22 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง"นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดแถลง การจัดทำ"MOU จัดตั้งรัฐบาล" ร่วมกับ 7 พรรค เสร็จสิ้นลง ปรากฎว่า "นายปิยบุตร แสงกนกกุล" อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบพรรค ได้โพสต์ข้อความแสดงความเห็น โดยไม่เห็นด้วยในสองประเด็นที่มีการปรับแก้ไขใน"MOU"
มีเนื้อหาดังนี้
[สองประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับ "MOU" การร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล]
ผมขอแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกลที่สามารถเจรจาการจัดตั้งรัฐบาลคืบหน้าไปอีกขั้นตอน และสนับสนุน เอาใจช่วยให้ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จภายใต้การนำของ"พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"
ผมได้อ่าน "MOU" การร่วมรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลแล้ว ผมไม่เห็นด้วยในสองประเด็น ซึ่งแตกต่างไปจากเนื้อหาที่ปรากฏในร่าง "MOU" สุดท้ายที่หลุดออกมาทางสื่อ
ประเด็นแรก
การเพิ่มข้อความที่ว่า “ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
เหตุผล
การบัญญัติข้อความนี้ซ้ำลงไป ไม่ส่งผลใดๆในทางกฎหมายและในทางการเมือง เพราะอย่างไรเสีย รัฐบาลใดที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐและระบอบการปกครองได้อยู่แล้ว พวกที่ทำแบบนี้ได้ คือ พวกก่อการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญเท่านั้น
ตรงกันข้าม การเขียนลงไปแบบนี้ คือ การแสดงออกแบบ "กินปูนร้อนท้อง" หรือ "วัวสันหลังหวะ" เสียมากกว่า
นอกจากนั้น การเพิ่มถ้อยคำที่ว่า "สถานะอันเป็นที่สักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ขององค์พระมหากษัตริย์" ก็อาจเป็น "บ่วงรัดคอ" ที่ทำให้พรรคก้าวไกลต้องประสบปัญหาในการเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ในอนาคต
ข้อความเหล่านี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้วว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และรูปแบบของรัฐได้
ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปี ผมแสดงความเห็นทางวิชาการไว้หลายครั้งเกี่ยวกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแบบมาตรา 6 ที่ว่า "องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้"
โดยเฉพาะประเด็นประวัติศาสตร์ความเป็นมาของบทบัญญัตินี้ การเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญต่างประเทศ แนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญไทยที่ตีความกว้างขวางออกไปเกินความเป็นจริงจากเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินี้ และเห็นว่าควรปรับแก้บทบัญญัตินี้เสียใหม่ ให้สอดคล้องกับหลัก "พระมหากษัตริย์ไม่ทรงกระทำผิด เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจทางการเมือง การบริหาร โดยแท้ แต่เป็นรัฐมนตรีผู้มีอำนาจและต้องรับผิด" แต่นั่นเป็นความเห็นส่วนตัวของผม ส่วนพรรคก้าวไกลจะคิดอ่านแก้ไขเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องของพวกเขา (ซึ่งผมคิดว่าพวกเขาคงไม่แตะ)
ผมเห็นว่า การเพิ่มถ้อยคำนี้ลงไปใน "MOU" อาจจะไป "รัดคอ" พรรคก้าวไกลในภายหลังได้ เมื่อพรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (ตามที่เคยเสนอไป และตามที่เคยแถลงเป็นนโยบาย) ก็อาจจะถูก ส.ส. ส.ว. และศาลรัฐธรรมนูญ นำมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญมาผสมผสานกับข้อความใน "MOU" ดังกล่าว มาขยายความตีความแบบพิสดาร เพื่อมัดไม่ให้พรรคก้าวไกลได้ใช้กลไกสภาแก้ไข"มาตรา 112" ได้
ต้องไม่ลืมว่า ในส่วนแนวทางปฏิบัติ ข้อที่ 5 ใน "MOU" นี้ เปิดทางให้ ส.ส.ของแต่ละพรรคทำเรื่องอื่นๆได้ผ่านการตรากฎหมายในสภา แต่ "ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงนี้"
ประเด็นที่สอง
การตัดเรื่องการผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการ แสดงออกทางการเมือง ผ่านกลไกรัฐสภา ออกไป
เหตุผล
"พรรคก้าวไกล"มีพันธกิจสำคัญที่รับมาจากความคาดหวังของประชาชน เยาวชน จำนวนมาก ในการยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่พัวพันกันมาตั้งแต่รัฐประหารปี 49 ผ่านเหตุการณ์ปี 53 ผ่านรัฐประหาร 57 และการชุมนุมของ "ราษฎร" ในปี 63-65
การจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ ต้องใช้กลไกการนิรโทษกรรม ให้กับบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองเสียก่อน
กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน พวกเขาเพียงแต่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน เห็นไม่ตรงกันเท่านั้น
แน่นอน การทำเรื่องเหล่านี้ได้สำเร็จ สุดท้ายต้องไปจบที่สภา เพราะ ต้องตราเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม แต่มันจะผ่านได้ ก็ต้องมีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุน ดังนั้น ถ้าทุกพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล 313 เสียง เห็นตรงกันตั้งแต่วันนี้ ก็เป็น "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" ให้ประชาชนคนธรรมดาทุกกลุ่ม ทุกฝักฝ่าย ที่ออกมาชุมนุมทางการเมือง แสดงออกทางการเมือง
เวลาต่อมา ภายหลัง "นายปิยบุตร"โพสต์ข้อความแรก ห่างกัน 30 นาที นายปิยบุตร ได้โพสต์ข้อความตอกย้ำการแก้ไข "MOU" อีกครั้ง
มีเนื้อหาดังนี้ น่าเสียดายที่ตัดข้อความเรื่องการนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองออกไป
และในอนาคต ข้อความ "ต้องไม่กระทบต่อ… การดำรงอยู่ของสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์" จะกลายมาเป็นอุปสรรคมิให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา "มาตรา 112"
ไม่แน่ ต่อไป ข้อความนี้ อาจถูกแปลงสารแปลความให้หมายถึง ห้ามเสนอแก้ไข"มาตรา 112" ในแบบร่างที่พรรคก้าวไกลเคยเสนอ มิพักต้องพูดถึงร่างที่ประชาชนเข้าชื่อกันและรอเสนอต่อสภาด้วย
ย้ำตรงนี้อีกครั้ง เผื่อใครมาอ่านแล้วไม่เข้าใจ
ผมไม่ได้บอกว่าต้องใส่เรื่องแก้ 112 ลงไปใน MOU
ผมไม่ได้บอกว่าไม่ต้องประนีประนอม
ผมเห็นว่า "MOU" แบบร่างสุดท้ายที่หลุดออกมาทางสื่อนั้น พอไปได้แล้ว เหมาะสมแล้ว ประนีประนอมแล้ว