“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Nation Online วิเคราะห์เกมการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่หากพรรคเพื่อไทยอยากเป็นรัฐบาล เพื่อนำเจ้าของพรรคกลับบ้าน ก็ต้องยอมให้บิ๊กป้อม เป็นนายกรัฐมนตรี
ถ้าเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาล นายกฯ ต้องชื่อ “ประวิตร”
“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 คน ก่อนฟันธงว่า ไม่สำคัญว่า แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยจะเป็นใคร เพราะสุดท้ายแล้ว หากพรรคเพื่อไทยต้องการกลับเข้าสู่อำนาจรัฐ นายกฯ ก็ต้องชื่อ “ประวิตร”
“ในมุมของผมเนี่ย คือ ‘คุณทักษิณ’ เขาเป็นเจ้าของพรรค แล้วเขาก็ถอดบทเรียนสมัยท่านนายกฯ สมัคร พูดกันตรงๆ ว่าใครจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เขาก็ต้องมั่นใจว่า เขาคอนโทรลได้ คนที่เขาคอนโทรลไม่ได้ ก็ไม่มีสิทธิ์ ในความเป็นจริงมันก็เป็นอย่างนั้น ไม่เช่นนั้นสภาพ ‘คุณสมัคร’ จะเป็นอย่างนั้นเหรอ พรรคเพื่อไทยจะปฏิเสธก็ได้นะ ซึ่งผมคิดว่า เขาคงปฏิเสธแหละ แต่ในความเป็นจริงมันก็รู้กัน
“ดังนั้นผมจึงไม่ค่อยมีความเห็นเรื่องชื่อแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 3 ของพรรคเพื่อไทย เพราะเอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้เป็น (นายกฯ) สักคน เอาเข้าจริงๆ นะ สูตร 3 พรรคนี่ (เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย) ยังไงก็ลุงป้อม
“มันมีทางเลือกอะไรสำหรับพรรคเพื่อไทย คือผม based on ข้อมูลว่ามันไม่แลนด์สไลด์ มันจะแลนด์สไลด์ได้ไง ในเมื่อพรรคก้าวไกล เขาแบ่งแต้มไปอย่างนี้ คนพรรคเพื่อไทยก็ต้องตอบผมก่อน จะแลนด์สไลด์ในเงื่อนไขไหน ในเมื่อวันนี้มีคนจำนวนหนึ่งเขารู้สึกว่า การต่อสู้ของคุณมันไม่สุดทาง เขาก็ไปเลือกพรรคก้าวไกล แล้วคุณจะแลนด์สไลด์ยังไง ตัวเลขการเลือกตั้งปี 2562 ก็ยืนยัน พรรคเพื่อไทยก็ต้องตอบผมมาก่อนว่า ถ้าจะแลนด์สไลด์ คุณเอาพรรคก้าวไกลไปไว้ไหน เอาไปโยนทิ้งน้ำเหรอ ผมถึงบอกว่า ผมไม่เชื่อไง"
บทความที่น่าสนใจ
เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย สูตรรัฐบาลใหม่ หลังการเลือกตั้ง ?
หักเหลี่ยมกันสุดฤทธิ์ เจาะยุทธศาสตร์หลัก และแผนสอง ของ 3 พรรคใหญ่
สัมภาษณ์พิเศษ สุทิน คลังแสง “คนไทยเสียเวลากับรัฐบาลชุดนี้ มามากพอแล้ว”
คณิตศาสตร์ทางการเมือง เลือกตั้งปี 2566 เพื่อไทย ไม่แลนด์สไลด์
“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” วิเคราะห์ตัวเลข ส.ส. จากการเลือกตั้งปี 2562 แม้พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. มากที่สุด แต่เมื่อโฟกัสที่ขั้วการเมือง ก็พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม กับเสรีนิยม มีจำนวนผู้สนับสนุนที่สูสีกัน
“เราลองไปดูคะแนนโหวตการเลือกตั้งปี 2562 ก็ได้ ฝั่งประชาธิปไตย หลักๆ ก็คือพรรคเพื่อไทย รวมกับอนาคตใหม่ (ก้าวไกล) ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง พลังประชารัฐ บวกกับประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ ทั้ง 2 ฝั่ง มีเสียงสนับสนุนประมาณ 15 ล้านเสียง ไม่ได้ต่างกันมากนัก
“แต่ถ้าโฟกัสเฉพาะพรรคพรรคฝ่ายค้านเดิม (ฝั่งเสรีนิยม) เราก็ต้องยอมรับความจริงว่า วันนี้มีคนรุ่นใหม่ๆ จำนวนมากที่รู้สึกว่า พรรคเพื่อไทยไปไม่สุด เขาก็ไม่เลือก ไม่อย่างนั้นอนาคตใหม่เกิดได้ไง พรรคก้าวไกลเกิดได้ไง ถ้าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์
“วันนี้คำตอบของฝ่ายเสรีนนิยม ไม่ได้มีพรรคเพื่อไทยพรรคเดียว ผมถึงบอกว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ ก็มีอย่างเดียว ก็ต้องสาปแช่งให้พรรคก้าวไกลถูกยุบ ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ใช่แล้วไง แต่พอมันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ แต่ถ้าต้องการจะเป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยจะมีทางเลือกอะไรล่ะ
“ผมไม่ได้มีความหลัง มีสตอรี่อะไรแบบคุณจตุพร ถึงจะได้รู้เบื้องหน้าเบื้องหลังต่างๆ เพราะผมไม่ได้อยู่ในกระบวนการตรงนั้น แต่ว่าผมดูจากชีวิตผมที่ผ่านเรื่องแบบนี้มาไม่น้อยกว่าใคร ผมกล้าพูดเลยว่า ถ้าจะเอาการเข้าสู่อำนาจรัฐเป็นตัวตั้ง ยังไงพรรคเพื่อไทยก็ต้องร่วมมือกับฝ่ายอื่น ไม่เช่นนั้นก็เป็นฝ่ายค้านต่อไป”
ธนพร คอนเฟิร์ม นายกฯ คนที่ 30 คือ “บิ๊กป้อม” ยกเว้น...
และเมื่อ Nation Online ถามย้ำถึงแนวโน้มผู้ที่เป็นนายกฯ คนต่อไป “รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ก็คอมเฟิร์มอย่างหนักแน่นว่า “บิ๊กป้อม” มีโอกาสมากที่สุด
“คือยังไงก็เป็นลุงป้อม ถ้าสูตรนี้ (เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย) ยกเว้นแต่ว่า พรรคลุงตู่ พวกฟาสซิสต์ขวาจัด เขายังร่วมพลังกันเหนียวแน่น สมมติรวมไทยสร้างชาติได้ 60 เสียง ลุงป้อมมาได้ 50 เสียง รวมกันเป็น 110 เสียง เขาก็จัดรัฐบาลขั้วเดิม พรรคเพื่อไทยก็เป็นฝ่ายค้านต่อไป
“ผมไม่ได้โจมตีอะไรนะ ผมก็เข้าใจแฟนคลับเพื่อไทย คนในพรรคเพื่อไทยก็รู้จักผมเยอะ แล้วก็รู้ว่าจริงๆ แล้ว ผมไม่ได้มีอะไรหรอก ผมก็ดูตามข้อมูลนั่นแหละ และก็ดูตามความเป็นจริงว่า ในวันนี้ถ้าพรรคเพื่อไทยจะต้องดูแลเจ้าของพรรคและอยากเข้าถึงอำนาจรัฐ มันก็ไม่มีทางอื่น คุณก็ต้องเป็นรัฐบาลอย่างเดียว ถ้าไม่เป็นรัฐบาล คุณก็ต้องเป็นฝ่ายค้านต่อ ทางเลือกมันก็มีแค่นี้”
โครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อนและทรงพลังในสังคมไทย หัวใจสำคัญอยู่ที่การประสานผลประโยชน์
“รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล” ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า ด้วยโครงสร้างอำนาจที่ซับซ้อนของสังคมไทย การที่พรรคใดจะคะแนนเลือกตั้งมากที่สุด หรือต่อให้แลนด์สไลด์ก็ตามที ก็ใช่ว่าจะกุมอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากไม่ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอำนาจอื่นๆ โดยยกตัวอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ชนะเลือกตั้งในระดับแลนด์สไลด์ แต่ก็ต้องล่มสลายลงในระยะเวลาเพียง 2 ปีกว่าๆ
“ในความเป็นจริง เราต้องยอมรับ (โครงสร้างอำนาจในสังคมไทย) ผมเคยใช้คำว่า ระบอบประยุทธ์ คำว่าระบอบประยุทธ์ ไม่ได้หมายถึงจำนวน ส.ส. หรือ พรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แต่มันหมายถึง สิ่งที่เร้นลับลึกอีกเยอะแยะมากมาย มันหมายถึงอีกหลายตัวละคร ทั้งระบอบรัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม เทคโนแครต ภาคเอกชน กลุ่มทุน ภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการบริหารจัดการอำนาจ ผมไม่ปฏิเสธว่า ถ้าได้เสียงข้างมากคุณมีแต้มต่อ แต่มันไม่ได้แปลว่า คุณจะมีอำนาจต่อองค์ประกอบอื่นๆ ถ้าเขารวมตัวไม่เอาคุณ คุณก็ทำงานไม่ได้
“เอาง่ายๆ คุณจะทำอะไร ถ้าองค์กรอิสระบอกว่า คุณทำผิดรัฐธรรมนูญ คุณจะไปยังไง หรือคุณเข้าไปบริหาร คุณเป็นรัฐมนตรี ข้าราชการก็บอกว่า เรื่องนั้นทำไม่ได้ ขัดระเบียบ เรื่องนี้ก็ทำไม่ได้ ขัดกฎหมาย แล้วคุณจะทำอย่างไร ผมถึงบอกว่า เรื่องนี้ในความเป็นจริง มันต้องมีการประนีประนอมกัน ไอ้ดราม่าที่บอกว่า ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดจะทำอะไรก็ได้ ไม่จริงหรอกครับ
“ยกตัวอย่างง่ายๆ พรรคภูมิใจไทย นโยบายกัญชาเสรี 4 ปี วันนี้ พ.ร.บ.กัญชา ยังไม่ผ่านเลย นี่ขนาดพรรคภูมิใจไทยเขาออกแรงดันแบบสุดติ่งกระดิ่งแมว นี่เอาแค่เรื่องกัญชา แล้วถามว่า ถ้าเอาเรื่องที่พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หรือแต่ละพรรคอยากทำ ที่ได้ประกาศเป็นนโยบาย มันจะง่ายดุจพลิกฝ่ามือเหรอ
“ผมยกตัวอย่างพรรคก้าวไกล ที่บอกจะปฏิรูปกองทัพ แต่ในความเป็นจริง ไม่ใช่คุณเป็นรัฐบาลแล้วจะเสนอกฎหมายได้เลย ถ้ามันง่ายอย่างนั้นก็ดีซิ แต่มันยังมีกระบวนการต่างๆ อีกมากมาย ถ้าคุณออกกฎหมายหลักได้ แล้วกฎหมายรองล่ะ การปฏิบัติจริงล่ะ ไม่อย่างนั้นจะมีคำพูดเหรอว่า ประเทศไทยไม่ได้บริหารด้วยรัฐธรรมนูญ แต่บริหารด้วยระเบียบกรม ระเบียบกองทัพบางฉบับใช้มาเป็นร้อยปี วันนี้ยังใช้อยู่เลย
“ซึ่งที่ผมพูด ผมก็พูดตามหน้างานของคนที่เห็นเรื่องแบบนี้มาแล้ว เราไม่อาจพูดได้หรอกว่า เราได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ทุกเรื่องที่เราพูดจะทำได้หมด มันเป็นไปไม่ได้ แล้วสิ่งที่ผมพูด มันก็อาจจะเกิดการต่อสู้กับระบอบข้าราชการ ต่อสู้กับภาคประชาสังคม ประชาสังคมต่อสู่กับเทคโนแครต หรือเทคโนแครตต่อสู้กับระบบราชการ มันมีการเมืองย่อยๆ ภายในระบบอีก เพราะฉะนั้นแล้วผมก็ตอบตรงๆ อย่างนี้ ที่มันอาจจะขัดหูหลายคน
“สมมติว่า เราจะผลักดันโครงการสักโครงการ ถ้าตัวละครเหล่านี้ไม่สำคัญ อย่างองค์กรอิสระ เดี๋ยวก็เจอแบบที่คุณยิ่งลักษณ์เจอ ศาลรัฐธรรมนูญบอกขัดรัฐธรรมนูญ แล้วคุณจะไปอย่างไร คุณจะระดมพลมาไล่ศาลกันอีกเหรอ แล้วก็ถ้ามันไปถึงจุดนั้น สิ่งที่คุณอาจเจออีก ก็คือการยึดอำนาจ
“ผมไม่ได้ขู่ ผมไม่ได้ชื่นชมรัฐประหาร แล้วผมก็ไม่ได้ชอบด้วย แต่เพียงจะบอกว่า ในความเป็นจริง การได้เสียงข้างมาก แล้วเราต้องการผลักดันอเจนด้า มันต้องการการประนีประนอมกับการประสานประโยชน์กับทุกฝ่าย เราไม่อาจจะเอาความต้องการของเราแต่ฝ่ายเดียว แล้วมองข้ามหัวคนอื่น ในความเป็นจริงมันทำไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะบอก”