สิ้นสุดเดือนตุลาคมกับฤดูน้ำหลากที่กำลังจะหมดไป ทดแทนด้วยฤดูหนาวที่พยากรณ์อากาศบอกว่านี่จะเป็นปีที่หนาวนานและมากที่สุด เมื่อรวมกับสถานการณ์ระบาดของโควิดยังไม่ทันคลี่คลาย ปีนี้เราจึงต้องเฝ้าระวังรักษาสุขภาพของเราภายใต้ลมหนาวนี้ยิ่งขึ้น เพราะหากเกิดการล้มป่วยขึ้นมาอาจนำไปสู่การติดเชื้อโรคร้ายแรงได้ไม่ยาก
ดังนั้นเราจะมาพูดถึงโรคภัยที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในฤดูหนาว เพื่อให้ผู้อ่านสามารถระมัดระวังตัวเองได้มากขึ้น
1. ไข้หวัด
โรคสามัญประจำบ้านที่มาเยี่ยมเยือนเราได้ทุกช่วงเวลาของปี แต่มีโอกาสแพร่ระบาดมากขึ้นในฤดูหนาว แม้เราเคยผ่านการเป็นหวัดมาหลายครั้งในชีวิตก็สามารถเป็นซ้ำได้ เพราะไวรัสต้นตอของโรคมีมากมายเป็นร้อยเป็นพันชนิดอีกทั้งสามารถแพร่กระจายไปในอากาศได้ จึงเป็นอีกโรคที่เราจำเป็นต้องเฝ้าระวัง
เดิมทีนี่เป็นโรคที่เรียบง่ายไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แค่รักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารครบห้าหมู่ก็รักษาได้ไม่ยาก ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเมื่อมันคาบเกี่ยวกับการระบาดของโควิด เมื่อตอนนี้การแพร่ระบาดยังไม่ยุติ การล้มป่วยอาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดต่ำจนติดเชื้ออื่นได้ง่ายตามไปด้วย
โชคดีที่วิธีการป้องกันโรคโดยพื้นฐานไม่ได้ต่างจากโควิด อาศัยการรักษาระยะห่าง ล้างมือ และสวมหน้ากากก็มากพอ อาจต้องเพิ่มเติมเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มการรักษาสุขภาพขึ้นอีกหน่อย แต่จะทำให้เราสามารถรอดพ้นจากโรคนี้ได้ไม่ยาก
2. ไข้หวัดใหญ่
อีกหนึ่งโรคสามัญประจำฤดูหนาวที่พบเห็นได้เกือบทั่วไป แท้จริงพื้นฐานของไข้หวัดกับไข้หวัดใหญ่ไม่ได้แตกต่างกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มีความรุนแรงรวมถึงโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า จึงถือว่ามีความอันตรายจำเป็นต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอย่างเด็กและคนชรา
การระบาดของไข้หวัดใหญ่เป็นไปได้กว้างขวางโดยเฉพาะเมื่อเกิดสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ที่เราได้เห็นกันไปแล้วคือการระบาดของโควิดที่คร่าชีวิคผู้คนไปนับล้าน อีกทั้งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคยังมีอัตราการเปลี่ยนแปลงลักษณะของโปรตีน อาจกลายพันธุ์จนทำให้เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ และเกิดการติดเชื้อซ้ำได้แม้ในผู้ที่เคยล้มป่วยมาแล้ว
การเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างสำคัญเพราะมีโอกาสสับสนกับผู้ป่วยโควิด นั่นยิ่งทำให้เราต้องเฝ้าระวังตัวเองให้ดี วิธีป้องกันโรคนี้มีลักษณะใกล้เคียงหวัดหรือก็คือมาตรการควบคุมโรคที่แพร่หลายในปัจจุบัน รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันไว้ล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งไข้หวัดใหญ่ทั่วไปและโควิด
3. ปอดอักเสบ
โรคที่พบบ่อยในฤดูหนาว อาจเกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสกับไข้หวัดใหญ่บางชนิดหรือมาจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นอาการที่สร้างความเสียหายร้ายแรงให้แก่ปอดจนอาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ นี่จึงเป็นอีกโรคที่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง
อาการที่เกิดขึ้นคือไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อโรคภายในร่างกายเข้าทำลายเนื้อเยื่อปอด ถุงลม หรือระบบการหายใจ ทำให้ปอดไม่สามารถดูดซึมออกซิเจนและทำงานได้ตามปกติ เกิดขึ้นได้ง่ายจากอาการติดเชื้อในปอด โดยเฉพาะกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ล่าสุดอย่างโควิด ที่สามารถสร้างความเสียหายร้ายแรงถาวรให้แก่ปอด
วิธีป้องกันในปัจจุบันมีเพียงการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง รักษามาตราป้องกันโรค ยับยั้งต้นตอของโรคอย่างอาการหวัดหรือการติดเชื้อ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และโควิดเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า อีกทั้งเมื่อมีอาการแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หรือเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร่งด่วน
4. อาการหอบหืดและโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
ผู้ป่วยโรคหอบหรือทางเดินหายใจเรื้องรั้งอาจมีอาการกำเริบหนักขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ด้วยความเย็นค่อนข้างส่งผลกระทบกับร่างกาย รวมถึงทำให้ภูมิคุ้มกันในตัวอ่อนแอลง โดยเฉพาะในฤดูการระบาดของไข้หวัด หรือท่ามกลางสถานการณ์ระบาดของโควิดในปัจจุบัน
ผู้ป่วยโรคเหล่านี้ควรรักษาสุขภาพระมัดระวังตัวเองมากกว่าปกติ ป้องกันไม่ให้ล้มป่วยหรือติดเชื้อจนอาการกำเริบมากขึ้น รับการฉีดวัคซีนป้องกันทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิดไว้ล่วงหน้า รวมถึงต้องพกยาคอยติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อในกรณีที่เกิดความผิดปกติจะได้ปรึกษาแพทย์ทันท่วงที
5. ภาวะตัวเย็นเกินหรือสูญเสียอุณหภูมิในร่างกายฉับพลัน
ภาวะสูญเสียอุณหภูมิในร่างกายคืออีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นง่ายในฤดูหนาว เกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียอุณหภูมิจนลดต่ำกว่า 35 องศาเซลเซียส อาจส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกาย มีตั้งแต่อาการหนาวสั่น อ่อนเพลีย หายใจถี่ สติสัมปชัญญะลด ชีพจรเต้นอ่อน และอาจทำให้เกิดสภาวะช็อกนำไปสู่การเสียชีวิตได้
อาการเหล่านี้พบมากในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับตัวกับอากาศเย็นและเกิดผลกระทบได้มาก รวมถึงผู้มีน้ำหนักน้อยไปจนผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอัตราการรักษาอุณหภูมิในร่างกายไม่ดีนัก ต้องเฝ้าระวังอาการเหล่านี้เป็นพิเศษโดยเฉพาะในพื้นที่หนาวเย็น
วิธีป้องกันโรคนี้คือรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่น ทานอาหารให้ครบห้าหมู่ รักษาสุขภาพ แต่หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นควรเคลื่อนไหวผู้ป่วยให้น้อย เร่งเพิ่มความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่หลีกเลี่ยงการให้สัมผัสความร้อนโดยตรงเพราะอาจทำให้เกิดอาการช็อก และคอยเฝ้าระวังการหยุดหายใจหรือชีพจรหยุดเต้น
-------------------
ที่มา: