9 มิถุนายน 2566 มีรายงานว่า มีคำสั่งนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร ลงนามโดย นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง สั่งเพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนและใบสำคัญ แสดงการจดทะเบียนจัดตั้ง สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สำหรับ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ปรากฏชื่อ นายศรีสุวรรณ จรรยา ดำรงตำแหน่ง อุปนายก และเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และมักปรากฏข่าวเป็น บุคคลร้องเรียนในเรื่องต่าง ๆ ต่อหลายหน่วยงานต่อเนื่อง
สำหรับการเพิกถอนการจดทะเบียน "สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย" ของนายศรีสุวรรณ นั้น เกิดขึ้นหลังเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 65 ที่ นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความชื่อดัง ผู้รับมอบอำนาจจาก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภา ผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือร้องเรียน ให้อธิบดีกรมการปกครอง ในฐานะนายทะเบียนกรุงเทพ
เพื่อขอเพิกถอนชื่อ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่มี นายศรีสุวรรณ จรรยา ดำรงตำแหน่งเป็นอุปนายก และเลขาธิการสมาคม ออกจากทะเบียนสมาคมฯ ที่กระทรวงมหาดไทย โดยนำเอกสารทั้งหมด 8 แฟ้ม จำนวน 352 ข้อเรียนเรียน
ซึ่ง นายอนันต์ชัย การยื่นเพิกถอนดังกล่าว มาจากกรณีที่ นายศรีสุวรรณ มักจะยื่นร้องเรียนเรื่องต่าง ๆ แต่ไม่ได้พยานหลักฐานอย่างชัดเจน เพราะหากการร้องเรียนไม่เป็นความจริง จะทำให้ชื่อเสียงเกียรติยศวงค์ตระกูลบุคคล ที่ถูกร้องเรียน ต้องย่อยยับพินาศสิ้น ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาให้กลับคืนได้ เพราะข่าวที่เสนอไปแล้ว ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงทรัพย์สินเงินทองด้วย
ขณะที่ "นายศรีสุวรรณ" ได้โต้แย้ง โดยอ้าง รธน. 2560 ม.41(2) (3) ม.42 ม.51 ม.78 ประกอบ ม.5 วรรคแรก บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
(2) เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว
(3) ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทําหรือการละเว้นการกระทําของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ
มาตรา 42 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กร ชุมชน หรือหมู่คณะอื่น
การจํากัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทํามิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด
มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้น เป็นการทําเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตาม และเร่งรัดให้รัฐดําเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชน หรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา 78 รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชน….. มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ด้านต่าง ๆ …. และการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใด บรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน
มาตรา 5 รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการ กระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้พยายามติดต่อไปหานายศรีสุวรรณแล้ว แต่ปลายทางไม่มีผู้ใดรับโทรศัพท์ก่อนจะตัดสายให้ฝากข้อความ