เป็นอีกอีเวนต์หนึ่งที่กำลังถูกจับตา กับการยื่นยุบ “พรรคภูมิใจไทย” ซึ่งก่อนหน้านี้ หลายพรรคการเมืองก็ถูกยุบมาแล้ว ทั้งในช่วงก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง แต่ในกรณีของ “พรรคภูมิใจไทย” รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้วิเคราะห์เจาะลึก ดังต่อไปนี้
เกมยื่นยุบ “พรรคภูมิใจไทย”
"รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล" แสดงความคิดเห็นว่า กรณียื่นยุบ “พรรคภูมิใจไทย” เป็นเกมการรักษาอำนาจ ที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างทางการเมืองของสังคมไทย
การที่ “คุณชูวิทย์” ยื่นยุบ “พรรคภูมิใจไทย” โดยหลักการแล้วมันก็เป็นสิทธิของ “คุณชูวิทย์” ในฐานะประชาชน เมื่อมีหลักฐานว่า พรรคดังกล่าวทำผิดกฎหมาย เขาก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคได้
แต่เราจะตีความว่า “คุณชูวิทย์” เป็นประชาชนเดินถนนทั่วไป มันก็ไม่ใช่ เพราะว่าคนทั่วไปก็ไม่ได้มีคอนเนคชั่น ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่ได้มีเอกสารข้อมูลต่างๆ มากมายเหมือนอย่าง “คุณชูวิทย์” เพราะฉะนั้นปฏิบัติการของ “คุณชูวิทย์” จึงถูกจับตามองจากสังคมว่า “จะนำไปสู่อะไร ?”
และหากถามว่า “ทำไปเพื่ออะไร ?” ผมเคยอธิบายแล้วว่า สิ่งที่ทำก็เพื่อดับซ่า “พรรคภูมิใจไทย” เพราะการทำงานของ “ระบอบประยุทธ์” ไม่ได้มีแค่ที่สิ่งเรามองเห็น แต่ยังมีกลไกที่ซึมลึกไปถึง “ดีเอ็นเอ” ของปีกอนุรักษ์นิยมของสังคมไทย
และเราอย่าไปประมาทคนที่เคยอยู่ในตำแหน่ง “หัวหน้าคณะ คสช.” และเป็นผู้นำรัฐบาลมา 8-9 ปี ซึ่งระหว่างที่เขาอยู่ในตำแหน่ง มันก็มีปฏิบัติการการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ หรือการจัดฟังก์ชั่นกลุ่มพลังต่างๆ ในสังคม
ซึ่งต้องยอมรับว่า “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ไม่มีโอกาสหรอกครับที่จะได้ ส.ส. เท่า “พรรคภูมิใจไทย” แต่เป้าหมายของการไปต่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” เขาไม่ได้อยากเป็นฝ่ายค้าน “พล.อ.ประยุทธ์” ลงเล่นการเมืองในรอบนี้ด้วยความมั่นใจว่า เขายังเป็นผู้กำหนดเกม และเขาคือผู้ชนะ
ดังนั้นแล้วอะไรก็ตามที่เป็นภัยคุกคาม เป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้ไม่บรรลุเป้าหมาย มันก็ต้องมีกระบวนการเข้าไปจัดการ ซึ่งก็มีหลากหลายกลยุทธ์ ตั้งแต่กระบวนการที่ตรงไปตรงมา อย่างการทำให้พรรคได้รับความนิยม
แต่อีกกระบวนการหนึ่งก็คือ การลดทอนกำลังของอีกฝ่ายให้อ่อนลง เราลองนึกดูนะครับว่า คนที่จะไปเลือกตั้ง ถ้าเขารู้สึกว่า พรรคการเมืองพรรคนั้นมีแต่คนชั่วรวมตัวกัน ก็จะส่งผลกระทบกับคะแนนเสียง และหากได้เข้าร่วมรัฐบาล สังคมก็จะหวาดระแวง กระทรวงที่พรรคนั้นอยากได้ ก็อาจจะไม่ได้ เพราะอำนาจต่อรองลดลง แล้วยิ่งถ้าไม่อยากเป็นฝ่ายค้าน อำนาจต่อรองก็จะลดลงไปอีก
บทความที่น่าสนใจ
เกมยื่นยุบพรรค กดดันเพื่อควบคุม
รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล วิเคราะห์ถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในเกมยื่นยุบ “พรรคภูมิใจไทย” ดังต่อไปนี้
การยุบพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง โดยส่วนตัวบอกก่อนว่า ผมไม่สนับสนุนวิธีการแบบนี้ เพราะสิ่งที่ผมยืนยันมาตลอดชีวิตก็คือ พรรคการเมืองจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับศรัทธาของประชาชน ถ้าประชาชน ไม่ให้การยอมรับ พรรคนั้นก็อยู่ไม่ได้ ผมจึงไม่เห็นด้วยกับกลไกการยุบพรรคใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ในวันนี้ที่กฎหมายมีกระบวนการนำไปสู่การยุบพรรค ถ้าเอาตามหลักพื้นฐาน “พรรคที่ถูกกล่าวหา” ก็มีโอกาสที่จะชี้แจง ซึ่งกระบวนการมันก็จะเป็นไปตามกลไกที่ “กกต.” กับ “ศาลรัฐธรรมนูญ” กำหนดไว้น่ะแหละ
แต่เราอย่าลืมนะครับว่า อำนาจการยุบพรรคที่เด็ดขาด มันไม่ได้อยู่ที่ “กกต.”แต่ “กกต.” มีหน้าที่ตั้งกรรมการสอบสวน ถ้าเห็นว่ามีความผิด ครบองค์ประกอบที่จะยุบพรรค ก็ต้องเสนอไปที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คล้ายๆ กับกรณี “พรรคอนาคตใหม่” แต่ถ้าถามว่ามันจะเร็วขึ้นหรือไม่ (จากกรณีกฎหมายยุบพรรคการเมือง ติดเทอร์โบ) ผมคิดว่า มันไม่เร็วขึ้นไปกว่าที่ผ่านมาหรอก เพราะ กกต. ก็มีกรอบการทำงานอยู่
แต่หากสมมติว่า “ระบบประยุทธ์” มีกลไกในการทำงานที่นำไปสู่การยุบพรรคได้จริง คำถามที่ตามมาก็คือ แล้ว “พล.อ.ประยุทธ์” จะยุบ “พรรคภูมิใจไทย” ไปทำไม ? เพราะเขาก็ต้องการไปต่อในทางการเมือง ซึ่งการมี “พรรคภูมิใจไทย” อยู่เป็นลูกน้อง ย่อมดีกว่าไม่มี
ที่สำคัญถ้ายุบ “พรรคภูมิใจไทย” สมาชิกพรรคจะไปอยู่ที่ไหนล่ะครับ เขาอาจไหลเข้า “เพื่อไทย” หรือพรรคอื่นๆ ซึ่งตรงนี้มันเป็นปรากฏการณ์ที่นอกเหนือการควบคุมของ “ระบอบประยุทธ์”
แต่ถ้าทำให้ “พรรคภูมิใจไทย” ยังอยู่ แต่อยู่ในเงื่อนไขที่ “ระบอบประยุทธ์” สามารถคอนโทรลได้ อยู่ในเงื่อนไขที่ “ไม่มีปากมีเสียง” อยู่ในเงื่อนไขที่ “ว่านอนสอนง่าย” แบบนี้มันจะไม่เป็นประโยชน์มากกว่าหรือ เพราะฉะนั้นผมถึงมองการยื่นยุบพรรคว่า เป็นเกมกดดัน “ภูมิใจไทย”
ยื่นยุบพรรค ปฏิบัติการดับซ่า “ภูมิใจไทย”
เมื่อวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียทางการเมืองแล้ว รศ.ดร.ธนพร ก็ได้ระบุว่า การยื่นยุบ “พรรคภูมิใจไทย” เป็นกลยุทธ์ในการปราม ยังไม่ใช่การปราบ เพราะไม่เห็นเหตุผลว่า ยุบ “พรรคภูมิใจไทย” ไปแล้ว กลุ่มอำนาจในปัจจุบันจะได้ประโยชน์อะไร
วันนี้ต้องถามก่อนว่า ยุบ “ภูมิใจไทย” แล้วมันได้ประโยชน์อะไร วันนี้เราก็รู้ว่า “ผู้สมัคร ส.ส.พรรคภูมิใจไทย” มีโอกาสได้เป็น ส.ส.จำนวนมาก แล้วถ้า “พรรคภูมิใจไทย” ถูกยุบ คนเหล่านี้ที่มีศักยภาพในการเลือกตั้งก็ต้องแตกกระจาย ต้องไปหาพรรคใหม่สังกัด
ผมจึงคิดว่า การยื่นยุบ “พรรคภูมิใจไทย” มันเป็นกลยุทธ์ในการปราม ยังไม่ใช่การปราบ เพราะผมยังไม่เห็นเหตุผลว่า ยุบ “พรรคภูมิใจไทย” ไปแล้ว “ลุงตู่” จะได้ประโยชน์อะไรทางการเมือง สู้ทำให้ “ภูมิใจไทย” อยู่ในโอวาท ง่ายกว่าเยอะ
สมมติ “พรรคภูมิใจไทย” ถูกยุบ พรรคการเมืองใดได้ประโยชน์มมากที่สุด
และเมื่อ Nation Online ถามว่า ถ้าสมมตินะ สมมติว่า “พรรคภูมิใจไทย” ถูกยุบจริงๆ พรรคใดจะได้ประโยชน์มากที่สุด รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ก็ตอบอย่างชัดถ้อยชัดคำในทันทีว่า
“พรรคเพื่อไทย” เพราะ “สมาชิกพรรคภูมิใจไทย” ส่วนใหญ่มาจาก “พรรคเพื่อไทย” แต่ส่วนที่มาจาก “พรรคก้าวไกล” ก็กลับพรรคเดิมไม่ได้แล้ว และไม่มีทางไปอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่รู้ว่าจะไปต่อแถวกันอย่างไร
ส่วนที่จะกลับไปอยู่ “พรรคประชารัฐ” ผมก็พูดตรงๆ ว่า “ลุงป้อม” เองก็มีข้อจำกัดเรื่องอายุ คือถ้าวางเกมยาวๆ กลับไปอยู่ “เพื่อไทย” ดีกว่า เพราะฉะนั้นถ้าเกิด “พรรคภูมิใจไทย” ถูกยุบ “พรรคเพื่อไทย” ก็จะได้ประโยชน์มากที่สุด
ดังนั้น ถ้าถูกยุบก่อนวันเลือกตั้ง ยังไงสมาชิกพรรคฯ ก็ไหลไป “เพื่อไทย” แต่มันก็อยู่ที่ระยะเวลาในการยุบด้วยนะครับ เพราะมีกติกาว่า ผู้ที่จะสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคอย่างต่อเนื่อง 30 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง (วันที่ 14 พฤษภาคม) ดังนั้นถ้าพรรคถูกยุบหลังวันที่ 14 เมษายน มันก็จบครับ (ตายยกรัง)
อันดับ 2 ก็คือ ไป “รวมไทยสร้างชาติ” เพราะมันก็มีแนวคิดว่า “อย่าไปล้อเล่นกับคนมีของ” เพราะฉะนั้นแล้ว รีบไปรายงานตัวเป็นลูกน้อง “คนมีของ” ดีกว่า ก็เข้า “รวมไทยสร้างชาติ” ส่วนพรรคที่ได้ประโยชน์อันดับที่ 3 ผมให้ “พลังประชารัฐ”
กรณี “พรรคเพื่อไทย” ถูกยุบ พรรคใดได้ประโยชน์มากที่สุด
ไหนๆ ก็คุยเรื่องยุบพรรคแล้ว Nation Online จึงตั้งคำถามกับ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ต่อไปว่า แล้วถ้ากรณีมีการยุบ “พรรคเพื่อไทย” ล่ะ พรรคใดจะได้ประโยชน์มากที่สุด
ถ้ายุบ “พรรคเพื่อไทย” ก่อนการเลือกตั้ง พรรคที่ได้ประโยชน์แน่ๆ คือ “พรรคก้าวไกล” แลนด์สไลด์แน่นอน แฟนคลับ “พรรคเพื่อไทย” ไม่มีทางเลือกอื่นก็ต้องลงคะแนนให้ “พรรคก้าวไกล” พูดตรงๆ นะ ถ้ายุบ “พรรคเพื่อไทย” ในวันนี้ ต่อให้ “ว่าที่ ส.ส.เพื่อไทย” ไม่เข้า “ก้าวไกล” เลย “พรรคก้าวไกล” ก็ยังประโยชน์มากที่สุด
ส่วนพรรคอันดับ 2 ที่ได้ประโยชน์ก็คือ “พลังประชารัฐ” ของลุงป้อม อันดับ 3 ได้แก่ “พรรคไทยสร้างไทย” ของ “คุณหญิงหน่อย”
กรณี “พรรคก้าวไกล” ถูกยุบ พรรคใดได้ประโยชน์มากที่สุด
ส่วนในกรณี ““พรรคก้าวไกล” ถูกยุบก่อนวันเลือกตั้ง รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ก็ฟันธงเปรี้ยงว่า “พรรคเพื่อไทย” ได้ประโยชน์มากที่สุด ทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่า กลุ่มอำนาจปัจจุบัน แทบไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการยุบพรรคต่างๆ เลย ไม่ว่าเป็นพรรคในขั้วเสรีนิยม หรือในขั้วอนุรักษ์นิยม ก็ตามที
ถ้ายุบ “พรรคก้าวไกล” ก่อนการเลือกตั้ง พรรคที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ “เพื่อไทย” เพราะว่าเมื่อปี 2562 ทั้ง 2 พรรคนี้ คะแนนไล่เลี่ยกัน ในปีดังกล่าว พอ “พรรคไทยรักษาชาติ” (พรรคเครือข่ายของ “เพื่อไทย”) ถูกยุบ คะแนนก็ไหลไปที่ “พรรคอนาคตใหม่” (พรรคก้าวไกล) เป็นจำนวนมาก
ดังนั้นวันนี้ถ้ายุบ “พรรคก้าวไกล” คนที่เขาไม่ชอบ “พรรคลุงตู่” ก็จะเหลือพรรคไหนให้เลือกล่ะครับ ก็เหลืออยู่ 2 พรรค คือ “พรรคเพื่อไทย” กับ “พรรคไทยสร้างไทย” แล้วพรรคไหนที่จะได้ ส.ส.เป็นกอบเป็นกำพอที่จะโค่น “ลุงตู่” ได้ เขาก็ต้องเลือก “พรรคเพื่อไทย”
ส่วนพรรคที่ 3 ที่จะได้ประโยชน์กรณี “พรรคก้าวไกล” ถูกยุบ ก็คือ “พรรคสามัญชน” (ถ้าส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง) เพราะ “พรรคสามัญชน” กับ “พรรคก้าวไกล” มีจุดร่วมกันในเรื่อง “การรื้อระบบโครงสร้างทางการเมือง” แล้วผู้สมัครหรือบุคลากรหลายคนของ “พรรคก้าวไกล” ก็มาจาก “พรรคสามัญชน”