใต้หารายได้เข้าประเทศมากมาย แต่รายได้กลับไม่ได้เข้ามาที่ภูมิภาค ให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจใช้งบประมาณตามความเป็นจริง แต่กลับเข้าไปที่ส่วนกลางและค่อยจัดสรรมาอีกที

"ทั้งที่เราควรมีสิทธิร่วมกันออกแบบเมือง และชีวิตที่เราอยากได้ อีกไม่นานจะถึงการเลือดตั้ง อบจ. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เราจะผลักดันเรื่องนี้ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ" น.ส.วทันยา ระบุ

ด้าน นายสรรเพชญ กล่าวว่า จะรับเอาปัญหาที่ร่วมพูดคุยไปหารือในสภา เพื่อย้ำถึงปัญหาและความต้องการของประชาชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากที่หลายเรื่องเคยอภิปรายไปแล้ว 11 ครั้ง โดยเรื่องที่รับไป ได้แก่ 

  1. อะควาเรียมหอยสังข์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ใช้งบประมาณไปถึง 1,300 ล้านบาท แต่สร้างมาแล้ว 16 ปีไม่เสร็จ และชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรสะท้อนปัญหาส่วนกลางเอางบประมาณมาลง โดยไม่ถามความต้องการของคนในพื้นที่
  2. การทำอาชีพประมงท้องถิ่นซบเซา
  3. ปัญหาเรื่องลิงก่อกวนประชาชนที่มีปัญหาหลายที่ในประเทศ รวมทั้งสงขลา แต่การแก้ไขปัญหาต้องรอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าไม่ให้งบประมาณมา ก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น การกระจายอำนาจจึงสำคัญ
  4. เรื่องถนนหนทางควรให้ท้องถิ่นจัดการตัวเองได้ เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของผู้ใช้จริง
  5. ส่วนกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ตอนนี้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว โดยมี น.ส.วทันยา คือ หนึ่งในผู้ผลักดันกฎหมายฉบับนี้

"ผมย้ำว่าไม่ลืมพี่น้องที่โหวตให้เข้าไปในสภาฯ ไม่ว่าอะไรจะขึ้นก็จะอยู่ตรงนี้ ทำตามอุดมการณ์ เป็นฝ่ายค้านให้ดีที่สุด เพราะเชื่อว่าอยู่ตรงไหนก็ทำงานได้เหมือนกัน หากเราไม่ได้แสวงหาประโยชน์เราก็พร้อมทำหน้าที่ทุกแบบอยู่แล้ว ขายวัวขายที่ ผมขายได้ แต่ศักดิ์ศรีผมไม่ขาย ให้สมกับชาวสงขลาที่ไว้ใจผม" นายสรรเพชญกล่าว

ด้านนายสามารถ กล่าวถึงการแก้ปัญหาของประชาชนภาคใต้โดยรัฐบาลว่า โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรลหาดใหญ่ ที่นายนิพนธ์ เสนอโครงการนี้ไว้ตั้งแต่สมัยเป็นนายก อบจ. จนถึงตอนนี้ยังไม่ได้อนุมัติงบประมาณ แต่ตนกลัวว่ารัฐบาลจะเอางบไปสร้างที่เชียงใหม่เสียก่อน ทั้งที่สงขลา-หาดใหญ่ หาเงินเข้าประเทศได้เป็นล้านล้านบาท แต่งบประมาณหมื่นล้านเพื่อรถไฟฟ้าสายแรกในต่างจังหวัดกลับสร้างไม่ได้

นอกจากนี้ ค่าตั๋วเครื่องบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ก็มีราคาแพง เพราะรัฐบาลตั้งเพดานราคาไว้สูง อีกทั้งโครงการแลนด์บริดจ์ก็ไม่มีคนสนใจมาลงทุน เพราะมันจะไม่คุ้มทุน รัฐบาลต้องปรับโครงการด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกและมอเตอร์เวย์ รวมไปถึงโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและโครงสร้างพื้นฐานของภาคใต้

สำหรับภาคประชาชนที่เข้าร่วมงานดังกล่าว สะท้อนว่าอยากให้ระดับด้านความปลอดภัย และพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวให้สะอาดสวยงานน่าเที่ยว ปรับภูมิทัศน์ด้วยการเอาสายไฟฟ้าลงดิน พร้อมทั้งพัฒนาระบบจราจรและขนส่งมวลนให้ง่ายต่อการเข้าถึงสถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และดูแลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วยสวัสดิการ