svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ปลุกตำนานเพลงก้องโลก.. เมื่อให้ AI จบงานให้ ‘เบโธเฟน’

200 ปีก่อน นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงผู้เป็นตำนานระดับโลกอย่าง ‘เบโธเฟน’ ได้จากไปโดยทิ้งบทเพลงที่ยังประพันธ์ไว้ไม่จบ นั่นคือบทเพลง Symphony หมายเลข 10 มาวันนี้ ได้มี ‘คน’ มาสานต่อ แต่คนในที่นี่ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

Highlights

  • บทเพลง Symphony หมายเลข 9 ของเบโธเฟน ชายหูหนวกผู้แหวกกฏการประพันธ์เพลงซิมโฟนี
  • บทเพลง Symphony หมายเลข 10 ที่ยังคงแต่งไม่จบของเบโธเฟนได้รับการสานต่อด้วยเทคโนโลยี AI 
  • เรื่องราวของเบโธเฟน นักประพันธ์เพลงผู้รุมเร้าไปด้วยโรคร้ายแต่กลับเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง

--------------------

ภาพวาดเบโธเฟน นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงผู้เป็นตำนานระดับโลก           200 ปีก่อน นักดนตรีและนักประพันธ์เพลงผู้เป็นตำนานระดับโลกอย่าง ‘เบโธเฟน’ ได้จากไปโดยทิ้งบทเพลงที่ยังประพันธ์ไว้ไม่จบ .. นั่นคือบทเพลง Symphony หมายเลข 10 

 

          หลังจากที่เบโธเฟนประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับบทเพลง Symphony หมายเลข 9 ที่ได้สร้างตำนานบทใหม่ให้แก่วงการเพลงคลาสสิกนับไม่ถ้วน จึงทำให้ความคาดหวังในบทเพลงหมายเลข 10 ท่ามกลางหมู่นักฟังพุ่งทะยานขึ้นสูงสุด ฉับพลันความหวังก็ดับวูบ เมื่อเบโธเฟนไม่สามารถต่อสู้กับโรคร้ายในร่างกายได้อีกต่อไป ทิ้งไว้แค่เพียงบทเพลงที่ไม่ปะติดปะต่อกันเท่านั้น!

 

          ผ่านมา 200 ปี ไม่มีใครกล้าแตะต้องบทเพลงนี้ แม้จะจินตนาการบรรเจิดไปไหนต่อไหนถึงความไพเราะและความยิ่งใหญ่ของบทเพลงนี้ หากเบโธเฟนสานต่อจนจบ

 

          เช่นเดียวกับที่เจมส์ คาเมรอน มีภาพภาพยนตร์ Avatar ในใจแต่ไม่สามารถสร้างได้เพราะเทคโนโลยียังไปได้ไม่ถึง

 

          มาวันนี้บทเพลง Symphony หมายเลข 10 ได้มี ‘คน’ มาสานต่อ แต่คนในที่นี่ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

 

Symphony หมายเลข 9
          ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย วันที่ 7 พ.ค. ปี 1824 บุคคลสำคัญต่างตื่นเต้นและทยอยมารวมตัวกันที่โรงละคร Kärntnertortheater เพื่อรับชมการแสดงรอบปฐมทัศน์บทเพลง Symphomy หมายเลข 9 ของ ‘ลุดวิก แวน เบโธเฟน’ หลังจากที่เขาห่างหายไปจากวงการนาน 12 ปีเนื่องจากอาการเจ็บป่วยที่รุมเร้าหลายโรค


          บทเพลงที่ผู้ชมได้ยินในวันนั้น แปลกประหลาดกว่าเพลงซิมโฟนีที่เคยได้ยิน 

          เมื่อเพลงบรรเลงมาจนถึงท่อนสุดท้ายกลับปรากฏเสียงขับร้องจากนักร้องประสานเสียงที่ได้นำบทกวี Ode to joy (แด่ความปิติภิรมย์) ของฟริดดิช ฟอน ชิลเลอร์ กวีนิพนธ์ชาวเยอรมัน ที่มีเนื้อหากล่าวถึงความปิติรื่นรมย์ในชีวิตที่พระเจ้าสรรสร้างและซ่อนอยู่ในธรรมชาติรอบตัว มาขับร้องคลอไปกับเสียงจากเครื่องบรรเลงเพลง ต่างจากขนบของเพลงซิมโฟนีปกติที่ต้องมีแต่ดนตรีบรรเลงไม่มีเสียงร้อง!

เบโธเฟนขณะบรรเลงเพลง Symphony หมายเลข 9

           เมื่อการแสดงโหมความรู้สึกของผู้คนจนเพลงจบ เบโธเฟนซึ่งยืนหันหลังให้กับผู้ชมกลับยังคงอยู่ในภวังค์เหมือนว่าบทเพลงในหัวของเขายังคงบรรเลงต่อไปไม่สิ้นสุด จนนักร้องคนหนึ่งต้องไปจับตัวเขาไว้ เขาหันมาเผชิญหน้ากับผู้ชมที่ปรบมือให้อย่างกึกก้อง .. แต่ทว่าเบโธเฟนไม่สามารถได้ยินเสียงแห่งความชื่นชมนั้นได้ เพราะเขาหูหนวก! แม้แต่ตอนที่แต่งเพลง Symphony หมายเลข 9 เขาก็ไม่เคยได้ยินเพลงของเขายกเว้นในจินตนาการเท่านั้น

 

Symphony หมายเลข 10
          หลังจากที่แต่งบทเพลงหมายเลข 9 สำเร็จ เบโธเฟนอุทิศเวลาและพลังของเขาเพื่อที่จะแต่งบทเพลงใหม่ ‘Symphony หมายเลข 10’ แต่เพิ่งแต่งได้ไม่นานเขาก็ป่วยและจากไปด้วยโรคเรื้อรังในลำไส้และตับ

 

          ในปี ค.ศ.1988 แบร์รี่ คูเปอร์ นักคีตวิทยาจากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส อ้างว่าได้พบกับโน้ตเพลงที่กระจัดกระจายจำนวน 250 เส้นโน้ต ซึ่งเคยมีการถูกพูดถึงในสมัยที่เบโธเฟนยังมีชีวิตอยู่ ว่าเขาได้บรรเลงเพลงนี้บางส่วนให้ คาร์ล โฮลซ์ เพื่อนนักไวโอลินได้ฟัง .. แบร์รี่ได้รวบรวมโน้ตเพลงเหล่านี้เข้าด้วยกันจนได้ท่อนแรกและท่อนสองของเพลง แต่ทว่าก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีคลาสสิกคนไหนที่จะกล้าออกมาแต่งต่อ โดยเฉพาะเมื่อบทเพลงต้องเข้าถึงจิตวิญญาณของเบโธเฟน นักคีตกวีผู้เป็นระดับตำนานของโลก! 

โน้ตเพลง Symphony หมายเลข 10 ที่ยังคงแต่งไม่จบของเบโธเฟน

          จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2019 มาธิอัส ไรเดอร์ ผู้อำนวยการสถาบัน Karajan สถาบันชั้นนำด้านดนตรีคลาสสิกระดับโลก ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่มีความสนใจและค้นคว้าด้านเทคโนโลยีดนตรีมาอย่างต่อเนื่อง ได้เกิดโครงการที่จะแต่งบทเพลง Symphony หมายเลข 10 นี้ให้จบโดยใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาอุดรอยรั่วในสิ่งที่ ‘คน’ ไม่กล้าทำ

 

          ความยากของการแต่งบทเพลงนี้คือเบโธเฟนมีผลงานเพลงซิมโฟนีแค่เพียง 9 เพลงเท่านั้น ซึ่งน้อยไปสำหรับเป็นข้อมูลการประมวลผลของ AI และไม่สามารถใช้สำหรับคาดการณ์ว่าบทเพลงหมายเลข 10 จะแต่งต่ออย่างไรได้

 

          สิ่งที่ระบบสมองอัจฉริยะต้องทำคือ การถูกป้อนข้อมูลความรู้เรื่องดนตรีคลาสสิกในยุคศตวรรษที่ 18 ทั้งหมด ตั้งแต่ดนตรีของนักประพันธ์เพลงชื่อดังอย่างบาค (Bach) ไปจนถึงดนตรีของโมสาร์ท เรียนรู้เรื่องดนตรีและวิธีการแต่งเพลงคลาสสิก เรียนรู้ผลงานทุกชิ้นของเบโธเฟน เรียนรู้วิธีการสร้างสรรค์ผลงานของเบโธเฟนในทุก ๆ ความเป็นไปได้ เรียนรู้แรงจูงใจในการแต่งเพลงของเบโธเฟน นอกจากนี้มันยังได้ทำงานร่วมกับนักประพันธ์เพลงหลายคน อาทินักประพันธ์เพลงชาวออสเตรีย วอลเทอร์ เวอร์โซวา ที่พยายามคิดรูปแบบเพลงโดยอิงจากตัวโน้ตที่มีและวิธีการที่เป็นไปได้ทั้งหมดกว่าหลายร้อยรูปแบบป้อนให้แก่ AI เพื่อให้ระบบได้ประมวลผลทุกอย่างและสร้างบทเพลงหมายเลข 10 ที่ขาดหายไป

 

          ‘ทุกเช้าผมจะรีบวิ่งไปดูที่คอมพิวเตอร์ เพราะตอนกลางคืนระบบจะประมวลผลและให้ความเป็นไปได้หลายร้อยรูปแบบ.. และมันมักจะเป็นเช้าที่สวยงามเสมอ เมื่อได้จิบชาและฟังบทเพลงเหล่านี้ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเบโธเฟน’ การบรรเลงเพลง Symphony หมายเลข 10 โดยวงออร์เคสตร้า           พวกเขาใช้เวลาทั้งสิ้นกว่า 2 ปีและล่าช้ากว่ากำหนดการเนื่องจากปัญหาสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา บทเพลง Symphony หมายเลข 10 ที่เสร็จสมบูรณ์ได้ถูกบรรเลงให้โลกได้ฟังเป็นครั้งแรกโดยวง The Beethoven Orchestra Bonn วงออร์เคสตร้าประจำเมืองบอนน์ บ้านเกิดของเบโธเฟนนั่นเอง

 

          อย่างไรก็ตามก็มีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับบทเพลงดังกล่าว

          ระบบ AI จะสามารถถ่ายทอดจิตวิญญาณ ความแตกสลาย และความหวังในชีวิต ได้ทัดเทียมกับเบโธเฟนหรือไม่ เพราะมันไม่เคยผ่านสิ่งเหล่านี้มาก่อน? 

 

แด่ความปิติภิรมย์.. จิตวิญญาณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังของเบโธเฟน
          รูปภาพหลายภาพของเบโธเฟน ปรากฏชายผู้ที่มีสีหน้าไม่ค่อยภิรมย์กับโลกเท่าไหร่นัก

 

          เบโธเฟนเกิดมาในครอบครัวนักดนตรี พ่อของเขาเป็นนักร้องประจำราชสำนัก และตั้งความหวังให้ลูกชายโด่งดังและยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับโมสาร์ท  พ่อของเขาจึงสอนดนตรีให้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และหวังว่าเบโธเฟนจะสามารถเป็นนักดนตรีอัจฉริยะและหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบเช่นเดียวกับโมสาร์ท จึงทำให้พ่อเข้มงวดกับลูกชายเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกับพ่อของเบโธเฟนก็ติดสุราเรื้อรัง 

เบโธเฟนขณะมีอายุได้ 13 ปี

          แม้เบโธเฟนจะสามารถหาเงินให้กับครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ แต่เงินทั้งหมดก็ลงไปที่ขวดเหล้าของพ่อจนหมด เมื่อเขาอายุได้ 16 ปี แม่เป็นวัณโรคเสียชีวิต ทำให้เบโธเฟนเสียใจอย่างหนัก เช่นเดียวกับพ่อของเขาที่เอาความเศร้าไปลงขวดเหล้าหนักกว่าเดิม เบโธเฟนจึงต้องรับหน้าที่หาเงินเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยน้องชายอีก 2 คนแทนพ่อ ซึ่งภายหลังถูกไล่ออกจากงานทั้งหมด 

 

          ภายหลังจากที่พ่อเสียชีวิต เบโธเฟนเริ่มประสบความสำเร็จในฐานะนักเปียโนเอกชื่อดัง และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ความลำบากก็เยื้องย่างเข้าสู่ชีวิตเขาอีกครั้งเมื่อเขาเริ่มหูตึง การได้ยินเริ่มถดถอยและย่ำแย่ลงอย่างหนัก เบโธเฟนต้องปกปิดเรื่องนี้อย่างที่สุดจนกระทั่งเขามีชื่อเสียงโด่งดัง เพราะในสภาพสังคมสมัยนั้นต่างเหยียดหยามและกลั่นแกล้งคนพิการ  .. เบโธเฟนเคยเขียนถึงปัญหาการไม่ได้ยินของเขาในจดหมายที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘พินัยกรรมไฮลิเกนชตัดท์" (Heiligenstadt Testament)  ที่ส่งไปให้น้องชายว่า

 

          "ไม่รู้จะยอมรับอย่างไรกับความอ่อนแอของประสาทสัมผัสในตัวพี่ที่ควรจะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แบบกว่าใคร ๆ ประสาทรับเสียงที่ครั้งหนึ่งเคยยอดเยี่ยมที่สุดชนิดที่คนในอาชีพของพี่เพียงไม่กี่คนที่จะมีประสาทสัมผัสเช่นนี้"

 

          สำหรับผู้เขียน หากจะหาสิ่งไหนทรงพลังเทียบเท่าบทเพลงอันไพเราะของเขา
          สิ่งนั้นก็คือแนวคิดและพลังใจในการดำเนินชีวิตของนักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่คนนี้
          ที่ทำให้เข้าใจถึงประโยคที่ว่า ตราบเท่าที่มีชีวิต..ย่อมมีหวัง

 

          เบโธเฟนใช้อุปสรรคในชีวิต เป็นตัวขับเคลื่อนบทเพลงของเขาให้แตกต่างจากเพลงคลาสสิกอื่น ๆ ในยุค ..
          บทเพลงที่ไม่ใช่แค่ความบันเทิงแต่สะท้อนความนึกคิดและจิตใจ
          บทเพลงที่ทรงพลังไม่ใช่แค่เพราะโน้ตดนตรี แต่มีจิตวิญญาณของชีวิตที่อาบไปด้วยความสุขและความหวังอยู่ในนั้น!
          เพราะเมื่อไม่อาจได้ยิน เบโธเฟนกลับใช้จินตนาการ มันสมอง และจิตใจที่จะเข้าถึงบทเพลงของเขามากกว่าเดิม
          และเมื่อต้องเผชิญกับโรคร้ายรุมเร้า บทเพลงของเบโธเฟนกลับไม่ได้ขุ่นมัวเหมือนชีวิตของเขา ตรงกันข้ามมันกลับมอบความหวังในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ที่ได้ยินเสมอ อย่างเช่นการใส่บทกวี ode to joy :แด่ความปิติภิรมย์ ลงในบทเพลง Symphony หมายเลข 9 และท่วงทำนองดนตรีที่เล่าเรื่องราวแห่งความปิติในผลงานอื่น ๆ อีกมากมาย
          แม้สุดท้ายเขาจะยังคงมีปัญหาทางการได้ยิน และต้องเสียชีวิตไปในวัยเพียง 56 ปีก็ตาม

ภาพงานศพของเบโธเฟนที่มีฝูงชนมาร่วมแสดงความเสียใจอย่างล้นหลาม           เมื่อหันกลับไปมองบทเพลง Symphony หมายเลข 10 ความไพเราะและความเป็นบทเพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากเบโธเฟนก็ยังคงปรากฏอยู่ในนั้น เพราะเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันทำอะไรได้มากกว่าที่เราคาดคิด สำหรับเวอร์โซวา ผู้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสานต่อเพลงซิมโฟนี หมายเลข 10 เขาเชื่อว่าแม้ AI จะไม่ได้ผ่านสถานการณ์เหล่านี้มา แต่ผลลัพธ์ของเรื่องราวที่ได้ก็หนีไม่พ้นตัวโน้ตและรูปแบบการแต่งเพลงกว่าหลายพันรูปแบบที่ AI เรียนรู้มาทั้งหมด .. 


          ถึงกระนั้น หลายคนก็อยากรู้ว่าหากเบโธเฟนได้ยินเพลงนี้ เขาจะชอบมันหรือไม่?

 

*** สามารถเข้าไปรับฟังบทเพลง Symphony หมายเลข 10 ได้ที่นี่

พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์

--------------------

ที่มา: