กลายเป็นประเด็นที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง จากกรณี “พิธา - ปิยบุตร” ซัดกันอย่างดุเดือดผ่านโลกโซเชียล
โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” , “ไม่เป็นมืออาชีพ” ก็ทำให้ “ปิยบุตร” ไม่อาจอดรนทนได้ ก่อนซัดกลับ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่ผม” , “จับเสือมือเปล่า” แม้จะลบโพสต์ในเวลาต่อมา แต่ก็สายไปแล้ว เพราะวิวาทะของทั้งคู่ ว่อนกระจายไปทั่วโลกออนไลน์
ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว Nation Online ก็ติดต่อขอสัมภาษณ์ “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ในประเด็น “พิธา VS ปิยบุตร”
แต่สถานการณ์ความขัดแย้งก็คลี่คลายไปอย่างรวดเร็ว ในวันเดียวกันนั้นทั้งคู่ก็ได้มีทติ้งปรับความเข้าใจ และมีการเผยแพร่คลิปร่วมร้องเพลงกันอย่างชื่นมื่น โดยมี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นนักร้องนำ ซึ่งเป็นภาพเหตุการณ์ที่การันตีว่า พิธา - ปิยบุตร ปรับความเข้าใจกันเรียบร้อย ด้วยโมเมนต์กอดคอกันสุดหวานชื่น
ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ ผู้เรียบเรียงจึงขอนำบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับวิวาทะ “พิธา – ปิยะบุตร” มานำเสนอ นั่นก็คือ ความเป็น “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จะสามารถไปถึงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ในสักวันหนึ่งได้หรือไม่ ? โดย "รศ.ดร.ธนพร" ได้แสดงความคิดเห็นดังนี้
บทความที่น่าสนใจ
“รวมไทยสร้างชาติ” กับจุดขาย “ขวาจัด” ปังหรือแป้ก ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ?
ความโดดเด่นของ “พิธา”
“รศ.ดร.ธนพร” ระบุว่า ในพรรคก้าวไกล เต็มไปด้วยผู้มีความรู้และความสามารถมากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ “พิธา” โดดเด่น ก็คือคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ ด้วยกัน
ถ้าถามเรื่องความรู้ความสามารถ ผมว่าคงไม่มีใครปฏิเสธว่า “คุณพิธา” ก็เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งในพรรคก้าวไกลก็เป็นผู้มีความรู้มีความสามารถกันทั้งนั้น
แต่สิ่งที่ทำให้ “คุณพิธา” โดดเด่นกว่าคนอื่นก็คือ ประการแรก “คุณพิธา” สามารถร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ ในประเด็นที่เป็นจุดเด่นของแต่ละคนในพรรคก้าวไกล แล้วนำเสนอให้เป็นเรื่องเดียวกันได้ และอธิบายภาพรวมได้ อันนี้ต้องบอกว่าเป็นจุดเด่นของเขา
ประการที่ 2 เรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ ที่สามารถสนับสนุนการทำของพรรค “คุณพิธา” ก็มีความพร้อมพอสมควร เพราะฉะนั้นก็อยู่ในสถานภาพที่สามารถขับเคลื่อนทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าพรรคก้าวไกล” ได้
ซึ่ง “คุณพิธา” ก็น่าจะเป็นคนจำนวนน้อย (ในพรรคก้าวไกล) ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเพียงพอที่จะทำงานการเมืองได้ แต่ท่านอื่นผมไม่ค่อยมั่นใจ ผมพูดตรงๆ เพราะเรื่องอย่างนี้ “คนจ่ายตังค์ เสียงดังเสมอ”
เบื้องหน้ามีผู้บริจาคก็ว่ากันไป แต่ยังไงในความเป็นจริง มันจะต้องมีผู้สนับสนุนในอีกรูปแบบหนึ่ง เท่าที่ดูจากข้อมูลผมคิดว่า “คุณพิธา” เขามีความพร้อมที่จะทำตรงนี้ แต่คนอื่น ผมยังไม่เห็นไง
“พิธา” กับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี”
ในความเป็นจริง การเป็น “นายกฯ” มีปัจจัยต่างๆ มากมาย นอกจากคุณสมบัติที่เหมาะสมแล้ว ยังชึ้นอยู่กับโอกาสและจังหวะ แต่ถ้าว่ากันเฉพาะเรื่องคุณสมบัติ รศ.ดร.ธนพร ก็ระบุว่า “พิธา” ถือว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเป็นนายกฯ
ถ้าถามว่า ความสามารถอย่าง “คุณพิธา” เป็นนายกฯ ได้ไหม สำหรับผมแล้วนะ ผมว่า “เป็นได้” เพราะผมไม่เคยคิดว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้วิเศษ
ที่ผ่านมา เรามีนายกฯ ซึ่งมีความสามารถแตกต่างหลากหลาย ใครคิดว่า “คุณบรรหาร” ไม่มีความสามารถ ท่านมีความสามารถนะ เพียงแต่สิ่งที่เราเห็น อาจจะไม่ตรงกัน “พลเอกชวลิต” ก็มีความสามารถ “คุณชวน” ก็มีความสามารถ “คุณยิ่งลักษณ์” , “คุณทักษิณ” , “คุณอภิสิทธิ์” ก็มีความสามารถ
กระทั่งนายกฯ ช่วงเวลาสั้นๆ อย่าง “คุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์” ถ้าใครรู้จัก ก็จะรู้ว่าท่านเป็นคนที่มีความประนีประนอมสูง ใครทำงานด้วยก็จะรู้ว่า ท่านเป็นคนที่ให้เกียรติคนอื่น “คุณสมัคร” ก็เป็นนายกฯ ที่มีความคิดริเริ่มอะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา
ซึ่งตามมาตรฐานของผม คนเป็นนายกฯ ได้ คือคนทั่วๆ ไป คนธรรมดาสามัญก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ ผมไม่ได้มองว่า นายกฯ จะต้องเป็นผู้วิเศษ เพราะฉะนั้น “คุณพิธา” ก็อยู่ในมาตรฐาน สามารถเป็นนายกฯ ได้เช่นเดียวกัน
ความเห็นที่ไม่ตรงกัน จะนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ
ส่วนในเรื่องประเด็นความขัดแย้งในพรรคก้าวไกล และเครือข่ายคณะก้าวหน้า ซึ่งอันที่จริงก็ถูกจับตามาก่อนหน้าที่จะเกิดดราม่า “พิธา - ปิยบุตร” แต่ในมุมมองของ “รศ.ดร.ธนพร” ได้แสดงความคิดเห็นว่า อันที่จริงความขัดแย้ง ก็มีประโยชน์อยู่ไม่น้อย
ประเด็นความขัดแย้งของพรรคก้าวไกล สุดท้ายก็จะจบด้วยการไปคุยกันนั่นแหละ ซึ่งผมก็คิดว่าพรรคการเมืองที่มีการตรวจสอบกันเองแบบนี้ กำไรมันก็เป็นของชาวบ้านนะ
ถ้าบอกว่าเราเป็นพรรคที่ก้าวหน้า เป็นพรรคที่วิจารณ์สังคม ต้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง แต่ในพรรคนี่จัดระเบียบแถวตรงกันไปหมด ผมว่า มันก็ไม่ใช่
ผมกลับคิดว่า การที่พรรคก้าวไกล กับคณะก้าวหน้า คนกลุ่มเดียวกัน มาวิพากษ์วิจารณ์กัน ในมุมผมนะ ผมว่ามันเป็นประโยชน์ เป็นความสวยงาม ซึ่งผมไม่ค่อยคิดเรื่องนี้ไปทางร้ายหรอก
แต่คนอื่นอาจจะคิดว่า เรื่องความขัดแย้งอาจจะต้องกลบๆ แต่จริงๆ แล้วความขัดแย้งมันก็มีประโยชน์นะ เพราะว่าความเห็นที่ไม่ตรงกัน มักจะนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ
ดังนั้นโดยส่วนตัวเนี่ย ผมคิดว่า ความขัดแย้ง ความเห็นไม่ตรงกัน มันไม่ได้ทำให้ความเข้มแข็งของพรรคลดลง ผมกลับชื่นชมด้วยซ้ำไปว่า พรรคนี้อาจะเป็นตัวอย่าง อาจเป็นสถาบันทางการเมืองอีกพรรคหนึ่ง ที่นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่มีวัฒนธรรมวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเปิดเผย ผมสนับสนุนตรงนี้ด้วยซ้ำไป