16 ธันวาคม 2566 "นายราเมศ รัตนะเชวง" โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคก้าวไกล ว่า โดยในส่วนหลักการของพรรคได้ย้ำจุดยืนหลายครั้ง หากเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายมีผลกระทบต่อคดีความผิดมาตรา 112 ด้วย พรรคไม่เห็นด้วย รวมถึงคดีทุจริต เพราะคดีเหล่านี้หากมีการนิรโทษกรรมย่อมมีผลกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย
ทั้งนี้ เพราะต้นเหตุที่แท้จริงเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของคน ไม่ใช่เป็นคดีทางการเมืองที่เกิดจากการชุมนุม และข้อเท็จจริงชัดเจน ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ชัดของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับดังกล่าว โดย "นายชัยธวัช ตุลาธน" หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้เป็นเจ้าของร่างกฎหมายนั้นด้วย ก็ยืนยันแล้วว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้จะครอบคลุมถึงผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย
"พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันหลักการนี้ชัดเจนตลอดมาว่า ไม่เห็นด้วย หากมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา จุดยืนของพรรคก็ไม่เห็นด้วยและชัดเจนว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก็มีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยถึง 71% ดังนั้น เสียงสะท้อนจากประชาชนเหล่านี้ ผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ทำหน้าที่ในสภา ก็มีความจำเป็นต้องนำมาประกอบในการพิจารณา" นายราเมศ ระบุ
อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรม ก็ต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบเพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง และเมื่อผู้ที่ยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมยอมรับว่าให้รวมถึงผู้ที่มีคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย ก็ชัดเจนว่าเห็นถึงประโยชน์ที่พรรคและพวกจะได้รับอยู่แล้ว สุดท้ายประเด็นเหล่านี้ก็จะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด