"หัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร"
หมายเหตุ รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 106 ระบุ การกำหนดให้มีผู้นำฝ่ายค้าน
ปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่ง "ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร" หรือที่เรียกกันติดปากสั้นๆ ว่า "ผู้นำฝ่ายค้าน" นั้น สรุปว่าพรรคก้าวไกลต้องสละสิทธิ์ในการรับตำแหน่งนี้หรือไม่ หรือว่าพรรคก้าวไกล "ตกคุณสมบัติ" ไปแล้ว
เรื่องนี้ต้องย้อนไปพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 โดยพิจารณาแยกเป็นวรรคๆ แล้วจะมองเห็นประเด็นอย่างชัดเจน
วรรคแรก ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว (แสดงว่าตอนนี้ยังไม่ต้องหาผู้นำฝ่ายค้าน) พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
วรรค 2 ในกรณีที่พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง มีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก
วรรค 3 ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
และ วรรค 4 ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่ง “เมื่อขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง”...
จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้เงื่อนไขตามวรรค 1 เป็น "คุณสมบัติ "ของผู้นำฝ่ายค้าน นั่นก็คือ
-สส.ผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาที่มีจำนวน สส.มากที่สุด
-สส.ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (รวมนายกฯ) ประธานสภา หรือรองประธานสภาฯ
นี่คือคุณสมบัติ ฉะนั้น"พรรคก้าวไกล"ซึ่งมีสมาชิกดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 จึงถือว่าขาดคุณสมบัติ
อย่างไรก็ดี "พรรคก้าวไกล"ไม่จำเป็นต้องสละสิทธิ์ หรือแสดงเจตนาใดๆ เพราะสถานะตอนนี้คือ หัวหน้าพรรคไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้าน
แต่หากพรรคก้าวไกลต้องการให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็เพียงแค่ให้ "หมออ๋อง" ลาออกจากตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เท่านั้นก็จะทำให้กลับมามีคุณสมบัติ
แต่ปัญหาของพรรคก้าวไกลยังไม่จบ เพราะ"หัวหน้าพรรคก้าวไกล คือ "พิธา" ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.อยู่ จึงมีประเด็นต้องพิจารณากันต่อว่า "พิธา"สามารถทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านได้หรือไม่ หากไม่ได้ ก็ต้องประชุมพรรค เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และหัวหน้าพรรคคนนั้นต้องเป็น สส.ด้วย
กรณีของพรรคก้าวไกล หาก "หมออ๋อง" ไม่ลาออก ก็เท่ากับหัวหน้าพรรคไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้าน พรรคที่มีคุณสมบัติ ก็จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคที่มี สส.ในสภามากที่สุด และสส.ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภา หรือรองประธานสภา
แต่ปัญหาของประชาธิปัตย์ คือยังไม่มีหัวหน้าพรรคตัวจริง เพราะ"จุรินทร์" เป็นหัวหน้ารักษาการ เนื่องจากลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปแล้ว เพื่อรับผิดชอบกรณีพรรคแพ้เลือกตั้ง
ฉะนั้น หลังจากนี้เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ และพรรคประชาธิปัตย์มีหัวหน้าพรรคที่เป็น สส. ก็จะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านได้ กรณีที่"หมออ๋อง"ไม่ลาออก ทำให้พรรคก้าวไกลขาดคุณสมบัติ
แต่ปัญหาจะยังไม่จบ และยุ่งขึ้นไปอีก หาก"หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนใหม่ไม่ได้เป็น สส. เช่น "นราพัฒน์ แก้วทอง" แคนดิเดตที่ฝ่าย "เสี่ยต่อ เฉลิมชัย" เตรียมเสนอเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ปรากฏว่า"นราพัฒน์" ไม่ได้เป็น สส. หากขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ก็จะขาดคุณสมบัติเป็นผู้นำฝ่ายค้านเช่นกัน
ตำแหน่งนี้อาจไหลต่อไปถึง"พรรคไทยสร้างไทย" ซึ่งมี สส. 6 คน แต่ตอนนี้พรรคไทยสร้างไทย ดูจะยังไม่มีหัวหน้าพรรคเหมือนกัน หลังจาก "สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" ไขก๊อกลาออกไป ต้องรอดูว่าจะตั้งใครเป็นหัวหน้าพรรค ใช่ สส.หรือไม่
ถ้าไม่ตั้งอีก อาจไหลไปถึง"พรรคเป็นธรรม" ซึ่งเป็นพรรค 1 เสียง และมี "กัณวีร์ สืบแสง" เป็น สส.เพียงหนึ่งเดียวของพรรค แต่"กัณวีร์ " ก็ไม่ใช่หัวหน้าพรรคเป็นธรรมอีก เป็นเลขาธิการพรรค ฉะนั้นหากจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ก็ต้องไปปรับโครงสร้างพรรค ให้"กัณวีร์"เป็นหัวหน้าพรรคแทน "ปิติพงศ์ เต็มเจริญ" หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ที่ไม่ได้เป็น สส.
หากหัวหน้าพรรค 1 เสียงมีหลายพรรค และแย่งกันเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ต้องใช้วิธีจับสลาก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 วรรค 2
นี่คือ ความชุลมุนวุ่นวายอย่างไม่น่าเชื่อ ของตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในยุคการเมืองวิปริต "ไทยแลนด์โอนลี่"