svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ระเบิดสุญญากาศกับการใช้งานอาวุธต้องห้ามของรัสเซีย

ประเด็นความขัดแย้งรัสเซียกับยูเครนยังคงร้อนแรงจากสมรภูมิอันดุเดือด ล่าสุดมีการกล่าวอ้างว่ารัสเซียใช้งานระเบิดสุญญากาศทำให้ทั่วโลกหวาดหวั่น แต่เชื่อว่าหลายคนย่อมสงสัยว่าระเบิดสุญญากาศคืออะไร รุนแรงขนาดไหน ทำไมจึงถูกห้าม

Highlights

  • ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในประเด็นที่ทั่วโลกต้องจับตาคือ สงครามรัสเซียและยูเครนกำลังทวีความรุนแรง จำเป็นต้องขับเคี่ยวกันมากขึ้น จึงเริ่มมีข่าวถึงหนึ่งในอาวุธมหาประลัยของรัสเซีย ระเบิดสุญญากาศ
  • ระเบิดสุญญากาศคือระเบิดชนิดพิเศษที่สร้างแรงทำลายมหาศาล เผาผลาญออกซิเจนโดยรอบทั้งหมดจนเหลือแต่สุญญากาศ ถือเป็นหนึ่งในอาวุธต้องห้ามของอนุสัญญาเจนีวา
  • หลักการทำงานของมันคือ การปล่อยก๊าซไวไฟกระจายออกไปเป็นวงกว้าง จากนั้นจุดระเบิดเผาไหม้เพื่อขยายขอบเขตการทำลายล้าง เหมาะสำหรับใช้ในสถานที่มีสิ่งกีดขวาง ทำลายบังเกอร์และโครงสร้างทั้งหลายได้ดี
  • นอกจากรัสเซียแล้วอาวุธชนิดนี้ยังมีการใช้งานกันแพร่หลาย ทั้งกับสหรัฐฯในสงครามเวียดนามและอิรัก รวมถึงอินเดียเองก็มีการผลิตไว้ด้วยเช่นกัน
  • แม้ไม่สามารถยืนยันว่ามีการใช้ระเบิดสุญญากาศในยูเครน แต่รัสเซียเคยใช้อาวุธชนิดนี้มาแล้วในอดีตช่วงสงครามเชเชน รวมถึงอาวุธต้องห้ามชนิดอื่นอย่าง ระเบิดคลัสเตอร์ และ อาวุธเคมี
  • อีกทั้งรัสเซียยังมียุทโธปกรณ์อีกหลายชนิดสำรองไว้ในคลังแสง ทั้งระเบิดสุญญากาศลูกยักษ์ Father of all bomb รวมถึงหัวรบนิวเคลียร์อีกหลายพันลูกที่พร้อมใช้งาน

--------------------

          สงครามถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาการนองเลือด สารพัดอาวุธถูกหยิบมาใช้งานในการประหัตประหารศัตรู ยิ่งสามารถล้างผลาญอีกฝ่ายได้มากเท่าใดยิ่งเข้าใกล้ชัยชนะไปอีกก้าว เป็นเหตุให้อาวุธร้ายหลากชนิดถูกคิดค้นพัฒนาเพื่อกรุยทาง นั่นตามมาด้วยผู้สูญเสียมากมาย

 

          ในสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเองก็เช่นกัน มีข้อกล่าวหาว่ารัสเซียนำ "ระเบิดสุญญากาศ" หนึ่งในอาวุธต้องห้ามในอนุสัญญาเจนีวา ถือเป็นอาวุธทำลายล้างสูงสามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ชีวิต เป็นเหตุให้ทั่วโลกต่างประณามรัสเซียจนทยอยส่งความช่วยเหลือไปสู่ยูเครนมากขึ้น

          ถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยเหตุใดอาวุธสุญญากาศจึงเป็นเรื่องร้ายแรงในสงคราม ทั้งที่การทำสงครามคือการงัดเอาสารพัดอาวุธมาต่อกรเพื่อขับไล่หรือทำให้ศัตรูยอมจำนนอยู่แล้ว ในส่วนนี้นอกจากผิดข้อตกลงในอนุสัญญาเจนีวาซึ่งเป็นกติกาในการทำสงครามสากลแล้ว ยังมาจากความร้ายแรงของตัวระเบิดชนิดนี้เองที่เป็นปัญหา
ระเบิดสุญญากาศกับการใช้งานอาวุธต้องห้ามของรัสเซีย ระเบิดสุญญากาศคืออะไร? ทำไมมันจึงร้ายแรง?
          ระเบิดสุญญากาศคือ ระเบิดชนิดพิเศษที่จะทำการดูดซับออกซิเจนจากพื้นที่รอบข้างระเบิดออกมาเป็นคลื่นความร้อนสูง โดยมีต้นแบบแนวคิดจากการระเบิดของเหมืองถ่านหิน ที่เมื่อมีการระเบิดเกิดขึ้นภายในพื้นที่ มักมีหมอกหรือแก๊สไวไฟไหลเวียนอยู่ และเมื่อเกิดการระเบิดพลังทำลายจึงกระจายตัวไปทั่ว

 

          รูปแบบการทำงานของระเบิดสุญญากาศจึงมีอยู่สองขั้นตอนเมื่อปะทะเป้าหมาย หนึ่งคือการระเบิดออกโดยการปล่อยก๊าซไวไฟแพร่กระจายออกไปรอบข้าง โดยจะเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนและอนุภาคโลหะขนาดเล็ก สองคือการระเบิดซ้ำอีกครั้งโดยมีก๊าซไวไฟระลอกแรกเป็นตัวขยายแรงระเบิด ก่อนดูดซับออกซิเจนแผ่ขยายออกไปเป็นคลื่นความร้อน กระจายความเสียหายออกไปเป็นวงกว้าง

 

          ความพิเศษของระเบิดชนิดนี้คือแรงระเบิดสามารถลัดเลาะเข้าไปตามอาคาร ตึกรามบ้านช่อง บังเกอร์หลบภัย ไปจนพื้นที่ปิดทุกรูปแบบ ด้วยการกระจายก๊าซไวไฟเล็ดรอดเข้าไปในพื้นที่โดยรอบ จากนั้นเมื่อเกิดการระเบิดคลื่นความร้อนจะปะทุลุกไหม้ก๊าซไวไฟที่ปล่อยออกไปล่วงหน้า เป็นผลให้แม้หลบอยู่ภายในกำบังก็ใช่จะรอดพ้นไปจากระเบิดลูกนี้ได้

          คลื่นทำลายล้างจากการระเบิดสามารถอยู่ได้ยาวนานกว่าระเบิดทั่วไป ความร้อนที่เกิดขึ้นสามารถระเหยร่างกายของมนุษย์ได้ในเสี้ยววินาทีที่สัมผัส อีกทั้งการดูดออกซิเจนออกไปโดยรอบสร้างพื้นที่สุญญากาศ ยังส่งผลกระทบถึงแม้แต่ภายในร่างกายมนุษย์ ทำให้ร่างกายและอวัยวะภายในที่ถูกดูดออกซิเจนออกเสียชีวิตได้อย่างฉับพลัน

 

          การใช้งานระเบิดสุญญากาศมีวัตถุประสงค์หลักคือทำลายจุดยุทธศาสตร์ที่มีการคุ้มกันแน่นหนา ด้วยคุณลักษณะในการเป็น บังเกอร์บลาสเตอร์ สามารถส่งแรงทำลายเข้าไปถึงได้แม้แต่ภายในพื้นที่ปิดอย่างถ้ำรวมถึงอุโมงค์ ย่อมไม่ต้องพูดถึงหลุมหลบภัยและที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่ 

 

          อาวุธชนิดนี้จึงถูกห้ามโดยอนุสัญญาเจนีวาจากอานุภาพร้ายแรงและรัศมีการทำลายล้างที่อาจส่งผลถึงพลเรือน

ระเบิดสุญญากาศกับการใช้งานอาวุธต้องห้ามของรัสเซีย
การใช้งานระเบิดสุญญากาศในอดีต
          แม้จะเป็นอาวุธร้ายแรงพร้อมคร่าชีวิตผู้คนเป็นผักปลา แต่ที่ผ่านมาก็มีการใช้งานอาวุธนี้หลายครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ ผู้คิดค้นระเบิดชนิดนี้เป็นเจ้าแรกคือของทัพเยอรมันในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนได้รับพัฒนาต่อยอดแพร่หลายในนานาประเทศ

 

          ประเทศต่อมาซึ่งนำอาวุธชนิดนี้มาพัฒนาปรับปรุงต่อยอดคือ สหรัฐอเมริกา เริ่มมีการนำมาใช้ครั้งแรกช่วง สงครามเวียดนาม จากนั้นก็มีการพัฒนาระเบิดสุญญากาศขึ้นมาอีกหลายรุ่น รวมถึงเป็นหนึ่งในอาวุธที่ถูกนำไปใช้ใน สงครามอิรัก ติดตั้งบนขีปนาวุธ AGM-114N Hellfire โดยมีการผสมผงอะลูมิเนียมกับไฟเบอร์ เพื่อเพิ่มอานุภาพและอัตราเผาไหม้

 

          เมื่อพูดถึงสหรัฐฯอีกประเทศที่ต้องพูดถึงแน่นอนคือ รัสเซีย ที่ในขณะนั้นยังเป็น สหภาพโซเวียต โดยเริ่มมีการใช้งานระเบิดชนิดนี้ครั้งแรกในความขัดแย้งพรมแดนระหว่างโซเวียต-จีนในปี 1969 รวมถึงในการรุกรานอัฟกานิสถาน มีการพัฒนาระเบิดสุญญากาศอย่างกว้างขวาง มีตั้งแต่การติดตั้งบนหัวขีปนาวุธ ไปจนการใช้งานร่วมกับเครื่องยิงลูกระเบิดโดยทหารราบ

 

          นอกจากสองชาติมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาอาวุธชนิดนี้ออกมาให้เห็นคืออินเดีย โดยเป็นการพัฒนาหัวกระสุนปืนใหญ่ เพื่อไว้ใช้งานสำหรับรถถังสำหรับเจาะทะลวงทำลายบังเกอร์รวมถึงยานเกราะของศัตรู ไปจนใช้ในการทำลายโครงสร้างอาคารได้อีกด้วย
ภาพตัวอย่างระเบิดคลัสเตอร์
รัสเซียกับการใช้อาวุธต้องห้ามในอนุสัญญาเจนีวา
          ข้อมูลการใช้งานระเบิดสุญญากาศของรัสเซียในครั้งนี้มีแค่คำอ้างของฝั่งยูเครน ปราศจากคำยืนยันของชาติอื่นหรือหลักฐานประกอบจึงขาดความน่าเชื่อถือไปบ้าง แต่ที่ผ่านมารัสเซียเคยใช้งานอาวุธสุดร้ายแรงนอกเหนือสนธิสัญญาเจนีวามาแล้วหลายครั้ง โดยการใช้งานอาวุธต้องห้ามนอกเหนืออนุสัญญามีตั้งแต่


1. ระเบิดคลัสเตอร์
          หรืออีกชื่อคือระเบิดลูกปราย สามารถใช้งานได้ทั้งจากภาคพื้นดินและอากาศยาน โดยจะเป็นการยิงระเบิดออกมาลูกหนึ่ง จากนั้นเมื่อใกล้ถึงเป้าหมายจะระเบิดออกมาเป็นระเบิดจำนวนมากขนาดเล็ก สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายและเป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

          ระเบิดชนิดนี้ถูกรัสเซียใช้งานระหว่าง สงครามเชเชน ในปี 1995 โดยเล็งใส่เป้าหมายอย่างตลาด ปั๊มน้ำมัน จนถึงโรงพยาบาล ทำให้พลเรือนชาวเชเชนนับร้อยถูกสังหาร เช่นเดียวกับภายในจอร์เจียเมื่อปี 2006 เอง ก็มีการใช้งานระเบิดชนิดนี้ ทำให้ประชาชนล้มตายไปมากกว่า 226 คน

 

2. อาวุธเคมี
          หนึ่งในอาวุธร้ายแรงที่สร้างความเสียหายต่อบุคคลมากที่สุด ถือกำเนิดขึ้นนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ถูกพัฒนาเรื่อยมาตามยุคสมัย โดยมีจุดประสงค์หลักคือสร้างอาการระคายเคืองแสบร้อน จนถึงทำลายเนื้อเยื่ออ่อน และระบบหายใจของเป้าหมาย สร้างความทรมานให้กับเหยื่อรวมถึงทิ้งผลลัพธ์ร้ายแรงแม้รอดชีวิต 

 

          การใช้งานอาวุธนี้เกิดในซีเรียช่วงปี 2014-2018 เป็นจำนวนกว่า 106 ครั้ง ส่วนมากจะเป็นแก๊สซารินและคลอรีนที่นำไปเจือจาง แม้ผู้สั่งใช้งานจะเป็นกองกำลังสนับสนุนรัฐบาลซีเรีย อัล-อัสซาด แต่การสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ล้วนได้รับจากรัสเซีย จึงถือว่ารัสเซียเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

 

3. ระเบิดสุญญากาศ
          อาวุธชนิดนี้กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งภายหลังคำกล่าวอ้างของยูเครน แม้ยังไม่มีคำยืนยันจากนานาชาติว่ารัสเซียมีการใช้อาวุธชนิดนี้ในดินแดนยูเครนหรือไม่ แต่รัสเซียก็เคยใช้ระเบิดชนิดนี้มาแล้วในช่วงปี 2000 ในสงครามเชเชนครั้งที่ 2 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากรัสเซียจะหยิบระเบิดนี้มาเป็นอาวุธอีกครั้ง
ระเบิดสุญญากาศกับการใช้งานอาวุธต้องห้ามของรัสเซีย
อาวุธร้ายแรงชนิดอื่นที่มีความเป็นไปได้ว่ารัสเซียจะนำมาใช้งาน
          ในปัจจุบันสถานการณ์รบระหว่างสองชาติยังคงขับเคี่ยวแต่เห็นได้ชัดว่าในสมรภูมิยูเครนกำลังเสียเปรียบ ถึงการโจมตีทางเศรษฐกิจจะเขย่าฐานรัสเซียได้รุนแรงแต่ต้องใช้เวลา จึงขึ้นกับว่ายูเครนสามารถสกัดกั้นการบุกรับมือรัสเซียได้อีกนานแค่ไหน แต่ก็ควรทราบไว้ว่าปัจจุบันยังมีอาวุธหลายชนิดที่รัสเซียยังไม่ได้นำมาใช้งาน

 

          ในปี 2007 รัสเซียทำการทดสอบระเบิดสุญญากาศชนิดใหม่ มีชื่อเรียกว่า Father of all bomb แข่งกับทางสหรัฐฯที่ผลิต Mother of All Bombs มาใช้ในสงครามอัฟกานิสถาน โดยสามารถสร้างแรงระเบิดได้มากถึง 44 ตัน ถือเป็นอาวุธระเบิดปลอดนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดในโลก

 

          นอกจากนี้รัสเซียยังเป็นประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก จากตัวเลขของสถาบันวิจัยสันติภาพ SIPRI ของสวีเดน ระบุว่า รัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์กว่า 6,255 ลูก ขณะที่สหรัฐฯมีเพียง 5,550 ลูก แล้วจึงเป็นจีนที่มีอยู่ 350 ลูก เห็นได้ชัดว่ารัสเซียเป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์หมายเลขหนึ่งของโลกอย่างแท้จริง

 

          อีกทั้งล่าสุดยังมีข่าวว่าอาวุธนิวเคลียร์ถูกนำมาเข้าประจำการเตรียมความพร้อม ทำให้มีความเสี่ยงว่าอาจมีการใช้งานระเบิดนิวเคลียร์เกิดขึ้น และถ้าเป็นแบบนั้นผลลัพธ์ที่ตามมาย่อมร้ายแรงเกินจินตนาการ อาจทำให้หลายประเทศจนโลกทั้งใบล่มสลายลงไปตามกัน

 

          แน่นอนแม้ฟังดูเป็นเรื่องไม่น่าเกิดขึ้นได้เพราะในทางหนึ่งนั่นเป็นการฆ่าตัวตาย แต่ไม่มีใครกล้าคาดเดาการกระทำของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียอีกต่อไป ภายหลังการส่งกำลังทหารเข้ารุกรานยูเครนที่ผ่านมา และได้แต่ภาวนาว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะยุติโดยเร็ว

 

          ยากจะคาดเดาได้ว่าที่สุดแล้วผลลัพธ์ในสงครามนี้จะไปสิ้นสุดตรงไหน จะทิ้งความเสียหายใดไว้แก่สองชาติที่เป็นคู่ขัดแย้ง รวมถึงผลกระทบที่ตามมาจากนั้นจะเป็นเช่นไร แต่แน่ใจได้เลยว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จะพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์โลกไม่แพ้การระบาดของโควิดเลยทีเดียว

--------------------

ที่มา