31 กรกฎาคม 2566 นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุโกดังพลุระเบิด บ้านมูโนะ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส โดยระบุว่า ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกและจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย หากเรายังไม่มีการตรวจสอบแก้ไขอย่างจริงจัง
โดยในช่วงปี 2549 - 2559 จากการรายงานข่าว มีจำนวนสถานการณ์เกิดขึ้นประมาณเกือบ 80 ครั้ง หากนับจนถึงปัจจุบันคงมีเหตุการณ์เกือบ 100 ครั้งแน่นอน
"เหตุการณ์แหล่งผลิตหรือจัดเก็บพลุระเบิด ไม่ใช่ปัญหาที่นิ่งนอนใจเพิกเฉยได้ เพราะเป็นภัยอันตรายใกล้ตัวชุมชนอยู่เรื่อยมา ไม่ใช่ว่าเราไม่มีกฎหมายและระเบียบทางราชการนะครับ ในเรื่องนี้เรามีกฎหมายในหลายกระทรวงที่ครอบคลุม ทั้ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535, พ.ร.บ.อาวุธปืน, เครื่องกระสุนปืนฯ 2490, พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย, และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 นอกจากนี้ยังมีของกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงกลาโหม อีกต่างหากด้วย" นายกัณวีร์ กล่าวและกล่าวต่อ
นี่จึงเป็นที่มาของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติขึ้นมา สำหรับส่วนราชการระดับพื้นที่ ที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่กำกับควบคุมโรงผลิตและเก็บดอกไม้เพลิงได้ครบถ้วนทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวปฏิบัติที่ว่านี้เรียกว่า "ประกาศกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การควบคุมและการกำกับดูแลการผลิต การค้า การครอบครอง การขนส่งดอกไม้เพลิงและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง พ.ศ.2547"
คำถามคือ ทำไมถึงยังมีเหตุการณ์แบบไม่หยุดหย่อน ทั้งๆ ที่มีกฎหมายหลายฉบับที่ครอบคลุม รวมถึงแนวทางปฏิบัติแบบบูรณาการ?
"ผมขอสรุปปัญหาอย่างนี้ครับ ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมกำกับในทางปฏิบัติ ที่จำเป็นต้องมีการทบทวนแนวปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันที่ส่วนราชการระดับพื้นที่ และกระจายให้เห็นถึงกระบวนการในการกำกับควบคุม ตั้งแต่ต้นทางของการจะตั้งสถานประกอบการ ระบบป้องกันที่มีมาตรฐาน ระดับสากล ไปจนถึงแผนเตรียมความพร้อมรับมือและเยียวยาฟื้นฟู"
นายกัณวีร์ กล่าวต่อ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด การทบทวนแนวปฏิบัติตรงนี้เป็นขั้นตอนแรกที่จำเป็นต้องเดินคู่ขนาน ไปกับการเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ เพราะจะทำให้เราเห็นถึงช่องว่าง ที่อาจเป็นการทับซ้อนเหลื่อมกันของกฎหมายแต่ละฉบับของแต่ละส่วนราชการ หรืออาจเป็นช่องโหว่ของการดำเนินการ ที่ยังไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขั้นตอนแรกสุดของกระบวนการกำกับควบคุม คือ หลักเกณฑ์กำกับสถานที่ตั้งของสถานประกอบการ ที่จะต้องมีระยะห่าง และมั่นใจได้ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ห้อมล้อม ขั้นตอนนี้เองควรเป็นกติกาเดียวกับการพิจารณาจัดตั้งสถานประกอบการอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้ชุมชน มามีส่วนร่วมตัดสินใจการใช้ประโยชน์ที่ดินในชุมชนของพวกเขา จัดกระบวนการปรึกษาหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่าง ๆ เพื่อตกลงใจเรื่องประโยชน์และความเสี่ยงที่จะแบ่งปันร่วมกัน ในฐานะส่วนหนึ่งของชุมชน
นายกัณวีร์ กล่าวต่อ หากทำเช่นนี้แล้วเราสามารถหาทางนำไปสู่ 2 อย่าง คือ การกำหนดกติกากำกับโดยชุมชนในรูปของธรรมนูญชุมชน ที่จะต้องได้รับการรับรองสถานะในทางกฎหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นขั้นต่ำ และการทำประชาพิจารณ์ให้ชุมชนตัดสินใจร่วมกัน ก่อนการจัดตั้งสถานประกอบการดอกไม้เพลิง
ตามข้อเท็จจริง เราจะพบว่า บางชุมชนมีลักษณะเป็นชุมชนผลิตดอกไม้เพลิง คือ ประกอบอาชีพนี้กันเป็นจำนวนมาก เช่น บางตำบลในอำเภอพระนครศรีอยุธยา กระบวนการกำกับควบคุมก็ต้องไปเน้นน้ำหนักในอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือ การมีแผนลดและป้องกันความเสี่ยงที่เข้มแข็ง ที่จะต้องอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดและอำนวยการโดยกลไกของคณะกรรมการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของจังหวัด ที่อาจพิจารณาจัดตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมกำกับขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพราะถือเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงสูง มีผลกระทบรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
นายกัณวีร์ กล่าวย้ำว่า ข้อเสนอเหล่านี้เป็นเพียงสารตั้งต้น ที่จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องครุ่นคิดถกแถลงกัน เพื่อวางโครงสร้างของระบบควบคุมกำกับที่ดียิ่งขึ้นไปกว่าปัจจุบัน ซึ่งเราต้องถอดบทเรียนร่วมกันอย่างจริงจังเสียที ขอแสดงความเสียใจและเป็นกำลังใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกท่าน
โดยในวันพรุ่งนี้ (1 ส.ค.) จะลงพื้นที่ไปให้กำลังใจผู้ประสบภัย ซึ่งที่บ้านมูโนะ เคยเกิดเหตุน้ำท่วมรุนแรง เมื่อ 7 เดือนก่อน ในช่วงวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ซึ่งตนเองเคยลงพื้นที่ในครั้งนั้นด้วย