svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เอกชน ร้องสหภาพการท่าเรือฯ เอาผิดปมจ้างเหมาเปลี่ยนสายเคเบิลใต้ดิน

บริษัทเอกชน ยื่นหนังสือร้องสหภาพการท่าเรือฯ ให้ตรวจสอบการยกเลิกประกาศผู้ชนะประกวดราคาจ้างเหมาเปลี่ยนสายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน พบเบื้องหลังเอื้อบริษัทรายอื่น ขณะที่ ผอ.การท่าเรือ ชี้แจง ไม่ขัดต่อระเบียบกรมบัญชีกลาง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา นายอนุชิต ท่าทราย กรรมการผู้จัดการ บริษัท โปรเทคชั่น สมาร์ท กริด จํากัด ได้ทำหนังสือถึง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคําสั่งยกเลิกประกาศผู้ชนะการเสนอราคางานจ้างเหมาเปลี่ยนสายเคเบิลไฟฟ้าแรงสูงใต้ดิน พร้อมอุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าย่อย 4 ไปยังสถานีไฟฟ้า 115 เควี (ทดแทน) 

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการประกาศยกเลิกผู้ชนะงานจ้างเหมาเปลี่ยนสายเคเบิล ไฟฟ้าแรงสูงใต้ดินพร้อมอุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้าจากสถานีไฟฟ้าย่อย 4 ไปยังสถานีไฟฟ้า115เควี (ทดแทน) ด้วยวิธีประกวดราคา อิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 นั้น ทําให้ บริษัทโปรเทคชั่น สมาร์ท กริด ซึ่งเป็นผู้ชนะในการประกวดราคาได้รับความเสียหาย 

ทำให้เกิดข้อสงสัยมากมายว่า การยกเลิกงานดังกล่าวนั้น เป็นไปด้วยความชอบธรรม หรือ ทําลงไปเพื่อให้ประโยชน์แก่บริษัทรายอื่น หรือ เพื่อพวกพ้องของตนได้มีโอกาสเข้ามาทําการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ โดยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการคัดเลือกผู้รับเหมาที่ได้มีการตกลงกันไว้ก่อนแล้ว โดยผ่านช่องทางการจัดซื้อจัดจ้างของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 

เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีช่องทางการจัดซื้อจัดจ้างที่พิเศษคือสามารถเรียกผู้รับเหมาเข้ามา 3 ราย เพื่อทําการประมูลราคา หรือ ตกลงการจ้างโดยไม่ต้องผ่านระบบ e-bidding ดังนั้ นจึงสามารถกําหนดผู้รับจ้างล่วงหน้าไว้ก่อนได้ 

ทั้งนี้ ทางบริษัทฯ ใคร่ขอความอนุเคราะห์ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทย ตรวจสอบจริยธรรม และการใช้ดุลยพินิจในการยกเลิกงานดังกล่าวว่ากระทําลงไปโดยบริสุทธิ์ หรือ มีเจตนารมณ์อื่นแอบแฝงหรือไม่ ทั้งนี้การกระทําลักษณะนี้กระทบกับหน่วยงานหลักของประเทศถึง 3 หน่วยงานคือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กรมบัญชีกลาง และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

นอกจากนี้ ในหนังสือร้องเรียน ยังได้ขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสงานจ้างบริการจัดหาตู้ตัดตอนไฟฟ้า (Switchgear) สถานีไฟฟ้าย่อยที่ 3 (ทดแทน) และ งานจ้างบริการจัดหาตู้ตัดตอนไฟฟ้า(Switchgear) สถานีไฟฟ้าย่อยที่ 5 (ทดแทน)

ซึ่งระบุว่า ตามที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการประกาศร่าง TOR เรื่องงานจัดซื้อพร้อมติดตั้งตู้ ตัดตอนไฟฟ้า (Switchgear) สถานีไฟฟ้าย่อยที่ 3 (ทดแทน) และ งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งตู้ตัดตอนไฟฟ้า (Switchgear) สถานี ไฟฟ้าย่อยที่ 5 (ทดแทน) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 มาแล้วนั้น 

ต่อมาได้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าวโดยอ้างถึงความจําเป็น ที่จะต้องเร่งดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่โดยเร่งด่วน ซึ่งภายหลังทางบริษัทฯ พบว่าโครงการดังกล่าวที่ถูกยกเลิกไปยังมิได้ดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างจนแล้วเสร็จแต่อย่างใด และยังตรวจพบว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่องาน และ TOR โดยตัดคุณสมบัติ ของผู้เสนอราคาตั้งแต่ข้อ 2.11-2.13 เดิมออกไปจาก TOR ใหม่

โดยทางบริษัทฯ ไม่ทราบถึงเหตุผลในการกระทําดังกล่าวว่า ทําเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นเสนอราคารายอื่นใดหรือไม่ ทั้งที่ตาม TOR ฉบับเดิมที่เคยประกาศร่างผ่านไปแล้วนั้น ไม่มีผู้วิจารณ์แต่อย่างใด ทางบริษัทฯ จึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการท่าเรือแห่งประเทศไทยช่วยดําเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างทั้งสองโครงการนี้ให้ดําเนินการไปด้วยความถูกต้องตามหลักจริยธรรมและธรรมาภิบาล

ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทำการชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องสั่งการให้มีการแก้ไขวิธีการจัดซื้อจัดจ้างตู้ตัดตอนไฟฟ้าสถานีย่อยที่ 3 และ 5 ซึ่งทำให้การท่าเรือเสียผลประโยชน์ และไม่เป็นไปตามกฎระเบียบพัสดุโดยมีเจตนาส่อไปในทางทุจริต ในข้อกล่าวหานี้ ตนชี้แจงได้ว่า การจัดจ้างการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แบบเฉพาะเจาะจงให้เข้ามาดำเนินงานนั้น ไม่ถือเป็นการขัดต่อระเบียบของกรมบัญชีกลาง อีกทั้งยังเป็นไปตามกฎกระทรวงปี 2563

ซึ่งยืนยันว่าการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงครั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบังที่อาจไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ประกอบการ และอาจเป็นผลกระทบหากมีไฟฟ้าไม่ทันต่อการใช้งาน จะสร้างความเสียหาย 72 ล้านบาทต่อวัน 

ดังนั้น เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สามารถดำเนินการจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจงได้ อีกทั้งการจ้างหน่วยงานภาครัฐยังเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เพราะในช่วงที่ผ่านมาเคยมีกรณีเปิดประมูลทั่วไป แต่กลับพบว่าการประมูลไม่เป็นผล และทำให้ต้องยกเลิกการประมูล เสียโอกาสต่อการจัดหาผู้ดำเนินงาน

ทั้งนี้ การจ้าง กฟภ.ตนมองว่าจะเป็นวิธีในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน แก้ไขปัญหาการผูกขาดของผู้ให้บริการไฟฟ้าในท่าเรือแหลมฉบัง แก้ปัญหากรณีการฮั้วประมูล อีกทั้งปัจจุบันกระบวนการคัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงนี้ ยังไม่เข้าสู่ขั้นตอนลงนามสัญญา อยู่ในขั้นตอนการเจรจาเพื่อปรับลดค่าจ้าง ซึ่งจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อ กทท. 

นอกจากนี้ ยังขอยืนยันด้วยว่า ข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่าเป็นการว่าจ้างในราคาสูงกว่าเอกชน 15-30% นั้น ยืนยันว่าราคาที่ กฟภ.เสนอมา ยังเป็นราคาที่อยู่ในกรอบงบประมาณกำหนด และยังไม่สูงกว่าราคาจ้างผู้ประกอบการในอดีต