svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"นีโอ-คอนเซอร์เวทีฟ" หมุดหมายใหม่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม?

ชัยชนะของพรรคก้าวไกล บนสมรภูมิเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 ทำให้ทุกพรรคการเมืองที่เหลือต้องขยับปรับตัว เพื่อเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยระยะเวลานานที่สุดคือ 4 ปีข้างหน้า ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ได้นานอะไร หากพิจารณาจากภารกิจต้องสร้างฐานการเมืองใหม่เพื่อสู้กับก้าวไกล

พรรคที่ขยับตัวเร็วที่สุด หนีไม่พ้นเพื่อไทย โดยเฉพาะข่าวความเคลื่อนไหวจาก “คนแดนไกล” ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลง และใจร้อนที่จะสรุปบทเรียนความพ่ายแพ้ เพื่อพลิกกลับมาเป็นฝ่ายชนะให้ได้

ข่าวว่ามีการสั่งการให้ “ถ่ายเลือด” เปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” เข้าไปมีบทบาทในการบริหารพรรคอย่างจริงจัง ส่วน “คนรุ่นใหญ่” ควรขยับขึ้นไปเป็น “พี่เลี้ยง”

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ ช่วงหลังเลือกตั้งไม่กี่วันยังดูนิ่งๆ แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านมา 1-2 สัปดาห์ ก็เริ่มขยับปรับเปลี่ยน โดยแต่ละพรรคมองเป้าหมายและวิธีการคล้ายๆ กัน

ทักษิณ ออกมาสรุปบทเรียนหลังเลือกตั้งว่า ควรเปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” ส่วน “คนรุ่นใหญ่” ควรขยับขึ้นไปเป็น “พี่เลี้ยง”

     1.เปิดทางให้ “คนรุ่นใหม่” มีบทบาทมากขึ้น

     2.ใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร และโซเชียลมีเดียในการสื่อสาร หาเสียง กำหนดนโยบาย และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม

     3.วาง Position หรือ “ตำแหน่งแห่งที่” ของพรรคตนเองใหม่ เพื่อต่อสู้กับพรรคก้าวไกล

ทุกพรรคประเมินตรงกันว่า การสร้างพรรคให้เป็น “เสรีนิยมสุดโต่ง” เหมือนพรรคก้าวไกล น่าจะสู้พรรคส้มไม่ได้ เพราะได้วางรากฐานไว้แข็งแกร่งทุกด้านแล้ว มีมวลชน “ด้อมส้ม” คอยสนับสนุนอย่างแข็งแรง การเข้าไปแข่ง หรือไปช่วงชิง ไม่ใช่เรื่องง่าย

ยกตัวอย่าง “ทีมก้าวไกล” เข้าไปยึดพื้นที่การเมืองส่วนใหญ่ในทวิตเตอร์ พรรคคู่แข่งซึ่งเป็นพรรคใหญ่ มีทรัพยากรพร้อม อยากจะเบียดแทรกเข้าไปมีบทบาทบ้าง ปรากฏว่า “ผู้รับผิดชอบด้านไอที - โซเชียลฯ” ของพรรค ยอมรับกับ “ข่าวข้นคนข่าว” ตรงๆ เลยว่าไม่มีที่ว่างสอดเข้าไปได้เลย โดนถล่มไม่ยั้ง

นี่คือความยากของการต่อกรกับก้าวไกล และเหล่า “ด้อมส้ม”

ฉะนั้น “​Position” ใหม่ของพรรคการเมืองที่หลายพรรค คิดตรงกันก็คือ

     หนึ่ง ทับไลน์ หรือต่อสู้ในเส้นทางเดียวกับพรรคก้าวไกลไม่ได้ มีแต่จะแพ้กับแพ้

     สอง เดินสายอนุรักษ์นิยมสุดโต่งต่อไปไม่เวิร์กแน่ เพราะมวลชนกลุ่มนี้มีแต่จะลดลงตามวัยที่เพิ่มขึ้น คนรุ่นเก่าจะเหลือน้อยลงเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่เติบโตขึ้นมาแทน

พรรคการเมืองที่ตกผลึกก่อนเป็นพรรคแรก จากการพูดคุยเป็นการภายใน คือ “พรรคเพื่อไทย” คือจะเดินสายประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม แต่จะเน้นจุดยืนการรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อความปรองดองในบ้านเมือง และไม่เปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันทันที แต่นโยบายจะมีความแหลมคมทางด้านเศรษฐกิจ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการรักษาฐานเดิมของสังคมไทย

\"นีโอ-คอนเซอร์เวทีฟ\" หมุดหมายใหม่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม?

พรรคการเมืองพรรคต่อมาที่คุยกันเบื้องต้นแล้ว คือ พรรคไทยสร้างไทย แกนนำพรรคมองไปที่ “คะแนนอนุรักษ์นิยม” ราวๆ 7 ล้านคะแนน (จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และพลังประชารัฐ) ซึ่งถือว่าไม่น้อย และเป็นฐานตั้งต้นของการสร้างความนิยมได้ แต่ต้องปรับทิศทางให้เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หรือ liberal มากขึ้น แนวทางดูแล้วไม่ค่อยต่างกับพรรคเพื่อไทย

อีกแนวคิดหนึ่งคือ ยืนยันตัวเองเป็น “อนุรักษ์นิยม” หรือ conservative เหมือนพรรคการเมืองในยุโรป เพราะการเมืองทุกประเทศจะมีวงจร หรือ “คาบเวลา” ของแต่ละยุค แต่ละช่วงนโยบาย  บางช่วงนโยบายแนว “เสรีนิยม” ได้รับความนิยม แต่ไม่นานก็จะก่อผลเสีย จากนั้นสังคมก็จะโหยหายแนวทาง “อนุรักษ์นิยม” และเปิดทางให้พรรคการเมืองแนวทางนี้ เข้ามามีอำนาจแทน

เพียงแต่ “อนุรักษ์นิยม” ที่ว่านี้ ต้องเป็น “อนุรักษ์นิยม” ที่ทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยี นวัตกรรม และเศรษฐกิจสมัยใหม่ เรียกรวมๆ ว่า neo-conservative (อนุรักษ์นิยมใหม่)

\"นีโอ-คอนเซอร์เวทีฟ\" หมุดหมายใหม่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม?

แนวทางนี้มีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์หลายคน เสนอให้เป็นแนวทางใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต้องกล้าถ่ายเลือดให้คนรุ่นใหม่แสดงบทบาท เช่น “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค เป็นต้น

ขณะที่พรรคสายอนุรักษ์นิยมอื่นๆ เช่น พลังประชารัฐ ก็มีการขยับปรับตัวในแนวทางคล้ายๆ กัน

แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคพลังประชารัฐ เผยว่า พรรคเตรียมจะปรับโครงสร้างภายในใหม่อีกครั้ง โดยจะเน้นให้ “คนรุ่นใหม่” เข้าไปบริหารอย่างแท้จริง เช่น “เดอะจั้ม” สกลธี ภัททิยกุล หัวหน้าทีม กทม. และอดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

โดยสาเหตุที่ต้องปรับ เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถือเป็นตัวสะท้อนชัดเจน ว่าระบบ “บ้านใหญ่” ไม่สามารถการันตีชัยชนะได้อีกต่อไป ยกตัวอย่าง “สมุทรปราการ” แม้มี “บ้านใหญ่” แต่ไม่สามารถชนะได้เลยแม้แต่เขตเดียว ฉะนั้นต้องปรับยุทธวิธีของพรรค เน้นสร้างกระแสผ่านสื่อใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้สำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป

แหล่งข่าวยังเผยด้วยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะไม่ทิ้งพรรค แต่จะปรับบทบาทไปเป็น “ผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง” ซึ่งคาดว่าจะสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากแกนนำพรรคบางส่วน ที่เคยมีบทบาทสูงในการบริหารงานภายใน สอบตก ไม่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา (กลุ่ม วิรัช รัตนเศรษฐ)

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ ข่าววงในแจ้งว่า ยังไม่มีการพูดคุยเพื่อปรับทิศทางการทำงานอย่างจริงจัง เพราะแกนนำแต่ละคนลุ้นอนาคตของ “บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะวางมือทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งหากวางมือ รวมไทยสร้างชาติน่าจะแพแตก เนื่องจากกลุ่มต่างๆ ภายในพรรค โดยเฉพาะ ส.ส.เขต ไม่ยอมรับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรค อาจเกิดปรากฏการณ์กดดันให้ขับออกจากพรรค เพื่อย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แหล่งข่าวจากรวมไทยสร้างชาติ เผยว่า สถานการณ์ภายในขณะนี้ถือว่าระส่ำ แกนนำหลายคนอยากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงาน โดยเฉพาะการทำพื้นที่ กทม. แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดึงใครเข้ามา เพราะอนาคตของ พลเอกประยุทธ์ ยังไม่มีความชัดเจน แต่น่าเชื่อว่าคงอยากวางมือ

\"นีโอ-คอนเซอร์เวทีฟ\" หมุดหมายใหม่ฝ่ายอนุรักษ์นิยม?