svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ขึ้นได้อีก! วิกฤตราคาอาหารโลก พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปีเป็นประวัติการณ์

ปัญหาปากท้องถือเป็นปัญหาต้นๆที่ส่งผลต่อคุณภาพของชีวิตประชากร ในขณะที่ราคาอาหารโลกพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 10 ปี ประเทศเรามีวิธีรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยพยุงปากท้องคนไทยหรือไม่?

          พอเป็นเรื่องปากท้องเมื่อไหร่ ย่อมถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับประชาคมโลก วิกฤตราคาอาหารแพงถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วทั้งโลกต่างเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ เมื่อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้น นั้นแปลว่าเราต้องหักส่วนรายได้เพื่อมาใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้น สำหรับประเทศที่ค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน อาจส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อยประปราย แต่สำหรับประเทศที่รายได้ต่อหัวประชากรยังอยู่ในเรตที่ไม่สูงนัก วิกฤตครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาอย่างแน่นอน

ราคาอาหารโลก แพงสุดในรอบ 10 ปี ราคาอาหารโลก แพงสุดในรอบ 10 ปี
          องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ออกมาเปิดเผยข้อมูลสุดทึ่ง ส่อวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก โดยจากรายงาน FAO ระบุว่าดัชนีราคาอาหาร ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้า อาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล มีค่าเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 133.7 จากระดับ 134.9 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 64 ซึ่งถือเป็นเดือนที่ 4 แล้วที่ดัชนีเพิ่มสูงขึ้น และยังเป็นระดับที่พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี

 

          ซึ่งหากพิจารณารวมทั้งปี 2564 แล้วดัชนีที่ว่าจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 125.7 เพิ่มขึ้น 28.1% เทียบกับปี 2563 และถือเป็นระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่แตะระดับ 131.9 ในปี 2554 หรือ 10 ปีก่อน

 

          โดยราคาในกลุ่มธัญพืชและผลิตภัณฑ์จากนม เป็นกลุ่มที่ราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ตามมาด้วยน้ำตาล ในขณะที่ราคาเนื้อสัตว์และน้ำมันพืชในเดือนพฤศจิกายนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

ราคาอาหารโลก มีอัตราเพิ่มขึ้น

ราคาอาหารโลก มีอัตราเพิ่มขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์?
          ตามข้อมูลของสหประชาชาติ (UN) ราคาอาหารกลุ่มธัญพืชในเดือนพฤศจิกายน 2564 พุ่งขึ้นสูงถึง 23.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยราคาข้าวสาลีทะยานสูงขึ้นเป็นระยะเวลา 5 เดือนติดต่อกันและในขณะนี้ถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2554 ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มธัญพืชราคาพุ่งแรงขนาดนี้เกิดจากปัญหาสภาพแวดล้อมในประเทศออสเตรเลีย ที่เกิดฝนตกก่อนฤดูกาล จึงทำให้การเก็บเกี่ยวและผลผลิตดิ่งลงเหว รวมถึงนโยบายการเปลี่ยนแปลงการส่งออกในประเทศรัสเซีย

 

          ผลิตภัณฑ์นมมีดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้น 19.1% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนของปี 2563 เนื่องจากความต้องการบริโภคนมและเนยของตลาดที่เพิ่มขึ้น แต่สต็อกสินค้ากลับหมดเกลี้ยงไม่เพียงพอต่อความต้องการ

 

          ตัดภาพมาที่ราคาน้ำตาลในเดือนพฤศจิกายน 2564 จากข้อมูลของ FAO เฉลี่ยอยู่ที่ 120.7 จุด และสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 40% ในขณะที่เนื้อสัตว์ ร่วงลง 0.9% จากเดือนตุลาคม และลดลงเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน แต่เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ยังถือว่าสูงกว่าถึง 17.6%

 

อะไรที่ก่อให้เกิดวิกฤตราคาอาหารแพง?
          แน่นอนว่าปัจจัยภายนอกที่เราไม่สามารถควบคุมได้อย่าง “อัตราเงินเฟ้อ” เป็นสาเหตุต้นๆที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์นี้ นอกจากนี้สิ่งจำเป็นสำหรับอุปโภคบริโภคที่เคยขาดตลาดและลดกำลังการผลิตลงในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จึงทำให้อุปสงค์และอุปทานในตลาดเป็นไปอย่างไม่สอดคล้องกัน ความต้องการในการบริโภคมีมากกว่าที่กำลังการผลิตจะสามารถทำได้ จึงส่งผลให้เกิดวิกฤตราคาอาหารแพงเกิดขึ้น

ราคาอาหารแพงส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกอย่างไร?

ราคาอาหารแพงส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกอย่างไร? 
          แน่นอนว่าราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชากรที่มีรายได้ต่อหัวไม่สูงนัก หรือแม้กระทั่งพนักงานประจำที่มีรายได้ต่อเดือนอย่างสม่ำเสมอ ในยุคนี้ก็ยังถือว่าได้รับผลกระทบและลำบากไปตามๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาสินค้าที่พุ่งสูงดันเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ข้าว ขนมปัง เนื้อสัตว์ นม ไข่ สัดส่วนรายได้ที่ต้องแบ่งมาใช้ในส่วนนี้จึงเพิ่มสูงขึ้นตาม

 

          ผลกระทบที่ตกยังผู้บริโภคโดยตรง ยังส่งผลต่อให้ธนาคารกลางทั่วโลกเผชิญกับความยากลำบากเช่นกัน เนื่องจากธนาคารอาจต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคาจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ก็เสี่ยงต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ในเวลานี้มีความเปราะบางอยู่มาก

ราคาอาหารในประเทศไทยก็พุ่งขึ้นไม่หยุด
แพงทั้งโลกทั่วแผ่นดิน คนไทยยังไหวไหม? 
          หลังผ่านปีใหม่มาไม่เท่าไหร่ ข่าวคราวค่าอาหารแพงซัดโหมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ผู้ประกอบการร้านบุฟเฟ่ต์หลายเจ้าเริ่มทยอยออกมาขอเพิ่มค่าบริการ เนื่องจากวัตถุดิบในครัวแต่ละอย่างล้วนแพงขึ้นทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเนื้อหมูที่เดิมราคา 180 บาทต่อกิโลกรัม ก็ขึ้นราคาสูงถึง 250 บาทต่อกิโลกรัม และคาดการณ์ว่าราคาอาจบานปลายถึง 300 บาทต่อกิโลกรัมได้ หากรัฐยังไม่รีบออกมาแก้ไขหรือตรึงราคาไว้

 

          นอกจากนี้เนื้อไก่ เนื้อเป็ด ไข่ แก๊สหุงต้ม LPG ค่าโดยสารสาธารณะบางชนิด เริ่มมีการขอขยับราคาขึ้นตาม ซึ่งเป็นที่น่ากังวลว่า ในขณะที่คนไทยรายได้เท่าเดิม แต่ยังต้องเผชิญกับวิกฤตเงินเฟ้อ ข้าวยากหมากแพง แล้วเรายังจะสามารถอยู่กันได้อย่างนี้จริงๆหรือ? นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่? แน่นอนว่าอาจส่งผลให้ราคาสินค้าในท้องตลาดเพิ่มขึ้นไปอีก แต่การดำเนินงานตามนโยบายนี้รัฐควรมีส่วนมาช่วยตรึงราคาตลาดร่วมด้วย เพื่อให้สัดส่วนรายรับและรายจ่ายของคนในประเทศสอดคล้องกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ทนกัดฟันอยู่กับปัญหาจนด้านชาอย่างที่เคยเป็นมา  

--------------------
อ้างอิง: