รัฐบาลหนีไม่พ้นศึกซักฟอก
รศ.ดร.ยุทธพร อิสระชัย อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองปี 2567 ต้องจับตาการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งมีแนวโน้มสูงที่พรรคก้าวไกล จะยื่นการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงหลังปีใหม่ รวมถึงการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ล่าช้ามานาน และอาจจะมีร่างพระราชบัญญัติการกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำไปดำเนินโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะต้องติดตามว่า จะได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ และฝ่ายค้านจะมีข้อท้วงติงอย่างไร
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชน การดำเนินนโยบาย 100 วันแรกของรัฐบาล รัฐบาลมีความตั้งใจดำเนินการหลาย ๆ เรื่อง แต่หลายเรื่องก็มีปัญหาอุปสรรคที่ไม่เห็นผลทันที จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาต่อว่า รัฐบาลจะสามารถขับเคลื่อนได้หรือไม่อย่างไร โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน
เชื่อมีปรับเล็ก ครม. แต่ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนนายกฯ
ส่วนโอกาสในการปรับคณะรัฐมนตรี ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยในอดีตมักมีการปรับทุก 3-6 เดือนนั้น รศ.ดร.ยุทธพร เห็นว่า มีความเป็นไปได้ เพราะปกติโดยการทำงานทั่วไป ทุก 6 เดือนจะต้องมีการประเมินการทำหน้าที่ของแต่ละรัฐมนตรี โดยเฉพาะในช่วงกลางปี 2567 รวมถึงยังจะต้องติดตามเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงพรรคแกนนำรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตาและเป็นประเด็นที่น่าสนใจ
แต่การปรับคณะรัฐมนตรี เชื่อว่าจะเป็นการปรับย่อย ไม่ถึงขั้นปรับใหญ่ อาจมีการสลับสับเปลี่ยนที่นั่งรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความเหมาะสม รวมถึงยังจะต้องจับตาวุฒิสภาด้วย เพราะจะหมดวาระในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งก็จะต้องรอ สว.ชุดใหม่ที่มีที่มาแตกต่างจากอดีต เพราะมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมตามลำดับขั้น และมีจำนวน 200 คน ซึ่งบทบาทหน้าที่ ก็จะไม่เหมือนเดิม เพราะจะไม่สามารถลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้อีกแล้ว แต่อำนาจหน้าที่การร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ สัดส่วน 1 ใน 3 นั้น ยังคงอยู่ เช่นเดียวกับ พระราชบัญญัติยุทธศาสตร์ชาติ ก็ยังคงมีผลกำกับการทำงานของรัฐบาลอยู่
เปลี่ยนตัวนายกฯไม่ง่าย เหตุเสียงในสภาไม่นิ่ง
รศ.ดร.ยุทธพร ยังประเมินถึงโอกาสการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี หลังวุฒิสภาหมดอำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี โดยเห็นว่า การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ง่าย แม้ก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จะทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสภา และพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงในพรรคเพื่อไทยเองด้วย
ฉะนั้นแม้ปัจจุบันรัฐบาลจะมีเสียงกว่า 300 เสียง แต่หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่ ก็ยังไม่มีสิ่งยืนยันว่า 300 กว่าเสียงนั้น จะกลับมาเช่นเดิม ดังนั้น จึงเชื่อว่า หากไม่มีเหตุจำเป็น การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จะยังไม่เกิดขึ้น แม้ สว.จะหมดอำนาจการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม
“ก้าวไกล. ต้องพิสูจน์บทบาทฝ่ายค้าน
สำหรับสิ่งที่พรรคฝ่ายค้านจะต้องเจอในปี 2567 ฝ่ายค้าน จะต้องเตรียมโจทย์หลายอย่าง โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่ถูกตั้งคำถามในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน ที่ไม่ได้เข้มข้นเช่นเดิม และมีการตั้งคำถามถึงบทบาทฝ่ายค้านเชิงรุกว่ายังคงเดิมหรือไม่ หลังมีการเล่นเกมล่มสภา รวมถึงกรณีที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ไปพบกับนายทักษิณ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า จะทำให้กระบวนการตรวจสอบของฝ่ายค้านลดความเข้มข้นลงไปหรือไม่
ดังนั้นพรรคก้าวไกล ก็จะต้องพิสูจน์ตัวเองในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และพรรคก้าวไกล เคยประสบความสำเร็จในการทำหน้าที่ฝ่ายค้านมาแล้ว และทำลายความเชื่อที่ว่า ผู้ที่อยู่ในอำนาจรัฐ มีงบประมาณ มีอำนาจรัฐ และเจ้าหน้าที่รัฐ จะมีความได้เปรียบทางการเมืองในการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกล ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่จำเป็น และ 4 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยได้อยู่ในสถานะรัฐบาลแม้แต่วินาทีเดียว แต่ในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา กลับได้ สส.เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ดังนั้น หากพรรคฯ สามารถทำหน้าที่ฝ่ายค้านได้อย่างโดดเด่น ก็จะสามารถเรียกคะแนนจากประชาชนได้เช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นความเป็นเอกภาพในการทำหน้าที่ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ว่า การปรับโครงสร้างพรรคประชาธิปัตย์ จะยังทำงานกับพรรคก้าวไกลได้หรือไม่ รวมถึงปัญหาความเป็นเอกภาพในพรรคก้าวไกลเองด้วย เพราะมีปัญหาใหญ่ภายในพรรค เพราะส่วนผสมที่มากขึ้นมากกว่าพรรคอนาคตใหม่ จึงไม่ง่ายเหมือนในอดีตที่จะเดินหน้าตามยุทธศาสตร์เดิม ความเห็นต่าง ๆ จึงมีมากขึ้น และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกลเอง ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มผู้สนับสนุน ดังนั้น ในอนาคตจึงอาจจเห็นการแตกตัวของพรรคก้าวไกล ระหว่างกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งพรรค และสมาชิกพรรคได้ ซึ่งพรรคก้าวไกล ก็จะต้องปรับตัวพอสมควร
ให้คะแนนทำงานรัฐบาล 7 ส่วนฝ่ายค้าน รับ 6 เต็ม 10
รศ.ดร.ยุทธพร ยังให้คะแนนการทำงานของรัฐบาลในช่วง 3-4 เดือนแรก โดยให้คะแนน 7 เต็ม 10 เพราะแม้ว่า หลายนโยบายจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ทั้งนโยบายดิจิทัลวอลเลต และซอฟต์พาวเวอร์ แต่หลายนโยบายก็ได้ดำเนินการแล้ว แต่อาจถูกวิจารณ์บ้างเช่น การลงราคาพลังงาน การลดค่าเดินทางรถไฟฟ้าต่าง ๆ ซึ่งแม้จะเป็นเส้นทางที่ประชาชนไม่ค่อยได้ใช้บริการ แต่อย่างน้อย ก็เห็นความตั้งใจ ที่รัฐบาลน่าจะได้คะแนน 7 เต็ม 10 แต่อีกหลายนโยบายของรัฐบาล ยังจำเป็นจะต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ให้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งการดำเนินการภาครัฐ และการสื่อสารการเมือง
ส่วนคะแนนของฝ่ายค้านนั้น รศ.ดร.ยุทธพร ให้ 6 คะแนนจาก 10 คะแนน เนื่องจาก การทำงานของฝ่ายค้าน ยังไม่ได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านเชิงรุกได้อย่างชัดเจน และเอกภาพระหว่างพรรคร่วมฝ่ายค้านเอง ก็ยังเป็นโจทย์ใหญ่
รศ.ดร.ยุทธพร ยังมีข้อแนะนำถึงรัฐบาลในการปรับการทำงานในปีหน้าว่า รัฐบาล จะต้องทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ให้มากขึ้น และจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า จะยึดพื้นที่เป็นฐาน หรือวาระเป็นฐาน หรือจะกำหนดโจทย์อย่างไร รวมถึงปรับความเชื่อมโยงกับการทำงานในระบบราชการ และหน่วยงานรัฐให้มากขึ้น และโดยเฉพาะกับพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะบางนโยบายมีความคาบเกี่ยวกับพรรคร่วมรัฐบาลหลาย ๆ พรรค
ดังนั้นการทำงานที่สอดประสานกัน จะเป็นโจทย์ที่สำคัญ รวมถึงความเข้าใจในนโยบายให้ชัดเจน เพราะมิเช่นนั้น หลายนโยบายอาจยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต และซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งหากดำเนินการได้จริง จะสร้างประโยชน์ได้อย่างมาก แต่จะต้องให้มีความชัดเจน และมีความเข้าใจอย่างเด่นชัด รวมถึงปัญหาปากท้อง ที่ประชาชนให้ความสำคัญ และสัมผัสได้ เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันที่สุด
นอกจากนั้น จะต้องมีประบวนการสื่อสารทางการเมืองที่ดีกว่านี้ การโต้ตอบทางการเมือง จะต้องพยายามหลีกเลี่ยง เพราะการโต้ตอบทางการเมือง ไม่ได้เป็นผลที่ดี หลายเรื่องที่ควรกลายเป็นผลงาน กลับกลายเป็นการเมือง จนสุดท้ายบดบังผลงาน และสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
แนะฝ่ายค้านทำงานเชิงรุก
ส่วนข้อแนะนำสำหรับฝ่ายค้านนั้น รศ.ดร.ยุทธพร เห็นว่า การทำหน้าที่บทบาทเชิงรุก อย่างที่ประชาชนได้ฝากความหวังไว้ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่ประกาศทำงานทางการเมืองแบบใหม่ตรงไปตรงมา และทำงานเชิงรุก และสามารถให้ประชาชนฝากความหวังไว้ได้เหมือนในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่แล้ว และควรทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล มากกว่าอยู่กับปัญหาภายในพรรค รวมถึงความเป็นเอกภาพของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ระหว่างพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคอื่น ๆ จะต้องมีการทำงานที่สอดประสานกันมากขึ้น
ขณะเดียวกันปัญหาความเป็นเอกภาพภายในพรรคก้าวไกล ก็จะต้องระมัดระวังว่า สุดท้ายแล้ว พรรคก้าวไกล จะแตกหรือไม่ ระหว่าง สส.กลุ่มก่อตั้ง กับ สส.อื่น ๆ ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่สำคัญ และความได้เปรียบทางการเมือง ก็จะไปอยู่กับ สส.ชุดกรรมการบริหารก่อตั้งพรรค เพราะ สส.ที่ได้รับการเลือกตั้งมา อาจไม่ได้รับความโดดเด่น ซึ่งแม้จะมีผลเรื่องการคุกคามทางเพศ แต่ก็เชื่อว่า จะไม่ได้รับผลกระทบต่อพรรค เพราะจุดขายของพรรคอยู่ที่นโยบาย สส.เป็นเสมือนเซลล์แมน สส.ที่มีปัญหา ก็สามารถเปลี่ยนตัวได้ ซึ่งหากประชาชนสนับสนุนพรรคก้าวไกล ก็เลือก สส.ใครก็ได้ ซึ่งถือเป็นจุดขายของพรรคฯ ดังนั้น พรรคก้าวไกล จะต้องหาวิธีการที่จะทำอย่างไรตามแนวคิด "พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค" ให้เกิดขึ้นได้จริง
การเมือง 67 ขั้วอำนาจเก่า-ใหม่ ยังต่อรองกัน
รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง กล่าวถึงทิศทางการเมืองในปี 2567 โดยมองว่า เป็นการต่อรองกันอยู่ระหว่างอำนาจเก่าและอำนาจใหม่ ฝ่ายอำนาจเก่าคงพยายามสร้างอำนาจต่อรองให้ตัวเองเพิ่มขึ้น ไม่เช่นนั้นฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งจะมีอำนาจต่อรองมากจนเกินไป ซึ่งก็ต้องรอดูว่า อาจจะมาในรูปแบบของการต่อบทเฉพาะกาลหรือไม่
พร้อมมองว่าหากมีการขอต่อบทเฉพาะกาลจะเป็นจุดเสี่ยงที่รัฐบาลต้องเจอ เช่น การออกมาของสว.บางคน ทำให้เห็นว่ารัฐบาลที่เป็นอยู่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจากที่เห็นมีการต่อต้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ท ที่มีปัญหาต้องไปพบเจอกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒน์ กฤษฎีกา และยังมีเรื่องแรงงานที่ต้องเจอกับไตรภาคี ซึ่งอำนาจเก่าก็ยังครองอยู่ ยังมีการพูดถึงยุทธศาสตร์ 20 ปี ที่กำหนดควบคุมการดำเนินงานของรัฐบาล นี่คือการต่อรองในความรู้สึกของตนเอง และนี่ก็คือจุดเสี่ยงที่รัฐบาลอาจถูกจับผิดจนอาจนำไปสู่ชั้นศาลได้
ขณะที่ฝั่งของฝ่ายค้านตนไม่ขอแนะนำ ขอเป็นเพียงแค่คนดู เพราะมองว่าฝ่ายค้านรู้หน้าที่อยู่แล้ว แต่อย่าเผลอหลงทาง ไปรวมจนทำให้ระบบเสียหาย เพราะฝ่ายค้านเองก็น่าจะมีแนวทางที่จะเดินไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น เหมือนกับรัฐบาลที่ควรจะเป็นอย่างนั้น
ประเด็น "ทักษิณ" ปลุกม็อบไม่ขึ้น
สำหรับโอกาสที่จะเกิดการชุมนุมนั้น ตนมองว่ายังไม่เกิดขึ้นเพราะประชาชนยังให้โอกาสระบบอยู่ ว่าให้แก้ปัญหาไม่ต้องใช้ม็อบ แม้มีประเด็นของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เข้ารักษาตัว ที่โรงพยาบาลตำรวจและคาดว่าจะคุมขังนอกเรือนจำตามระเบียบกระทรวงยุติธรรมนั้น ตนก็ไม่เห็นจะมีม็อบจุดขึ้นได้ โดยเรื่องนี้ในชั้นกรรมาธิการก็ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปพูดคุย แต่ก็ไม่รู้ว่าไปกันครบหรือไม่
"คนคล้ายๆเค้าจะรู้ว่าเรื่องว่าต้องมาในทิศทางนี้ถ้าพูดกันตามตรงการพยายามจับผิดก็โอเค แต่มีใครบ้างที่คิดว่าคุณทักษิณ ไม่ได้สิทธิพิเศษเหล่านี้ กลายเป็นสิ่งที่คนเชื่อและเกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา บ้านเราเห็นแก่หน้าแก่ตากันอยู่แล้ว ทั้งๆที่ไม่ใช่เรื่องถูก แต่คนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่คุณทักษิณทำถูก หรือการปฏิบัติกับคุณทักษิณถูก แต่คนก็เห็นแล้วว่า โอ้...คนระดับทักษิณจะไปอยู่ในคุกได้ยังไง" รศ.สุขุม กล่าว
ส่วนเรื่องพ.ร.บ.นิรโทษกรรมมองว่า เป็นเรื่องการต่อรอง ที่เห็นอำนาจใหม่ ก็ได้เพิ่มมาอีก เพราะจากคำพิพากษาของศาลผิดไปจากที่เคยเป็น เนื่องจากมีศาล 3 ศาลไม่รู้จะเชื่อศาลไหน