svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทร."เปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์"เรือดำน้ำ"ได้หรือ องค์กรต้านคอร์รัปชัน กังขา

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) "ดร.มานะ นิมิตรมงคล" ตั้งคำถามกองทัพเรือ เปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์ "เรือดำน้ำ" ทำได้ด้วยหรือ

4 กันยายน 2566 "ดร. มานะ นิมิตรมงคล" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)  ตั้งข้อสังเกต กรณีที่กองทัพเรือ อนุมัติให้เปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์เรือดำน้ำ โดยได้โพสต์ข้อความ ผ่านเพจ Mana Nimitmongkol  ระบุว่า 

กองทัพเรือจะยอมรับเรือดำน้ำที่เปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์ ได้หรือไม่ !!!

ประเด็นมีดังนี้..

1. ตามกฎหมาย การเปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์เป็นการเปลี่ยนแปลงสาระ “สำคัญ” ของสินค้าไปจากเงื่อนไขการจัดซื้อ (ทีโออาร์) และ มติ ครม. ที่อนุมัติให้จัดซื้อ ดังนั้น

1.1 ตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ ทำไม่ได้แน่นอนเพราะเกิดความไม่เป็นธรรม ผิดหลักปฏิบัติของราชการที่ใช้กันมาช้านาน

1.2 แต่กรณีนี้เป็นข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดซื้อฯ มาตรา 7(2) เพราะเป็นการซื้อยุทธภัณฑ์ แบบรัฐต่อรัฐ จึงเหลือประเด็นเดียวว่า ครม. ชุดใหม่จะมีมติอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงตามที่กองทัพเรือเสนอหรือไม่

2. ขั้นตอนต่อไป กองทัพเรือต้องเสนอเรื่องต่อ รมว. กลาโหมพิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม. ต่อไป

2.1 การตัดสินใจยกเลิกสัญญาหรือยอมรับเครื่องยนต์สำหรับผิวน้ำตามที่เขาเสนอมา ผู้มีอำนาจต้องมีสติ โดยตระหนักว่า ชีวิตทหารบนเรือดำน้ำล้วนมีค่าต่อตัวเขาเอง ครอบครัว สังคมและความมั่นคงของชาติ การตัดสินใจจึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น รักษาหน้าหรือเอาใจใคร

แฟ้มภาพ  การฝึกผสม Blue Strike 2023 กองทัพเรือไทย-จีนไทย -จีน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66

2.2 ระหว่างนี้นอกจากศึกษาประเด็นกฎหมายให้รอบคอบแล้ว ฝ่ายไทยควรส่งทีมผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือ ไปตรวจสอบและประเมินระบบและความปลอดภัยหากเปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ ในกรณีนี้ควรมีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกที่สังคมยอมรับไปร่วมด้วย

2.3 หากสุดท้ายกองทัพเรือยอมตามผู้ขาย ต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบเงื่อนไขที่ยอมรับและประโยชน์หรือการชดเชยที่กองทัพจะได้รับมากขึ้นว่าคืออะไร

3. การจัดซื้อแบบจีทูจี ไม่ได้การันตีว่าปราศจากคอร์รัปชัน คนไทยเคยเห็นมามากแล้วว่าเกิดจีทูเจี๊ยะ ซื้อของแพง ซื้อแล้วไม่ได้ใช้ ใช้ไม่คุ้มค่า และซื้อแบบเต็มใจให้หลอก

\"ทร.\"เปลี่ยนสเปคเครื่องยนต์\"เรือดำน้ำ\"ได้หรือ องค์กรต้านคอร์รัปชัน กังขา

การจัดซื้อสีเทาๆ ที่อื้อฉาว เช่น การซื้อเรือเหาะ (420 ล้านบาท) เครื่องตรวจระเบิด จีที 200 และอัลฟ่า 6 (751 ล้านบาท) เฮลิคอปเตอร์ฝึกบิน (1.18 พันล้านบาท) รถถังยูเครน (3.89 พันล้านบาท) ฝูงเครื่องบินกริพเพน (3.9 หมื่นล้านบาท) เรือฟริเกต (3 หมื่นล้านบาท) ทริปฮาวายสุดหรูของอดีตรองนายกฯ การซื้ออาวุธจากบริษัทที่ควรจะติดแบล็คลิสต์ การถอนตัวจากข้อตกลงคุณธรรม 2 โครงการ ฯลฯ

สรุป..

ที่ผ่านมากองทัพมักถูกชี้ว่าเอาเปรียบหน่วยราชการอื่น เต็มไปด้วยอภิสิทธิ์ ไม่โปร่งใส ใช้วิธีนอกกติกาหลัก หวังว่าการใช้เงินภาษีจากประชาชนในโครงการมูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านบาทครั้งนี้ จะไม่กลายเป็นเรื่องขบขันน่าละอายระดับโลกหรือมีค่าโง่ตามมาให้คนไทยต้องเจ็บช้ำอีกครั้ง