svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

Resident Evil: Welcome to Raccoon City การรีบูทแฟรนไชส์ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง?

Resident Evil: Welcome to Raccoon City หนึ่งในภาพยนตร์ที่คอเกมรอคอยมายาวนาน กลับล้มเหลวทั้งในด้านเสียงวิจารณ์และรายได้แม้จะได้รับคำยืนยันว่าเป็นหนังเคารพต้นฉบับ อะไรทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกแฟนคลับพากันเบือนหน้า วันนี้เราจะพามาเจาะลึกเหตุผลกันเสียหน่อย

Highlights

  • Resident Evil: Welcome to Raccoon City สร้างความผิดหวังให้แก่ทั้งแฟนเกมและหนังเวอร์ชั่นเก่า เนื่องจากการพยายามจับลูกค้าทั้งสองฝั่ง ที่ไม่ว่าจะทางไหนก็ออกมาไม่ดีสักด้าน
  • สาเหตุที่ตัวภาพยนตร์ไม่ประสบความสำเร็จคือ แฟนหนังฉบับเดิมต่างไม่ได้คาดหวังเนื้อหาในแรคคูนซิตี้ใหม่ เช่นเดียวกับแนวเรื่องที่เปลี่ยนไปทางสยองขวัญ
  • สำหรับแฟนเกมยิ่งแล้วใหญ่ แม้บอกว่าเป็นการเคารพต้นฉบับแต่เมื่อเทียบเนื้อหาโดยรวม นี่ก็ยังไม่ใช่ภาพยนตร์ Resident evil แบบที่พวกเขาหวังจะได้เห็นอยู่ดี
  • แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะกับ Resident evil 7 และ Resident evil village ที่ได้รับทั้งเสียงชื่นชมรวมถึงยอดขายถล่มทลาย แสดงให้เห็นว่าจักรวาล Resident evil ยังไม่ถึงทางตัน

--------------------

Resident Evil: Welcome to Raccoon City การรีบูทแฟรนไชส์ที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง?           หลายคนคงได้รับชม Resident Evil: Welcome to Raccoon City กันไปแล้ว กับความพยายามในการรีบูทแฟรนไชส์นี้ ภายหลังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายต่อหลายภาค จากกระแสตอบรับจากฝั่งนักวิจารณ์ที่ไม่เคยออกมาสวยสักภาค รวมถึงเนื้อหาที่บิดไปไม่เหลือเค้าเดิมจากเกม ทำให้แฟนเกมต้นฉบับพากันหดหู่พอสมควร

 

          หลายคนจึงพากันคาดหวังเมื่อมีการเปลี่ยนมือผู้กำกับที่คิดเอาใจใส่ มีบทสัมภาษณ์ว่าต้องการรักษาความเป็นต้นฉบับของเกมไว้ แต่เมื่อหนังออกฉายคำตอบก็เป็นไปในทางเดียวกันว่า หลายคนพากันผิดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งสำหรับคอภาพยนตร์ที่คุ้นเคยชื่อผีชีวะ หรือแฟนเกมหลายคนที่พากันสาปส่งและปรามาสภาพยนตร์เรื่องนี้ชนิดไม่เผาผี

 

          ถึงตรงนี้คงมีคนสงสัยว่าเหตุใดภาพยนตร์ที่ทางผู้กำกับ Johannes Roberts ผู้สร้างภาพยนตร์สยองขวัญ 47 meters down ภาพยนตร์สยองขวัญที่มีฉลามเป็นองค์ประกอบหลัก อีกทั้งยังมีคำโฆษณาว่า จะเคารพต้นฉบับเกมให้มากที่สุด เหตุใดมันจึงออกมาเละเทะแบบนี้ได้?

Resident Evil ฉบับหนังที่เราคุ้นตา(แต่แฟนเกมจะถามว่านี่ใคร?)

Resident Evil ฉบับภาพยนตร์ที่เราคุ้นตา
          แน่นอนว่าความพยายามดัดแปลง Resident Evil สู่ฉบับภาพยนตร์ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ถูกดัดแปลงมาแล้วจากน้ำมือของผู้กำกับ Paul W.S. Anderson และดาราคู่บุญ(ภรรยา) Milla Jovovich อีกทั้งยังโด่งดังประสบความสำเร็จต่อเนื่องจนสร้างออกมาแล้วถึง 6 ภาค

 

          ในเชิงคำวิจารณ์อาจไม่ได้ดีนักเห็นได้ชัดจากคะแนนบนเว็บไซต์ชื่อดัง บรรดานักวิจารณ์บนเว็บไซต์ Rotten tomato ต่างไม่เคยให้คะแนนภาพยนตร์แฟรนไชส์นี้สูงกว่า 40% เลยแม้แต่หนเดียว สวนทางกับรายได้ที่สามารถทำเงิน 100-300 ล้านเหรียญมาตลอด จะบอกว่าเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์หนังทำเงินที่ประสบความสำเร็จก็คงได้

 

          กระนั้นแฟนเกมกลับไม่ปลื้มฉบับภาพยนตร์เสียเท่าไหร่นัก เนื่องด้วยเนื้อหาภายในเรื่องจับกลิ่นอายและองค์ประกอบจากต้นฉบับมาเล็กน้อย แล้วนำมาบิดโครงเรื่องเพื่อให้เข้ากับสิ่งที่ผู้กำกับอยากเล่าเป็นหลัก เปลี่ยนเนื้อหาจากเกมสยองขวัญสู่ภาพยนตร์แอคชั่นบู๊สนั่น รวมถึงตัวเอก Alice ที่ไม่เคยมีตัวตนมาก่อน สร้างความขัดใจให้แฟนเกมอย่างยิ่ง

 

          แต่อย่างที่บอกเดิมทุนสร้างภาพยนตร์แฟรนไชส์นี้ไม่ได้สูงอยู่ที่ราว 30-60 ล้านเหรียญ เมื่อเทียบกับรายได้หลักร้อยล้านเหรียญฯแทบทุกภาค จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทางค่ายหนังจะเข็นภาพยนตร์เรื่องนี้ออกมาเรื่อยๆ จนทางผู้กำกับและดารานำแสดงอยากยุติบทบาทนี่เอง จึงได้ทำภาคสั่งลา Resident Evil: The Final Chapter (2016) จบเรื่องราวของ Alice ลงในที่สุด
 

          สำหรับคอภาพยนตร์อาจรู้สึกใจหาย แต่กับแฟนเกมบางส่วนกลับมองเห็นโอกาส เมื่อแฟรนไชส์หลุดจากมือของผู้กำกับเดิมสู่วิสัยทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะหลังการให้สัมภาษณ์ของ Johannes Roberts ที่บอกว่าเนื้อหาจะกลับไปเคารพต้นฉบับมากขึ้น ผู้คนจึงรอชมว่าเนื้อหาในภาพยนตร์จะถูกนำเสนอออกมาเช่นไร

การกลับมาของ Resident Evil ที่นอกจากแฟนเกมไม่ยินดี คนดูหนังก็ไม่เอาด้วย
          อันที่จริงกระแสภาพยนตร์ภาคนี้ไม่สู้ดีมาพักใหญ่จากบรรดาคำวิจารณ์ โดยเฉพาะเมื่อตัวหนังเปิดฉายบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งตั้งแต่ปีที่แล้วจนมีผู้หาทางเข้าไปรับชม ต่างบอกออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าคุณภาพหนังย่ำแย่เลวร้าย สมกับคะแนนวิจารณ์ทั้งฝั่ง Rotten tomato ได้ไป 30% หรือ Imdb ที่ได้ไป 5.2 เต็ม 10

 

          อีกสิ่งที่ตอกย้ำความล้มเหลวของภาพยนตร์คือรายได้ แม้ปีก่อนเป็นช่วงเวลาแพร่ระบาดของโควิด, หนังจำนวนมากถูกเลื่อนฉายยาวนาน หรือการลงสตรีมมิ่งรวดเร็วเป็นตัวตัดรายได้ แต่สามารถเก็บเงินทั่วโลกไปแค่เพียง 38 ล้านเหรียญ เมื่อประเมินจากรายรับทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอ

 

          แน่นอนอาจมีบางคนโต้แย้งว่าหนังบางเรื่องไม่ทำรายได้แต่กลับประสบความสำเร็จจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง อาจหยิบตัวอย่าง The suicide squad อีกหนึ่งภาพยนตร์กึ่งรีบูทอีกเรื่องมาเป็นตัวอย่างว่า รายได้หนังเองก็ไม่ได้ดีนัก ทั่วโลกเก็บไปได้แค่ 167 ล้านจากทุนสร้างกว่า 185 ล้านเหรียญฯ แน่นอนว่าเป็นตัวเลขที่อย่างไรก็ขาดทุน

 

          แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ คะแนนจากนักวิจารณ์จากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวสูงถึง 90% เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับเสียงชื่นชมผิดกับภาคก่อน นอกจากนั้นผู้กำกับยังมีการขยายต่อยอดภาพยนตร์สู่ซีรีย์บนแพลตฟอร์ม HBO MAX อย่าง Peace maker บอกเล่าชีวิตของหนึ่งในตัวละครต่อจากที่เราได้รับชมเพิ่ม ก็ยืนยันถึงความพอใจของค่ายหนังได้ไม่ยาก

 

          ส่วนกระแสของ Resident Evil: Welcome to Raccoon City ก็เป็นอย่างที่เราได้เห็นกันคือ ไม่มีใครสนใจจะหยิบมาพูดถึงอีก และการปล่อยให้มันจางหายไปตามกาลเวลาอาจเป็นการดีที่สุด

 

ในเมื่อเคารพต้นฉบับแล้ว ทำไม Resident Evil: Welcome to Raccoon City จึงยังไม่น่าพอใจ?
          ตรงส่วนนี้หลายคนอาจสงสัยไปบ้างว่าเหตุใดจึงเป็นแบบนี้ นอกจากแฟนภาพยนตร์รุ่นเก่าที่เคยชื่นชอบ กระทั่งตลาดหลักที่ตั้งใจนำมาทำขายแฟนเกมเองยังไม่ยอมรับ ส่วนนี้สามารถแบ่งได้จากทั้งฝั่งแฟนภาพยนตร์และแฟนเกมว่า เหตุใดภาพยนตร์เรื่องนี้จึงไม่ถูกใจทั้งสองกลุ่ม
Resident Evil: Apocalypse ภาคที่น่าจะสนุกและลงตัวสุดในแฟรนไชส์
มุมมองของแฟนภาพยนตร์ - นี่ไม่ใช่ Resident Evil ที่พวกเขารู้จัก
          แน่นอนว่าแฟนภาพยนตร์ Resident Evil คุ้นเคยตัวละคร Alice มายาวนาน เนื้อหาในภาพยนตร์เองก็เป็นการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ซอมบี้ องค์กรลับ ไปจนอสูรกาย ผ่านการต่อสู้บู๊แหลกแจกกระสุนในทุกภาค จนนำไปสู่บทสรุปของเรื่องราวในภาค 6 ได้สำเร็จ ซึ่งแทบไม่มีส่วนที่ตรงเนื้อหาในเกมแม้แต่นิดเดียว

 

          ดังนั้นสำหรับแฟนภาพยนตร์ที่ไม่เคยรู้จักกับเกมมาก่อน พวกเขาอาจไม่เข้าใจสักนิดว่าทำไมถึงเดินเรื่องแบบนี้

 

          ตัวละครดำเนินเรื่องเปลี่ยนจากอลิสตัวเอกหลักเป็นตัวละครใหม่ที่พวกเขาไม่มีความรู้จักผูกพันด้วยเลย จากสาวแกร่งฝ่าดงผี สู่คู่หู แคลร์ และ ลีออน แถมการกระจายบทก็ทำออกมาได้ย่ำแย่ ประโยชน์ของลีออนต่อเนื้อเรื่องไม่ทราบแน่ชัด(ซึ่งจากพฤติกรรมหลายส่วนไม่น่าเป็นตำรวจได้) เช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ ที่พาเหรดกันออกมาแต่ไม่มีบทบาทน่าจดจำสักราย

 

          เนื้อหาเองก็วนมาพูดถึง แรคคูน ซิตี้ เมืองที่ถูกระเบิดล้างทิ้งไปในภาคสองเหมือนเป็นการเริ่มใหม่ แต่เมื่อเทียบกับการโลดแล่นและเล่าเรื่องใน Resident Evil: Apocalypse (2004) อย่างน้อยก็ทำออกมาได้ตื่นตาตื่นใจกว่ากันมาก เมื่อนำมาเปรียบเทียบหนังเรื่องนี้ทุกอย่างจึงยิ่งแย่ลงไปอีก

 

          นอกจากนี้จากภาพยนตร์แอคชั่นลุยระห่ำฝ่าดงผี เปลี่ยนแนวมาเป็นความสยองขวัญแบบคลาสสิก อาจสร้างความฉงนสักหน่อยเมื่อรับชม อีกทั้งเมื่อถึงช่วงท้ายเองการยำใหญ่ใส่สารพัดของตัวหนัง เร่งรัดขมวดปมไม่ก็ปล่อยทิ้งไปกลางทาง ทำให้ผู้ชมยิ่งไม่ชอบมากขึ้นอีก

 

          สิ่งเลวร้ายสูงสุดคือ CG ที่ใช้ภายในเรื่อง ด้วยความเป็นภาพยนตร์ทุนต่ำ การเนรมิตอะไรออกมาให้สมจริงดูเป็นเรื่องยาก แต่ด้วยการฝืนเคารพต้นฉบับจึงต้องใส่สิ่งที่มีในเกมมา นอกจากขาดความสมจริงจนดูไม่น่ากลัว ยังทำลายบรรยากาศสยองขวัญตอนต้นเรื่องไปหมด หนังจึงไม่สุดสักทางทั้งในฝั่งแอคชั่นหรือสยองขวัญก็ตาม จึงกลายเป็นหนังไม่สนุกตามระเบียบ

ลีออน เอส เคเนดี้ ตัวเอกภาคใหม่ตรงตามต้นฉบับ แต่ทำออกมาขัดใจยิ่งกว่าอลิสเสียอีก
มุมมองของแฟนเกม-ไม่แน่ใจว่าองค์ประกอบที่ใส่เข้ามาคือการเคารพหรือล้อเลียน?
          สำหรับแฟนเกมพวกเขาเข้าใจสิ่งที่ภาพยนตร์ต้องการสื่อ แต่ละฉากที่ใส่มา รวมถึงบรรยากาศสยองขวัญในช่วงแรก อาจขัดใจกับชุดและการแต่งหน้าซอมบี้ที่ดูไม่ดีหรือสมจริงบ้างก็ยังพอเข้าใจเรื่องราว การย้อนกลับมาเล่าเรื่องราวแบบที่พวกเขารู้จักเองก็น่าจะช่วยให้แฟนเกมพอใจ

 

          ติดอยู่อย่างเดียวคือการเล่าเรื่องและบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงเนื้อหาได้ไม่ถูกใจแฟนเกมเอาเสียเลย

 

          คนเดียวที่พอผ่านเกณฑ์คือ แคลร์ เรดฟิลล์ ที่บทบาทพอใช้ได้ ส่วนที่เหลือนั้นไม่มีอะไรน่าจดจำ ทั้ง คริส เรดฟิลล์, จิล วาเลนไทน์ และอัลเบิร์ต เวสเกอร์ไม่มีเวลาเล่ามากพอจนไม่มีความสำคัญเป็นแค่ตัวประกอบ แต่ร้ายแรงที่สุดคือการเปลี่ยนบท ลีออน เอส เคเนดี้ จากพระเอกสุดเท่ ให้เป็นตำรวจหน้าใหม่จอมซุ่มซ่ามทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง คือสิ่งที่แฟนเกมไม่มีทางชอบ

 

          นอกจากนี้การยำเนื้อหาจากเกม Resident Evil 1 กับ 2 เข้าด้วยก็เป็นปัญหา ด้วยตัวละครและเรื่องที่ต้องเล่าเยอะเกินไป เมื่อต้องตัดทอนความสำคัญแต่ต้องการให้ฉากกับบรรยากาศอยู่ครบ จึงจำเป็นต้องเร่ง ตัด หั่นเนื้อหาออกมากมาย แถมยังมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาหลักอีกไม่น้อย ซึ่งนั่นก็สร้างความไม่พอใจให้เพิ่มขึ้นอีก

 

          บรรยากาศสยองขวัญตอนต้นเรื่องอาจช่วยระลึกถึงบรรยากาศในเกมยุคเก่าได้บ้างแต่นั่นไม่มากพอ เมื่อเนื้อหาไม่น่าพอใจ การดำเนินเรื่องแปลกประหลาด ตัวละครขาดมิติและองค์ประกอบที่ทุกคนรัก บวกกับ CG คุณภาพแย่จนตัวประหลาดในเรื่องขาดความสมจริง ทำให้ฉากไล่ล่าสุดเร้าใจหรือการต่อสู้เอาชีวิตรอดภายในเรื่องดูฝืนรวมถึงไม่น่าตื่นเต้นเอาเสียเลย

 

          เมื่อรวมกับการพยายามยัดเยียดฉาก องค์ประกอบ หรือตัวละครจากเกมเข้ามามากเกินไป แฟนเกมบางส่วนแอบรู้สึกด้วยซ้ำว่า มันคล้ายเป็นหนังล้อเลียนจำพวก Scary movie มากกว่าการเคารพต้นฉบับเสียอีก
ตัวอย่างสื่อภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับซอมบี้ที่ผ่านมา
หรือที่สุดแล้ว Resident Evil ไม่เหมาะและไม่สามารถทำเป็นภาพยนตร์คนแสดง?
          นั่นทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาว่าสรุปแล้วคุณภาพของผู้กำกับที่ออกตัวว่าเคารพต้นฉบับออกมาได้เท่านี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาจากทางทุนสร้างไม่มากพอเนรมิตฉากในดวงใจของแฟนเกมออกมาให้สมจริง หลายคนอาจพากันไม่พอใจทั้งค่ายผู้สร้าง ผู้กำกับ และทีมงานซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เนื้อหาของเกม Resident Evil ก็อาจเป็นส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน

 

          ต้องเข้าใจว่าเกม Resident Evil ถูกสร้างครั้งแรกตั้งแต่ปี 1996 นับจากตอนี้ก็ยาวนาน 26 ปี แฟนเกมที่เคยเล่นตั้งแต่รุ่นบุกเบิกเติบโตไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับเนื้อหาภายในเกมเอง ที่แม้ในยุคนั้นอาจตื่นตา ระทึกขวัญ สร้างความเร้าใจให้แก่ผู้เล่นทั่วโลกได้ไม่ยากแต่ในปัจจุบันมันไม่ใช่

 

          สื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับซอมบี้และอาวุธไวรัสมีมากมายเกินนับไหว ทั้งหนังตะวันตกก็มี 28 days later, Dawn of the dead, Zombie land มีซีรีย์ดัง The Waking dead ฝั่งเอเชียมี Train to busan รวมถึงซีรีย์ดัง Kingdom หรือแม้แต่เกมด้วยกันยังมีแนวนี้ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ทั้ง Left 4 dead, Dying light, Scum ฯลฯ

 

          จะได้เห็นได้ว่าเราผ่านแนวสยองขวัญซอมบี้มาเกือบทุกรูปแบบจากหลากหลายสื่อเท่าที่มนุษย์จะคิดออก ถูกนำเสนอออกมาหลายมุมมอง ตั้งแต่เชิงสมจริง, แอคชั่นล้างผลาญ, สยองขวัญ, การเมือง, ดราม่า ไปจนรักโรแมนติก เรียกว่าพวกเราคุ้นเคยกับเนื้อหาพวกนี้จนชินตา

 

          ถ้าจะให้สรุปคือเราต้องยอมรับว่า เนื้อหาเกม Resident Evil ดั้งเดิม มันเก่าจนไม่ได้ตื่นตาขนาดนั้นอีกต่อไป

 

          ดังนั้นการเคารพต้นฉบับมากเกินอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในยุคสมัยนี้ต้องมีการบิดจากของเก่าบ้าง แต่การเปลี่ยนแปลงมากไปและตีความจนฉีกออกจากเดิมโดยสิ้นเชิงก็ออกจะเกินไปเสียหน่อย เช่นนั้นเราควรต้องทำใจว่าการนำเกม Resident Evil มาทำเป็นภาพยนตร์ ปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้เข้ากับสื่อประเภทนั้นๆ จะไม่มีทางดีได้งั้นหรือ? ส่วนตัวผู้เขียนไม่ได้คิดแบบนั้น
Resident Evil 7 และ Resident Evil village สองเกมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในแฟรนไชส์
การรีบูทเนื้อหาที่ถูกต้องและน่าชมเชย สู่ยุคใหม่ของแฟรนไชส์ Resident Evil 7&8
          อันที่จริงทางฝั่งเกมเองก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันอยู่ช่วงหนึ่ง ภายหลังการเปิดโลกของ Resident Evil 4 ที่ได้รับเสียงชื่นชมทั้งจากแฟนเกมหน้าเก่า หน้าใหม่ รวมถึงนวัตกรรม เล็งข้ามหัวไหล่ ที่เป็นบรรทัดฐานสำคัญของเกมแนว Third person shooting จนได้รับเสียงชื่นชนทั่วสารทิศ หลังจากนั้นไม่ช้าก็เริ่มเข้าสู่ขาลง

 

          นับแต่ Resident evil 5 เป็นต้นมาตัวเกมเปลี่ยนผ่านจากเกมสยองขวัญสู่แอคชั่นเต็มตัว อัดแน่นไปด้วยการต่อสู้ลุยแหลกเก่งกาจเหนือมนุษย์ของตัวเอก จนถึงภาค 6 ที่ทำให้แฟนเกมรุ่นเก่าจำนวนมากหมดศรัทธา ยอดขายกลับตรงข้ามสามารถทำยอดขายได้สูงสุดของแฟรนไชส์ในขณะนั้น โดยภาค 5 ขายได้ถึง 7.8 ล้านชุด ส่วนภาค  6 ขายได้ 7.7 ล้านชุด

 

          แน่นอนว่าแนวทางการเป็นเกมแอคชั่นไม่ใช่เรื่องผิดยอดขายแสดงให้เห็นชัดเจน กระนั้นหลังเสียงวิพากษ์วิจารณ์จนแฟนคลับหมดศรัทธากันในภาค 6 ทาง Capcom จึงหันไปพิจารณาแนวทางใหม่ ด้วยการเปลี่ยนแนวเกมกลับไปเป็นสยองขวัญเอาตัวรอด เปลี่ยนตัวละครดำเนินเรื่อง และเปลี่ยนเกมเป็น First person shooting ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่

 

          นี่ถือเป็นการรีบูทเนื้อหาในทางหนึ่งเพราะเนื้อเรื่องและตัวเอกล้วนสดใหม่ แค่เพียงอยู่ในโลกใบเดียวกับ Resident evil เดิมที่เรารู้จัก ทำให้เกิดความกังวลจากแฟนคลับบางส่วนขึ้นในช่วงแรก แต่เมื่อตัวเกมออกวางจำหน่ายทุกคนก็ต้องเปลี่ยนความคิด จนยก Resident evil 7 ให้เป็นอีกหนึ่งเกมขึ้นหิ้งของแฟรนไชส์นับแต่นั้น

 

          นั่นทำให้ทางบริษัทไม่รอช้าสานต่อจากภาคดังกล่าวออกมาเป็นเกม Resident evil village ภาคล่าสุดที่ถือเป็นการตอกย้ำว่าแนวทางนี้ประสบความสำเร็จเพียงไร ด้วยยอดขายถล่มทลายกว่า 5.7 ล้านชุดหลังวางขายในเวลาไม่ถึงปี เช่นเดียวกับ Resident evil 7 ที่ทำยอดขายทะลุ 10 ล้านชุด ขึ้นแท่นขายดีสูงสุดในซีรีย์เป็นที่เรียบร้อย

 

          เห็นได้ชัดว่าแนวทางการเปลี่ยนเรื่องราวรวมถึงตัวเอกใหม่ แม้มีกระแสต่อต้านในทีแรกแต่เมื่อสามารถดำเนินเรื่องยอดเยี่ยม มีเนื้อหาที่ดี รวมถึงบทสรุปอันตราตรึง ก็สามารถทำให้ผู้คนรักและผูกพันกับตัวละครได้ในที่สุด

 

          แน่นอนไม่ได้หมายความว่า Resident evil ฉบับภาพยนตร์ต้องทำตามเกมไปเสียหมด ที่มันออกมาซาบซึ้งกินใจจนผู้คนทั่วโลกรักใคร่อาจเพราะเป็นการดำเนินเรื่องแบบวีดีโอเกม อย่างไรก็ดีมันแสดงให้เห็นแล้วว่า แม้ต้องหักดิบฉีกแนวทางจากเดิมไปบ้าง แต่หากเป็นงานที่มีคุณภาพ เคารพต้นฉบับ และใส่ใจแฟนๆ ทุกคนก็พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่เช่นกัน

 

          คงได้แต่คาดหวังว่าสักวันแฟรนไชส์นี้จะตกไปอยู่ในมือของผู้กำกับและทีมสร้างที่เข้าใจ มองเห็นศักยภาพ ดึงเอาเสน่ห์ของเกมออกมาถ่ายทอดบนแผ่นฟิล์มได้เท่านั้นกระมัง เราจึงจะสามารถเห็น Resident evil ผงาดขึ้นมาในโลกของภาพยนตร์ขึ้นมาได้บ้าง

 

          และอย่างที่เรารู้กันว่า Resident Evil: Welcome to Raccoon City ยังห่างไกลจากคำตอบนี้อีกมาก

--------------------
ที่มา