แม้อายุสภาผู้แทนราษฎรมีวาระครบ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ซึ่งตามกรอบกติการัฐธรรมนูญ "นายกรัฐมนตรี"ต้องใช้อำนาจออกพระราชกฤษฏีประกาศ"ยุบสภา"
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 "ราชกิจจาฯ" ได้เผยแพร่ "พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร 2566" พร้อมกำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน
การประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 จึงเป็นการ"ยุบสภา"ก่อนครบอายุวาระสภา
มีคำถามโดยพลัน "นายกฯประยุทธ์" เลือกเส้นทาง"ยุบสภา" ไม่ยอมอยู่ครบวาระ ทั้งๆที่เหลืออีกเพียงไม่กี่วัน เพราะ...
1.ถ้าอยู่ครบวาระ ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ซึ่งเร็วมาก พรรครวมไทยสร้างชาติน่าจะยังไม่พร้อมขนาดนั้น
2.ถ้าอยู่ครบวาระ ผู้ที่พรรคจะส่งลงสมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถ "ดูด" รอบสุดท้ายได้
***หากอยู่ครบวาระ คือวันที่ 23 มีนาคมนี้ คนที่พรรคการเมืองจะส่งลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ต้องเข้าสังกัดพรรควันสุดท้าย คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งผ่านมาแล้ว ********
3.ยังมี ส.ส.อีกจำนวนหนึ่งที่เตรียมย้ายพรรครอบสุดท้าย หลัง"ยุบสภา" ซึ่งรวมไทยสร้างชาติหวังเก็บตกรอบนี้อีกจำนวนหนึ่ง
นี่คือเหตุผลที่อธิบายว่า ทำไมนายกฯต้องยุบสภา ไม่สามารถอยู่ครบวาระได้
เห็นได้ว่า "การยุบสภา"เชื่อมโยงกับการชิงความได้เปรียบทางการเมืองของฝ่ายบริหาร กล่าวให้ตรงก็คือ ตัวนายกฯนั่นเอง เพราะอำนาจ"ยุบสภา"เป็นอำนาจเต็มของนายกฯเพียงคนเดียว
"การยุบสภา"ที่ผ่านมาทุกครั้ง จึงมีเหตุผลทางการเมือง และการชิงความได้เปรียบทางการเมืองเป็นหลัก
ประวัติศาสตร์การยุบสภาบนเส้นทางประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของเมืองไทย มีการยุบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2481 และยุบสภากันมาแล้ว 14 ครั้ง "พล.อ.ประยุทธ์" เป็นนายกฯที่"ยุบสภาครั้งที่ 15"
การยุบสภาหลายครั้งของนายกฯหลายๆคน เป็นการยุบสภาหนีศึกซักฟอก หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตอนหลังมีการมองว่า การยุบสภาแบบนี้ เป็นการยุบเพื่อหนีการตรวจสอบ
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นฉบับประชาชน จึงริบอำนาจตรงนี้ ไม่ให้ยุบหนีการตรวจสอบ โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 185 และเป็นมาตรฐานในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา ทั้งปี 2550 และ 2560