18 กันยายน 2566 เวลา 16.00 น."เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง มีกำหนดการเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมประชุม สมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) หรือ มีชื่อย่อ UNGA78 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18 - 24 กันยายน 2566
หากนับระยะเวลาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ และแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภาและประชุม ครม. เมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ผ่านมาถึงวันนี้ เป็นช่วงเวลาแค่หนึ่งสัปดาห์ "นายกฯเศรษฐา" ต้องออกไปโชว์วิสัยทัศน์บนเวทียูเอ็น ท่ามกลางสายตาผู้นำโลกกำลังจับตามองผู้นำคนใหม่ของไทย
ความท้าทายและสิ่งใหม่กำลังเกิดขึ้นกับ "เศรษฐา" ในฐานะนายกฯคนที่ 30 หลายประการด้วยกัน
ย้อนกลับไปในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 77 (UNGA77) ระหว่างวันที่ 17-25 กันยายน 2565 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ของปีที่แล้ว "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ถูกศาลรธน. สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ปมวินิจฉัย การดำรงตำแหน่งนายกฯเกินวาระ 8 ปีหรือไม่ ทำให้ อดีตนายกฯประยุทธ์ไม่ได้เข้าร่วมเวทีนี้ มอบหมายให้ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" รองนายกฯและรมว. ต่างประเทศ ทำหน้าที่แทน รวมถึง "พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงแบบบันทึกวีดิทัศน์ล่วงหน้าในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยการพลิกโฉมการศึกษา
ฉะนั้น การประชุมยูเอ็น ครั้งที่ 78 รอบนี้ จึงเป็นความใหม่และแตกต่างหากเทียบกับอดีตนายกฯของไทย ที่เคยร่วมเวทียูเอ็น โดย"นายกฯเศรษฐา" เดินทางไปเองโดยไม่ต้องใช้ผู้แทนระดับรองนายกฯ ที่สำคัญการเป็นนายกฯที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้ง แม้กระบวนการในรัฐสภาจะเป็นไปด้วยสับสนอลหม่านก็ตาม
ประเด็นถัดไป "นายกฯเศรษฐา" ต้องเผชิญแรงเสียดทาน การจับจ้องการวางตัว ในฐานะผู้นำประเทศ ที่ตนเองมาจากภาคธุรกิจเอกชน เมื่อเทียบกับยุค"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" อดีตนายกฯคนที่ 29 ซึ่งเคยเข้าร่วมประชุมเวทียูเอ็นคล้ายๆลักษณะนี้มาก่อน
ทุกครั้งของการเดินทางมาต่างประเทศ "อดีตนายกฯประยุทธ์" มีภาพของอดีตนายทหารระดับสูงติดตัว ขณะเดียวกันอดีตนายกฯประยุทธ์ มีปัญหาการสื่อสารกับผู้นำต่างประเทศ บ้างถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า บรรดาผู้นำโลกไม่ค่อยคบหา มีการยกเหตุว่าเป็นผู้นำที่สืบทอดจากอำนาจทหาร เป็นการเมืองที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยปกติ กล่าวกันตรงๆ หลีกหนีข้อครหาไม่พ้นว่า มาจากการรัฐประหาร
แต่สำหรับคราวนี้ เป็นคิวของ "นายกฯเศรษฐา" ที่ต้องสัมผัสเวทีโลก ในฐานะ นายกฯ ที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่กลไกในสภาเกี่ยวกับการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทย มีความผิดแปลกแหวกแนว
ประเด็นนี้ "สื่อมวลชนต่างชาติ"จะตั้งคำถามถึง ผู้นำไทยรายนี้ เพราะอย่างที่ทราบกันดี หลังการเลือกตั้ง "พรรคก้าวไกล" ประสบชัยชนะมาเป็นพรรคอันดับหนึ่งที่ได้รับสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่เนื่องจาก "ก้าวไกล"จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ
อีกทั้ง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ติดบ่วงศาลรัฐธรรมนูญ คดีถือหุ้นสื่อ ทำให้ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ขณะที่การประชุมรัฐสภาในการเลือกนายกฯครั้งแรก ปรากฏว่า "พิธา" ไม่ผ่านด่าน ทำให้กระบวนการเลือกนายกฯจัดตั้งรัฐบาล ต้องล้างกระดานกันใหม่
เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอันดับสอง อย่างพรรคเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล ด้วยการวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลเดิม และพรรคอื่นๆ แม้ว่า เพื่อไทยจะบอกว่านี่เป็นการสลายขั้วเพื่อชาติก็ตาม
ในที่สุดก็ต้องดันตัวเลือกใหม่ "เศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกฯของพรรคให้รัฐสภาโหวตหนุนได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ แม้แต่ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เสียงฝ่ายค้านก็ยังเหน็บแนมว่า "เศรษฐา " เป็น " นายกฯส้มหล่น "
การเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก ของผู้นำไทย มิอาจหลบเลี่ยงเสียงวิจารณ์กับคำว่า "นายกฯส้มหล่น" เชื่อว่า ฝ่ายเศรษฐา ต้อง เตรียม คำชี้แจงไว้แล้วเช่นกัน หากมีสื่อมวลชนต่างประเทศ สอบถาม รวมถึงชุมชนคนไทยในต่างแดนที่สนับสนุนฝ่ายด้อมส้ม
อย่าลืมว่า ก่อนหน้านี้ สื่อต่างประเทศให้ความสนใจติดตามการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา คาดหมายตามสไตล์ประเทศตะวันตก ว่า ยังไง"พิธา" จะได้เป็นนายกฯ และเป็นผู้นำของคนรุ่นใหม่ โดยที่ต่างชาติฮือฮาให้ความสนใจ
แต่เมื่อการเมืองไทยมีความวิปริตผิดเพี้ยน จะด้วยเป็นผลจากรัฐธรรมนูญ หรือ หรือข้อกล่าวหาจากพรรคการเมืองเป็นภาวะนิติสงคราม ล้วนเป็นเรื่องที่สื่อต่างประเทศต้องกลับตั้งข้อสังเกตกันอีกครั้ง ภายหลังจากประเทศไทยเพิ่งผ่านการรัฐประหาร และได้นายกฯ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ซึ่งต่างประเทศไม่ยอมรับสักเท่าไหร่ ถึงแม้ รัฐบาลคสช.จะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่การกลับมาของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ยังสร้างความอึมครึมในสายตาชาวโลก กระทั่งมาถึง หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ทั้งที่คาดการณ์ว่าการเมืองไทยตามระบอบประชาธิปไตยน่าจะราบรื่น ในที่สุดต่างชาติต้องอ้าปากค้างอีกรอบ "WHAT HAPPEN " เมื่อปรากฏชื่อ นายกฯ ของประเทศไทย ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน"
ข้อครหาที่มานายกรัฐมนตรี แม้จะแตกต่างจากรัฐบาลคสช.แต่เป็นประเด็นให้ต่างชาติชวนคิดต่อ พร้อมกับตั้งคำถาม เหตุใดการเมืองไทยมีความพิสดารพันลึก???
นอกจากนี้ ความท้าทายสำคัญ คือการได้ขึ้นเวทีโชว์วิสัยทัศน์ โดยเฉพาะเวทีนี้เป็นการแสดงให้เห็นถึง การตระหนักและร่วมมือในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม ประเด็นนี้อาจเป็นข้อได้เปรียบของอดีตซีอีโอภาคธุรกิจ ที่มีบทบาทต่อปัญหาสังคม เพียงแต่ ณ นาทีนี้ เศรษฐา คือผู้นำของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ผู้นำบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ดังนั้น การจะนำวิธีคิดภาคธุรกิจกับการเมืองผสมผสานแสดงจุดยืนในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะออกมาอย่างไร ล้วนเป็นประเด็นที่น่าสนใจยิ่ง
นี่จึงเป็นการบ้านที่"เศรษฐา" จะต้องใช้โอกาสสำคัญบนเวทีโลกครั้งนี้ ชี้แจงทำความเข้าใจต่อการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น สร้างความมั่นใจให้กับต่างประเทศ ในการเปิดประตูสู่การลงทุนระหว่างประเทศอย่างเป็นไปตามปกติ
………………………..
1 สัปดาห์ในต่างแดน “เศรษฐา”โชว์อะไร
ในการประชุมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 เป็นเวทีที่นายกฯเศรษฐา จะต้องขึ้นแถลง และมีการอภิปรายทั่วไป ในหัวข้อสำคัญหลายด้าน
ขณะเดียวกัน แม้ไทยจะไม่ได้เป็นชาติมหาอำนาจ แต่ชาติมหาอำนาจต่างต้องการเช็กท่าทีประเทศต่างๆ โดยเฉพาะไทย เป็นชาติสำคัญในกลุ่มอาเซียน ต่อสถานการณ์ "สงครามการสู้รบ รัสเซีย -ยูเครน" เป็นการเช็กไหวพริบปฏิภาณผู้นำไทยคนใหม่ จะแสดงบทบาทต่อทิศทางการเมืองโลก และสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ประเทศใกล้บ้านเรือนเคียงอย่างไร จะมีแนวนโยบายแตกต่างจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แค่ไหน
เป็นการบ้านสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ อย่าง "ปานปรีย์ พหิทานุกร" รมว.ต่างประเทศคนใหม่ต้องประสานการทำงาน"นายกฯเศรษฐา" อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ "ชัย ชัยวรงค์" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 กันยายนนี้ว่า "เศรษฐา ทวีสิน"นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ ออกเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (78th Session of the United Nations General Assembly: UNGA78) ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18 – 24 กันยายน 2566
โดย "นายกรัฐมนตรี" ได้ร่วมเดินทางพร้อมกับ "นายปานปรีย์ พหิทธานุกร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ "นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ" ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ "นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์" เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยนายกรัฐมนตรีมีกำหนดเดินทางถึง นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ช่วงเช้ามืดของวันที่ 19 กันยายน 2566 (เวลาที่สหรัฐอเมริกาช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง)
เมื่อ"นายกรัฐมนตรี" เดินทางถึง จะเริ่มภารกิจในวันที่ 19 กันยายน 2566 และในส่วนของภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการประชุม UNGA78 ได้แก่ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) และจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในข่วง Leaders’ dialogue 6 “Mobilizing finance and investments and the means of implementation for SDGs achievement” และในช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีจะร่วมงานเลี้ยงรับรอง เพื่อเป็นเกียรติแก่ประมุข/หัวหน้ารัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 และคู่สมรส
"นายกรัฐมนตรี จะได้พบหารือกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของต่างประเทศ และมีกำหนดพบหารือกับผู้บริหารสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) หอการค้าสหรัฐอเมริกา (US Chamber of Commerce: USCC) และภาคเอกชนสหรัฐฯ ซึ่งมีบริษัทเอกชนมาร่วมจำนวนมาก เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ยืนยันแนวทางด้านนโยบายของไทยที่สนับสนุนการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จนส่งผลให้ภาพรวมของวิถีชีวิตประชาชนดีขึ้น"
นอกจากนี้ เป็นโอกาสให้ได้พบหารือกับผู้นำต่างประเทศ ผู้นำองค์การระหว่างประเทศ บุคคลสำคัญ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งผ่านกรอบทวิภาคี และพหุภาคี
ประเด็นหนึ่งที่ "นายกฯเศรษฐา" ได้แถลงไว้ต่อที่ประชุมรัฐสภา กรณีเรือดำน้ำ ด้วยการระบุว่า ในการเดินทางไปประชุมยูเอ็น จะได้มีโอกาสพบกับผู้นำระดับสูงของเยอรมันเพื่อหารือการจัดซื้อเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ซึ่งมาถึงนาทีนี้ยังคงต้องติดตามถึงการพบผู้นำเยอรมันผลการหารือจะออกมาในทิศทางใด
ล่าสุด "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า ขณะนี้ ได้เตรียมการพร้อมแล้ว ซึ่งจะมีการนัดหารือกับผู้นำประเทศต่าง ๆ และผู้นำหลายประเทศ ได้ตอบรับคำเชิญการหารือแล้ว และบางประเทศยังอยู่ระหว่างการรอคำยืนยัน รวมไปถึงนายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ในการพิจารณาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำของกองทัพเรือ