ภายหลังไม่สามารถฝ่าด่านหินรอบแรก ที่ต้องรวบรวมเสียงโหวตจาก สส. และ สว. ให้ได้รวมกันมากกว่า 376 เสียง ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ทำให้"นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา" ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา ต้องนัดวันประชุมรัฐสภาใหม่ เพื่อจัดโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นรอบที่สอง ในวันที่ 19 กรกฎาคม เวลา 09.30 น.
แม้เส้นทางการจะได้มาของผู้ดำรงตำแหน่ง"นายกรัฐมนตรีคนที่ 30" ของประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย แต่หากมองย้อนกลับไปนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีแล้ว 29 คน
แต่ละรายล้วนผ่านสมรภูมิทางการเมืองมาหลายรูปแบบ ทั้งการแต่งตั้ง การยึดอำนาจการปกครองมา รวมถึงผ่านการเลือกตั้งตามกระบวนการระบอบประชาธิปไตย บางรายถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ทางการเมือง จากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
มีใครบ้างที่ก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารประเทศ "ทีมข่าวเนชั่น ออนไลน์" ได้รวบรวมรายชื่อของทำเนียบนายกรัฐมนตรี คนที่ 1 – 29 ดังนี้
1. พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทย เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2475 – 20 มิถุนายน 2476
2. พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2476 – 16 ธันวาคม 2481
3. จอมพลป. พิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) เป็นผู้นำของไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุด 14 ปี 11 เดือน ( 8 สมัย ) เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2481 – 16 กันยายน 2500
4. พันตรี ควง อภัยวงศ์ เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2487 – 8 เมษายน 2491
5. "นายทวี บุณยเกตุ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2488 – 17 กันยายน2488 เป็นนายกฯที่บริหารราชการแผ่นดินสั้นที่สุดเพียง 17 วัน "นายทวี บุณยเกตุ" พ้นจากวงการเมืองโดยมีชีวิตอยู่มาจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 2514
6. "หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 17 ก.ย. 2488 – 6 ต.ค. 2519 สำหรับม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถือเป็นบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งนายกฯในขณะที่มีอายุ 40 ปี รองลงมาคือ 44 ปี คือ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" และ "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"
7. "นายปรีดี พนมยงค์" (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ถือเป็นอดีตนายกฯ ที่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงแวดวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ พูดถึงบ่อยครั้ง
โดย"นายปรีดี" เป็นทั้งนักกฎหมาย อาจารย์ นักกิจกรรม นักการเมือง และนักการทูตชาวไทยผู้ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างสูง เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และรัฐมนตรีหลายกระทรวง หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ทั้งนี้ นายปรีดี เริ่มดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ 24 มี.ค. 2489 – 23 ส.ค. 2489
8. "พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์" (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 23 ส.ค. 2489 – 8 พ.ย. 2490
9. "นายพจน์ สารสิน" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 21 ก.ย. 2500 – 1 ม.ค. 2501
10."จอมพล ถนอม กิตติขจร" เป็นอดีตนายทหารระดับสูงที่มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง เพราะเป็นผู้นำทหารในการยึดอำนาจจนเกิดเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลา 16 หรือเรียกกันว่า "วันมหาวิปโยค" เป็นเหตุการณ์การปราบปรามผู้ประท้วงบริเวณพระบรมมหาราชวังและถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรี"จอมพลถนอม กิตติขจร" จนมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคน บาดเจ็บกว่า 800 คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จอมพลถนอม เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2501 – 14 ต.ค. 2516
11. "จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 9 ก.พ. 2502 – 8 ธ.ค. 2506
12. "นายสัญญา ธรรมศักดิ์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 14 ต.ค. 2516 – 15 ก.พ. 2518
13. "พลตรีหม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 14 มี.ค. 2518 – 20 เม.ย. 2519
14. "นายธานินทร์ กรัยวิเชียร" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 8 ต.ค. 2519 – 20 ต.ค. 2520
15. "พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 11 พ.ย. 2520 – 3 มี.ค. 2523
16. "พลเอก เปรม ติณสูลานนท์" เป็นอีกบุคคลที่แวดวงการเมืองกล่าวขานมาถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง ด้วยแนวนโยบายการบริหารบ้านเมืองเป็นที่ยอมรับ มีลูกศิษย์ลูกหาทางการเมืองมากมายจนเป็นตำนานของการพูดถึง "การเข้าบ้านสี่เสาเทเวศน์"
"พล.อ.เปรม" เริ่มต้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ก่อนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 (ตั้งแต่ พ.ศ. 2523–2531) หลังจากนั้นเป็นประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวช่วงระยะหนึ่งใน พ.ศ. 2559 เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 3 มี.ค. 2523 – 4 ส.ค. 2531
17. "พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 4 ส.ค. 2531 – 23 ก.พ. 2534
18. นายอานันท์ ปันยารชุน เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 2 มี.ค. 2534 – 7 เม.ย. 2535
19. พลเอก สุจินดา คราประยูร เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 7 เม.ย. 2535 – 10 มิ.ย. 2535
20. "นายชวน หลีกภัย" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 23 ก.ย. 2535 – 17 พ.ย. 2543
21. "นายบรรหาร ศิลปอาชา" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 13 ก.ค. 2538 – 25 พ.ย. 2539
22. "พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 25 พ.ย. 2539 – 8 พ.ย. 2540
23. "นายทักษิณ ชินวัตร" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 9 ก.พ. 2544 – 19 ก.ย. 2549 เป็นนายกฯที่ยังมีบทบาทต่อการเมืองไทยในปัจจุบัน เพราะหลังการถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.ที่มีพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคมช.ยึดอำนาจ เขาถูกตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นจนต้องหลบหนีไปอยู่ต่างประเทศ
จนกระทั่งการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 "ทักษิณ"คาดหวังพรรคเพื่อไทยจะได้รับชัยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้กลับประเทศ แต่สถานการณ์พลิกผันเมื่อพรรคก้าวไกล ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง เปิดสิทธิให้เสนอชื่อนายกฯ
แต่อย่างไรก็ตาม กรณี"นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ไม่ผ่านการโหวตรอบสองจะเป็นโอกาสให้พรรคเพื่อไทย เสนอแคนดิเดตนายกฯและหากได้รับการสนับสนุนเป็นนายกฯสำเร็จ ย่อมส่งผลไปถึง"อดีตนายกฯทักษิณ" ตัดสินใจในการเดินทางกลับประเทศ
24. "พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2549 – 29 ม.ค. 2551 สำหรับพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบก
25. "นายสมัคร สุนทรเวช" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 29 ม.ค. 2551 – 9 ก.ย. 2551
26. "นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 18 ก.ย. 2551 – 2 ธ.ค. 2551 ในช่วงเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ มีเหตุการณ์สำคัญที่ต้องบันทึกไว้ว่าไม่สามารถเข้าทำเนียบฯมาบริหารราชการแผ่นดินได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) ปิดล้อมและเข้ายึดทำเนียบฯ เป็นเวลานานเกือบ 4 เดือน
27. "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 17 ธ.ค. 2551 – 5 ส.ค. 2554 เป็นบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ในช่วงคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช. ) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง จนมีการกระชับพื้นที่สลายการชุมนุม มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ
28. "นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ถือเป็นนายกฯหญิงคนแรกของประเทศไทย และเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขในตระกูลชินวัตร โดยเป็นน้องสาวของอดีตนายกฯทักษิณ ปัจจุบันหลบหนีคดีทุจริตอยู่ต่างแดนพร้อมกับพี่ชาย ที่รอวันเวลาจะได้มีโอกาสกลับประเทศไทยเมื่อไหร่ ทั้งนี้ "ยิ่งลักษณ์" เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 5 ส.ค. 2554 – 7 พ.ค. 2557 ก่อนถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจ
และ 29. "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อมีการประกาศเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา เริ่มดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 – 2566 สิริรวมดำรงตำแหน่งมาถึง 9 ปี ก่อนประกาศยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2566
หากพิจารณา เส้นทางสาขาอาชีพ ในจำนวนนี้ มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร มากถึง 12 คน ซึ่งเป็นนายกฯ ทหารที่มาจากการรัฐประหารจำนวน 8 คน หลายนายยังได้ดำรงตำแหน่งมากว่า 1 สมัย
ขณะที่กลุ่มอาชีพอื่นๆ ที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าราชการตำรวจ มีเพียงคนเดียว คือ "นายทักษิณ ชินวัตร" ซึ่งขณะนั้นมียศ พันตำรวจโท เข้ามานั่งเก้าอี้ 2 สมัย แต่ในท้ายที่สุดถูกทหารยึดอำนาจจากการถูกทำรัฐประหาร
นักกฎหมาย 8 คน คือ พระยามโนปกรณนิติธาดา , หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช , นายปรีดี พนมยงค์ ,นาย พจน์ สารสิน ,นายสัญญา ธรรมศักดิ์ , นายธานินทร์ กรัยวิเชียร , นายชวน หลีกภัย , นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
นักธุรกิจ 5 คน คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ,นายอานันท์ ปันยารชุน , นายบรรหาร ศิลปอาชา , นายทักษิณ ชินวัตร และ นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ข้าราชการ ข้าราชการการเมือง 4 คน คือ ควง อภัยวงศ์ , นายทวี บุณยเกตุ , นายสมัคร สุนทรเวช และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 นี้ คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด ว่าที่สุดแล้ว ความพยายามของ 8 พรรค ในการการเสนอชื่อ "นายพิธา" โหวตนายกฯ รอบ 2 จะสามารถฝ่าด่านที่ประชุมรัฐสภาได้หรือไม่ เนื่องจาก จะมีการอภิปรายทักท้วงขัดต่อข้อบังคับการประชุมสภาที่มีการเสนอญัตติเดิมได้หรือไม่ จนอาจต้องนำไปสู่การโหวต แต่หากผ่านด่านนี้ไปได้ก็ถึงขั้นตอนโหวตเห็นชอบและไม่เห็นชอบอีก
ถ้าไม่สามารถผ่านทั้งสองขั้นตอนนี้ ถึงคราวที่ "พรรคก้าวไกล" ยอมถอยให้ "เพื่อไทย" เสนอ แคนดิเดตนายกฯคนใหม่ และใครจะผ่านกระบวนการรัฐสภาได้เป็นนายกฯคนที่ 30