8 ธันวาคม 2566 "นายเศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมเพื่อมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด, นายอำเภอ, ผู้บังคับการตำรวจนครบาล, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รวมไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ ที่ห้องรอยัลจูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี
โดยงานดังกล่าวยังมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เข้าร่วม พร้อมให้การต้อนรับ ประกอบด้วย
ทันทีที่เดินทางมาถึง นายเศรษฐา ได้เยี่ยมชมบูธเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ขั้นตอน และการลงทะเบียน รวมถึงแนวทางในการปราบปรามของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยมี นาย อรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้บรรยาย จากนั้นรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
โดยนายเศรษฐา กล่าวขอขอบคุณทุกฝ่าย ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ สตช. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วันนี้ (8 ธ.ค.) ไม่ได้เชิญมากระชับอำนาจ แต่มาขอแรงจากทุกคนมาช่วยกันทำประโยชน์ให้ประชาชน มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่หมดไปจากประเทศไทยด้วยกัน
"พี่น้องเพื่อนร่วมชาติเราจำนวนมากมีความทุกข์ ถูกพรากอิสรภาพในการใช้ชีวิต เพราะมีหนี้สินจองจำพวกเขาอยู่ พวกท่านในฐานะข้าราชการฝ่ายปกครอง ที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เชื่อมั่นว่า พวกท่าน สามารถช่วยพี่น้องประชาชนให้มีอิสรภาพ ต่อชีวิต สร้างขวัญและกำลังใจให้ได้ ในฐานะนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องขอพึ่งพาความรู้ความสามารถของพวกท่าน ช่วยให้พี่น้องประชาชนของเราเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบนี้" นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐา กล่าวต่อ คงทราบกันดีว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกคนจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน แก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากการเรียกเก็บดอกเบี้ยที่สูงเกินอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคาม ขู่เข็ญ หรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม
อย่างไรก็ดี เรื่องดังกล่าว ตนได้แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา และ ครม. ก็ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ระหว่างไป ครม.สัญจร ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับ สตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการขับเคลื่อนและประสานงานร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนรับรู้ และทำความเข้าใจตรงกัน ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบนั้นเป็นวาระสำคัญของชาติจริง ๆ นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ของตน หรือของหน่วยงาน แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน
"สำหรับกระบวนการเกี่ยวกับการร้องเรียน ผมคงต้องขอพูดถึงการลงทะเบียน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการทั้งหมด ที่ประชาชนจะเข้ามาสัมผัสกับพวกท่าน มาเล่าให้ฟังถึงความเดือดร้อน วันนี้เราทำต่างจากที่เคยทำมาในอดีต ได้บูรณาการช่องทางให้หลากหลาย เพื่อให้พี่น้องประชาชน เลือกเข้าไปในช่องทางที่พวกเค้ารู้สึกสะดวก ปลอดภัย และตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. ถึงวันนี้ ได้มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน รวมยอดมูลหนี้นอกระบบกว่า 3,500 ล้านบาท" นายกฯ กล่าว
นอกจากนี้ สตช. ก็มีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 และประชาชนก็สามารถเข้าไปที่โรงพักใกล้บ้านเพื่อแจ้งเหตุได้ ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศ สามารถร้องเรียนปัญหาหนี้นอกระบบได้ โดยข้อมูลของประชาชนจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากทุกช่องทางเข้ามาด้วยกัน เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน ได้รับการดูแลไม่ให้ตกหล่น และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน ประชาชนที่ลงทะเบียนก็จะได้รับเลข Reference Number ในทุก ๆ กรณี เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้า หรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน หลังจากที่เรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบแล้ว ส่วนกลางจะวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดประเภทเรื่องร้องเรียน ก่อนส่งไปให้ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการ ถ้าพบว่ามีองค์ประกอบความผิดครบ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการ สามารถดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ทันที ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการละเว้น แต่เชื่อว่าในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยังพร้อมที่จะประนีประนอมกันได้ ขอให้มาไกล่เกลี่ยร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน เชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้
นายกฯ กล่าวต่อ การดำเนินการทั้งหมด รัฐบาลจะมีการติดตามผล โดยสำนักนายกฯ เพื่อดูว่าทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ สามารถดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ได้หรือไม่ หากยังพบปัญหาไม่สามารถทำตามสัญญาฉบับใหม่ได้ ก็จะเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้ เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้ง หรือถ้าในภายหลังพบว่ายังมีการข่มขู่ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ยฯ จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมด ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ ในการใช้สิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ แต่ย้ำว่า เป็นกระบวนการที่เจ้าหนี้ และลูกหนี้ ร่วมกันสมัครใจเข้ามา เพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งในชั้นไกล่เกลี่ย ให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ เข้าใจดีว่าในหลายครั้ง ลูกหนี้ตั้งใจที่จะฟื้นฟูศักยภาพ และต้องการช่องทาง แหล่งเงินอื่นๆ นอกเหนือจากเจ้าหนี้ที่กล่าวไป
นายกฯ กล่าวอีกว่า กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐ จะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามโครงการที่ได้จัดเตรียมไว้ ซึ่งขั้นตอนที่ตนกล่าวไปทั้งหมด มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของพี่น้องประชาชน ที่ตกเป็นทาสหนี้นอกระบบ ขอให้ทุกท่านศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการทำงานให้ถ่องแท้ รวมทั้งขอให้ทั้งเจ้าหน้าที่มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดของกันและกัน ให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน บูรณาการได้จากทุกฝ่าย ให้ใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่ถืออยู่ เพื่อทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และก็สามารถปฏิบัติราชการได้อย่างสบายใจ
"ขอให้ทุกท่าน ไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย ไม่หยุดช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเขา ไม่ยอมสมัครใจเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งผมขอมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ ที่มีพฤติการณ์กระทำผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนนานาชนิด ต้องแก้ปัญหาให้ได้ อย่าปล่อยผ่าน ทุกคนต้องนำความรู้ ด้านการทำสัญญาประนีประนอม ที่ต้องระบุรายละเอียดเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ชัดเจน กำหนดมูลหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ย การยกเลิกเพิกถอนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเงื่อนไขอื่นๆ ในการบังคับคดีหรือสิทธิในทางศาลได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ขอฝากให้ท่านใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างตรงไปตรงมาในการดำเนินงานนี้"
เรื่องถัดไปที่สำคัญ การทำงานเราจะต้องมีเป้าหมาย ขอประกาศเป้าหมายว่า หนี้นอกระบบจะต้องได้รับการจัดการโดยเด็ดขาด ทั้งฝ่ายปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ที่เหมาะสม และกรอบเวลาที่ชัดเจน ซึ่งตนขอหลักการกว้างๆให้ท่านดังนี้ จะต้องไม่ตั้งเป้าหมายที่ “ง่ายเกินไป” จนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ “ยากเกินไป” จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำ ทางสำนักงานตำรวจ ท่านควรจะต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ในการจับกุมให้เร็วที่สุด รวมถึงระยะเวลาการทำสำนวนการสอบสวน
ทางกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายปกครอง ก็ควรกำหนดสัดส่วนเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และเรื่องที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมได้สำเร็จ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน ทั้งในชั้นรับเรื่องร้องเรียน ถึงการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และชั้นการทำสัญญาประนีประนอม ไว้ให้ชัด และไม่นานจนเกินไป
โดยกรอบข้างต้นเป็นกรอบกว้างๆ ที่ผู้บริหารจะต้องช่วยกันนำไปย่อยเป็นเป้าเล็กๆ ให้เป็นความสำเร็จ เพื่อให้ปัญหาที่ระบบลดน้อยลงไป
สำหรับยอดลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จากการเปิดให้ลงทะเบียน 7 วัน ขณะนี้ มีจำนวน 75,199 คน แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 68,951 คน และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 6,248 คน รวมจำนวนเจ้าหนี้ 47,174 คน มีมูลหนี้รวมประมาณ 3,820 ล้านบาท
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมมอบนโยบายเรื่อง "วาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ" ว่า ถ้าตำรวจ และนายอำเภอร่วมมือกัน เราสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องเริ่มจากความเข้าใจถึงความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับ ซึ่งมีการเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นจำนวนมาก รวมถึงการทวงถามหนี้ที่เป็นลักษณะของการละเมิด ส่งผลต่อการใช้ชีวิต และความสงบเรียบร้อยของสังคม
ซึ่งปัจจัยแห่งความสำเร็จของภารกิจนี้ คือ การทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ส่วนกรณีที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ยินดีเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย ก็ต้องให้ความสำคัญ ในการช่วยให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาตกลงกัน ทำสัญญาร่วมกันให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นคนกลางที่ดี มีประสิทธิภาพ ลดปัญหาเดิม ไม่เพิ่มปัญหาใหม่ รวมทั้งต้องมีการกำหนดค่าตัวชี้วัด หรือ KPI ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้ลดลงโดยเร็วที่สุด
“ตอนนี้มีรายงานมาแล้วว่าแก๊งเงินกู้นอกระบบ ได้ไปทำร้ายร่างกายลูกหนี้ มีการบุกพังร้านผู้ที่ไปลงทะเบียนแก้ปัญหา เขาคงคิดว่า ทำแบบนี้จะเป็นการดับไฟแต่ต้นลม แต่อยากจะบอกว่า ยิ่งทำแบบนั้น มันก็ยิ่งทำให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่มั่นใจว่า เรื่องหนี้นอกระบบเป็นปัญหามาก และต้องเร่งแก้ไข แล้วต้องเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย เราไม่ได้มองว่าใครเป็นผู้ร้าย หรือเป็นพระเอก ลูกหนี้ที่ตั้งใจมาเบี้ยวหนี้ก็มี เจ้าหนี้ที่ข่มขู่คุกคามก็มี ก็ต้องให้กฎหมายจัดการ ต้องตั้งอยู่บนความเป็นธรรม” นายอนุทิน กล่าว
ที่พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงโครงการแก้หนี้นอกระบบของรัฐบาล ที่วันนี้(8 ธ.ค.) มีการประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานท้องถิ่นว่า เรื่องหนี้นอกระบบ ต้องยอมรับว่า มีคนจำนวนไม่น้อยเป็นผู้มีอิทธิพล แต่อย่าไปเหมารวมว่าผู้ปล่อยกู้จะเป็นผู้มีอิทธิพลเด็ดขาด
“พอเราพูดถึงเรื่องหนี้นอกระบบ มันจะมีทั้งการที่เราให้กู้กันเองระหว่างคนใกล้ชิด แต่ต้องไม่ปฏิเสธว่า มีกลุ่มเครือข่ายอิทธิพลและผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ที่ทำการปล่อยหนี้นอกระบบเป็นอาชีพ และมีการใช้กำลังและการทำร้ายร่างกายกับลูกหนี้อย่างไม่เป็นธรรมด้วย ผมคิดว่า เรื่องนี้ต้องเร่งแก้ไข เรื่องขึ้นทะเบียน และพูดคุยเพื่อหาทางออก หากพบว่ามีเจ้าหนี้นอกระบบทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ต้องเร่งการใช้กฎหมายในการปราบปราม” นายวิโรจน์ กล่าว
ส่วนโครงการของรัฐบาล หลายคนเป็นห่วงเรื่องการใช้กำลังทำร้ายลูกหนี้ที่ไปลงทะเบียน ควรจะมีการดำเนินการอย่างไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน โครงการนี้เป็นโครงการที่ตนคิดว่าถ้าทำอย่าง ตรงไปตรงมา จะเป็นโครงการที่ดีได้ แต่รัฐบาลต้องประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลงทะเบียน ไม่ใช่แค่ประชาสัมพันธ์ถึงช่องทางการลงทะเบียนอย่างเดียว
แต่จะต้องมีความแข็งขันและให้ความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจเองต้องให้ความเชื่อมั่นว่า จะดูแลคุ้มครองคนที่เป็นลูกหนี้ไม่ให้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม หรือถูกทำร้ายร่างกายจากเจ้าหนี้ด้วย
ตนคิดว่าจะต้องมีการแยกเจ้าหนี้ผู้มีอิทธิพลกับเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ปกติ หากไปเหมารวมกันว่าเจ้าหนี้ทุกคนเป็นผู้มีอิทธิพล สิ่งที่ตนกังวลก็คือ จะพาเจ้าหน้าที่ตำรวจไปจัดการกับประชาชนคนธรรมดา ที่เขาเป็นเพียงแค่เจ้าหนี้ แต่ขณะที่ผู้มีอิทธิพลตัวจริงลอยนวล แล้วตำรวจไม่กล้าแตะต้อง
ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยถึงการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวันที่ 7 ครบ 1 สัปดาห์ วานนี้(7 ธ.ค.) ว่า จากข้อมูลของสำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง เมื่อเวลา 15.30 น. พบว่ามีประชาชนลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งสิ้น จำนวน 75,199 ราย แบ่งเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 68,951 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 6,248 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 47,174 ราย มีมูลหนี้รวม 3,820.36 ล้านบาท โดยมีพื้นที่ จังหวัด 5 ลำดับแรก คือ
1. กรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียน 4,876 ราย เจ้าหนี้ 3,689 ราย มูลหนี้ 318.611 ล้านบาท
2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 3,142 ราย เจ้าหนี้ 2,281 ราย มูลหนี้ 159.402 ล้านบาท
3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,127 ราย เจ้าหนี้ 1,978 ราย มูลหนี้ 176.632 ล้านบาท
4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 2,965 ราย เจ้าหนี้ 1,617 ราย มูลหนี้ 191.803 ล้านบาท
5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 1,901 ราย เจ้าหนี้ 1,310 ราย มูลหนี้ 116.219 ล้านบาท
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่
1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 100 ราย เจ้าหนี้ 59 ราย มูลหนี้ 3.612 ล้านบาท
2. จังหว้ดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 152 ราย เจ้าหนี้ 96 ราย มูลหนี้ 9.023 ล้านบาท
3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 215 ราย เจ้าหนี้ 149 ราย มูลหนี้ 6.471 ล้านบาท
4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 229 ราย เจ้าหนี้ 107 ราย มูลหนี้ 6.176 ล้านบาท
5. จังหวัดพังงา มีผู้ลงทะเบียน 276 ราย เจ้าหนี้ 153 ราย มูลหนี้ 9.311 ล้านบาท