svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

ตามหาเกาะโจรสลัด ‘เบอลากัง ปาดัง’ พบกับโจรสลัดตัวจริงที่ไม่อิงภาพยนตร์

เดินทางไปยังเกาะโจรสลัด ‘เบอลากัง ปาดัง’ เพื่อพบกับโจรสลัดตัวจริงในยุคศตวรรษที่ 21 ร่วมเดินทางย้อนประวัติศาสตร์โจรสลัดในช่องแคบมะละกา ทำไมที่นี่จึงมีโจรสลัดชุกชุม? และการต่อกรกับโจรสลัดในศตวรรษที่ 21

Highlights

  • เดินทางลงไปยังเกาะโจรสลัดที่เบอลากัง ปาดัง เกาะที่เลื่องชื่อว่าเป็นแหล่งกบดานของโจรสลัด
  • โจรสลัดผู้ทรงเกียรติ  เปิดประวัติโจรสลัดในอดีต เมื่อพวกเขาคือกองกำลังสำคัญในการต่อกรกับจักรวรรดิตะวันตก
  • โจรสลัดยุคใหม่  เมื่อโจรสลัดกลายเป็นโจรเต็มตัว 
  • การต่อกรกับโจรสลัดในศตวรรษที่ 21 และผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19

--------------------

          9 ปีก่อน บนเกาะเล็ก ๆ ที่ชื่อ ‘เบอลากัง ปาดัง’ เมืองบาตัม หมู่เกาะริเยา ของประเทศอินโดนิเซีย
          ชายที่มีรอยบากอยู่บนใบหน้ายืนรออยู่หน้าโรงแรมที่เกือบร้าง เพื่อรอต้อนรับคณะเดินทางจากต่างแดน
          ไม่บ่อยครั้งที่จะมีคนจากภายนอกเดินทางเข้ามายังเกาะแห่งนี้ เพราะที่นี่ไม่ใช่หมุดหมายของการท่องเที่ยวเท่ากับที่เมืองบาตัม

เกาะเบอลากัง ปาดัง ในปัจจุบัน

          ‘เบอลากัง ปาดัง’ เป็นแค่เกาะเล็ก ๆ ที่ทอดตัวอยู่ในช่องแคบมะละกา  ช่องแคบทางทะเลที่มีพรมแดนติดกับ 4 ประเทศได้แก่ อินโดนิเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ช่องแคบแห่งนี้พลุกพล่านไปด้วยเรือขนส่งสินค้าจากทั่วโลกจำนวนกว่า 200 ลำต่อวันหรือกว่า 100,000 ลำต่อปี เนื่องจากเป็นเส้นทางการค้าระหว่างจีน อินเดีย อ่าวเปอร์เซียและยุโรป ..มันจึงเป็นเส้นทางสายการค้าทางทะเลที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

 

           ส่วนเบอลากัง ปาดัง แม้จะเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ตรงเส้นทางการค้า แต่ไม่เหมือนกับร้านค้าที่ตั้งอยู่ในย่านที่คนพลุกพล่าน เกาะแห่งนี้เงียบสนิท มีแต่บ้านเรือนของผู้คนที่ไม่ได้ร่ำรวยมากนัก โดยส่วนใหญ่ชาวบ้านจะยึดอาชีพประมง และไปเป็นแรงงานในเมืองเสียมากกว่าเพราะฉะนั้นสถานที่ซึ่งพลุกพล่านที่สุดก็คงจะเป็นตลาดเช้าและท่าเรือ

          ‘อเล็กซ์’ ชายผู้มีรอยบากบนใบหน้าจึงต้อนรับขับสู้คณะเดินทางที่มีผู้เขียนเป็นหนึ่งในนั้นอย่างดี  แม้ว่าต้องแลกกับข้อมูลเรื่องของ ‘โจรสลัด’ เล็ก ๆ น้อยก็ตาม  เพราะเกาะเบอลากังปาดังแห่งนี้แม้จะเงียบเหงา แต่มันถูกรู้จักเป็นอย่างดีจากคนในท้องที่ในฐานะแหล่งกบดานสำคัญของโจรสลัดในช่องแคบมะละกามานานนับศตวรรษ!

หมู่เกาะริเยา ประเทศอินโดนิเซีย ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยจำนวนมากซึ่งกลายเป็นที่ซ่อนตัวอย่างดี

โจรสลัด จากอิสรชนสู่อาชญากร
          เรื่องราวของ ‘โจรสลัด’ ในจินตนาการของใครหลายคน ถูกแต่งแต้มสีสันจากภาพยนตร์หรือการ์ตูน จนกลายเป็นที่ชื่นชอบของคนดู  คาแรกเตอร์ของตัวละคร ‘โจรสลัด’ มักจะมาจากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อล่วงเลยมานาน

 

          แต่เดิมโจรสลัดเป็นอิสรชน ที่ต้องการใช้ชีวิตโดยไม่มีข้อผูกมัดและไม่อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ใด  ๆ เหมือนการอยู่บนบก เพราะพวกเขาสามารถจับปลาหรือแม้กระทั่งค้าขายบนเรือได้อย่างเสรี  พระฟาเฉียนบ่งชี้ชัดถึงการมีอยู่ของโจรสลัดในช่องแคบมะละกาตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล  

 

          บันทึกเรื่องราวของโจรสลัดปรากฏตัวขึ้นอย่างเด่นชัดในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เมื่อมีการมอบหมายให้โจรสลัดช่วยอาณาจักรเก็บภาษีเรือที่แล่นเข้าน่านน้ำ อีกทั้งพวกเขายังเป็นกองกำลังสำคัญที่ช่วยป้องกันอาณาจักรจากการรุกรานของอาณาจักรใกล้เคียง จนกระทั่งอาณาจักรศรีวิชัยถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมะละกา โจรสลัดก็มีส่วนร่วมในการสู้รบจนสร้างจักรวรรดิขึ้นมาได้ และได้รับการยกย่องจากเจ้านายและกษัตริย์เป็นอย่างมาก

 

          โจรสลัดส่วนใหญ่ในสมัยนั้นเป็น ‘ชาวทะเล ( Sea people) ซึ่งมีเชื้อสายมาเลย์’  ทะเลคือผืนดินและบ้านของพวกเขา สามัญสำนึกส่วนหนึ่งของโจรสลัดเหล่านี้จึงมีความอยากที่จะรักษาบ้านของพวกเขาไม่ให้ถูกรุกรานได้ง่าย ๆ พวกเขาตั้งตัวเองเป็นผู้รักษากฏแห่งท้องทะเล 

          เวลาล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 15 จากท่าเรือเล็ก ๆ มะละกา กลายเป็นชุมทางการค้าและการขนส่งทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความรุ่งเรืองของการค้าในแถบนี้ดึงดูดให้จักรวรรดิตะวันตกเข้ามารุกรานและก่อสงครามเพื่อครอบครองเส้นทางการค้านี้หลายครั้ง มะละกาตกอยู่ภายใต้จักรวรรดิใหญ่ ๆ ไล่ตั้งแต่โปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ  การเข้ามาควบคุมอาณาจักรและเส้นทางการค้าในแต่ละครั้งส่งผลให้กษัตริย์ หัวหน้าเผ่า กะลาสี และชาวพื้นเมืองถูกกดขี่ข่มเหง พวกเขาจึงเลือกที่จะร่วมมือกับโจรสลัด หรือบางคนก็เป็นโจรสลัดเสียเอง เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะต่อกรกับจักรวรรดิยุโรปในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปล้นจี้เรือบรรทุกสินค้า รวมไปถึงการสะสมเงินทองเพื่อความอยู่รอดของตนเองเมื่อถูกริดรอนอำนาจลงไป ภาพวาดมะละกาภายใต้การปกครองของจักรวรรดิตะวันตก

    …..
          แหล่งที่อยู่ของ ‘ชาวทะเล’ ที่ผันตัวเป็นโจรสลัดเหล่านี้กระจัดกระจายอยู่ในบริเวณหมู่เกาะริเยา ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนิเซีย และยังคงเป็นแหล่งกบดานของโจรสลัดมาจนถึงทุกวันนี้

 

          เมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ ‘เกียรติของโจรสลัด’ ที่ได้รับการสรรเสริญได้หายไปกับกาลเวลา อำนาจที่พวกเขาเคยมีถดถอยลงไปเรื่อย ๆ .. ปัจจุบัน ‘โจรสลัด’ คือ ‘โจร’ ที่ออกจี้ปล้นเรือบรรทุกสินค้าเพื่อเงินและความอยู่รอดเท่านั้น!


องค์กรโจรสลัด!
          อเล็กซ์นัดหมายให้คณะเดินทางได้พูดคุยกับโจรสลัดในพื้นที่ 
          เช้าวันรุ่งขึ้นเราก็ได้เห็นโจรสลัดนั่งรออยู่ ... นั่นคือ ‘อเล็กซ์’
          ในฐานะเจ้าของโรงแรมรูหนูที่มีอยู่แห่งเดียวบนเกาะ เขามีเงินเก็บจากการเป็นโจรสลัด  
          อเล็กซ์และทุกคนที่พบเจอที่บาตัม บอกว่าการจะหาโจรสลัดบนเกาะแห่งนี้้ ‘ไม่ยาก’ เพราะผู้ชายเกือบทุกคนบนเกาะเคยเป็นกันเกือบหมด  บางคนก็เคยโดนเพื่อนบ้านปล้นกันก็มี เพราะไปเป็นลูกเรือสินค้าแล้วโจรสลัดดันเป็นเพื่อนกันซะงั้น!  การจะฝึกเป็นโจรสลัดก็ ‘ไม่ยาก’ แค่ใช้ปืนเป็น ไต่เชือกเป็น ใช้เรือเป็นก็เพียงพอ 
    ……
          เมื่อดูสถิติการก่อเหตุจากแผนที่การก่ออาชญากรรมของโจรสลัด จะพบว่าช่องแคบมะละกามีการก่อเหตุติดอันดับหนึ่งหรือสองของการก่อเหตุในน่านน้ำทั่วโลก  ด้วยลักษณะสภาพภูมิศาสตร์ที่มีจุดแคบทีสุดกว้างแค่เพียง 3 กิโลเมตร รวมไปถึงจำนวนของเรือเดินสินค้าที่แล่นเข้ามาเฉลี่ยวันละกว่า 300 ลำ ทำให้การสัญจรในน่านน้ำแห่งนี้ค่อนข้างพลุกพล่าน  เรือก็แล่นช้าลง ซึ่งนั่นเป็นการสร้างโอกาสให้โจรสลัดเข้ามาก่ออาชญากรรมได้ง่าย และความพลุกพล่านก็ทำให้โจรสลัดหนีหายไปได้ง่ายเช่นกัน ก็ในเมื่อบ้านของพวกเขาอยู่ห่างออกไปแค่ 3 กิโลเมตร และแน่นอนว่าจะเลือกเกาะเล็กเกาะน้อยไหนกบดานก็ได้ ก็ในเมื่อมีให้เลือกกว่า 1,796 เกาะในแถบนั้น! ช่องแคบมะละกาที่มีจุดที่แคบที่สุดเพียง 3 กิโลเมตรคลาคล่ำไปด้วยขบวนเรือสินค้า     ….
          ลักษณะการก่ออาชญากรรมของโจรสลัดในแถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการแอบขึ้นไปบนเรือ โดยเรือยอดนิยมต้อง
          ‘Low and Slow’
          Low แรกก็คือเรือมีความสูงไม่มาก เมื่อโจรสลัดนั่งเรือลำเล็กของพวกเขามาจอดเทียบก็แค่โยนเชือกขึ้นไปและไต่ขึ้นไปได้ง่าย ๆ ส่วน Slow ก็คือเรือที่แล่นด้วยความเร็วไม่มาก เพราะฉะนั้นเรือบรรทุกสินค้าจึงเป็นที่นิยมมากกว่าเรือครูซซึ่งจะแล่นเร็วกว่า แม้น่าจะมีสิ่งของมีมูลค่าเยอะเหมือนกันก็ตาม

 

          สิ่งของยอดนิยมที่ถูกจี้ปล้นไปมีหลายอย่าง เช่น เศษโลหะ ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ อุปกรณ์สื่อสารจากห้องควบคุมเรือ และทรัพย์สินส่วนตัวของลูกเรือ เพื่อนำไปขายต่อในตลาดมืด ... เมื่อแอบขึ้นไปบนเรือ หากมีลูกเรือมาพบก็จะตามมาด้วยการเข่นฆ่าหรือทำร้ายร่างกาย จับเป็นตัวประกัน บ้างก็ทำลายเรือเพื่อหาช่องทางหลบหนี คำถามคือบนเรือกว่า 300 ลำที่แล่นอยู่ในน่านน้ำ โจรสลัดรู้ได้อย่างไรว่าเรือลำไหนจะมีอะไรอยู่บนเรือ?

 

          เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว ตำรวจไทยได้จับโจรสลัดซึ่งฆ่าลูกเรือ 7 คนและได้เงินไปกว่า 120 ล้านบาท เรือลำดังกล่าวได้บรรทุกธนบัตรสกุลดอลลาร์สิงคโปร์ ธนบัตรไทย ธนบัตรสกุลริงกิตของมาเลเซีย รวมเป็นมูลค่ากว่า 120 ล้านบาท เพราะด้วยเหตุที่ว่าเรือลำดังกล่าวทำธุรกิจเกี่ยวกับการรับแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ! เมื่อตำรวจสืบเรื่องจึงพบว่าสาเหตุที่โจรสลัดเหล่านี้ล่วงรู้ว่ามีอะไรบนเรือก็เพราะเขาได้ร่วมมือกับไต้ก๋งที่ถูกไล่ออกจากบริษัท พวกเขาจึงวางแผนปล้นได้อย่างง่ายดาย

 

          โจรสลัดในช่องแคบมะละกาจึงเป็นการก่ออาชญากรรมที่มีการจัดระบบในลักษณะองค์กรเป็นอย่างดี ต่อให้ไม่เป็นองค์กรแต่พวกเขาจะรู้ว่าใครคือหนอนบ่อนไส้เพื่อที่จะระบุเรือที่เข้าปล้น ระบุเรือไม่พอต้องระบุด้วยว่าตู้ไหนที่จะมีของมีค่าสำคัญ ใครจะเป็นคนก่อเหตุ และใครจะมีหน้าที่นำของที่ได้ไปขายในตลาดมืด
    ….
          ตอนที่ผู้เขียนลงพื้นที่ไปยัง ‘เกาะโจรสลัด’   ได้มีโอกาสพบกับลูกเรือที่เคยถูกปล้น 

          พวกเขาบอกว่ามีคนที่เป็นหนอนอยู่บนเรือเสมอ และ ‘ผมยังจำได้ว่าใคร เพราะก็รู้จักกัน ผมจำเขาได้’

 

การจัดการกับโจรสลัด ในศตวรรษที่ 21
          อเล็กซ์บอกกับเราว่าการเป็นโจรสลัดเป็นแล้วไม่คุ้มกับชีวิตที่เอาไปเสี่ยง  เนื่องจากเทคโนโลยีที่เข้ามาส่งผลให้เจ้าของเรือสินค้าใช้วิธีโอนเงินไปยังประเทศปลายทางมากกว่าที่จะขนเงินไว้กับตัว หากจะปล้นก็ต้องปล้นเอาของ ปล้นเอาน้ำมันซึ่งสำหรับเขาใช้เวลานานเกินไป อีกทั้งยังมีการลาดตระเวนของตำรวจเพิ่มมากขึ้นในปีหลัง ๆ รวมไปถึงบริษัทได้จัดหาคนคุ้มครองเรือซึ่งมีอาวุธครบมือมาประจำอยู่บนเรืออีกด้วย
    …..
          เมื่อย้อนดูสถิติ ตัวเลขการก่อเหตุของโจรสลัดในช่องแคบมะละกาเพิ่มสูงต่อเนื่องจนถึงปี 2011 ซึ่งเป็นปีที่อเล็กซ์เลิกเป็นโจรสลัดเช่นกัน ความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีพรมแดนติดกับช่องแคบมะละกานั้นเข้มข้นขึ้น ทำให้ความเข้มงวดของการลาดตระเวนน่านน้ำเพิ่มมากขึ้นตามกันไป ส่งผลให้จำนวนการก่อเหตุลดจำนวนลงกว่าร้อยละ 50 

 

          นอกจากนี้ยังมีการตีความสถิติที่เกิดขึ้นและระบุว่าตัวเลขของการก่อเหตุนั้นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจหรือไม่? เพราะจำนวนการก่อเหตุของโจรสลัดได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา  ตัวเลขการก่อเหตุในช่องแคบมะละกาปี 2020  พุ่งสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 50 คือมีการก่อเหตุมากกว่า 20 ครั้ง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบ 5 ปี  นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้มีการลดจำนวนลูกเรือบนเรือให้น้อยลง ส่งผลให้ง่ายต่อการปล้นมากยิ่งขึ้น สิงคโปร์จัดตั้งกองกำลังขนาดเล็กเพื่อต่อต้านการก่อเหตุของโจรสลัดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา           ล่าสุดสิงคโปร์ต้องจัดตั้งกองเรือรบเล็กขึ้นมาใหม่ที่ชื่อ หน่วยพิทักษ์เรือรักษาความมั่นคงและการตอบสนองทางทะเลชั้นเซนทิเนล ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อจับกุมและดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางน่านน้ำ และป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการปล้นเรือของโจรสลัดโดยเฉพาะ แผนที่แสดงการก่อเหตุของโจรสลัดในช่องแคบมะละกาในปี 2020     ….
          ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด การเป็น ‘โจรสลัด’ ในยุค 2021 ไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนยอมรับได้อีกต่อไปยกเว้นในภาพยนตร์

 

          และการมีอยู่ของโจรสลัดในยุคนี้ก็อาจเป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงความสำคัญของเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะช่วยผลักให้ปัญหาทางสังคมพัฒนาให้กลายเป็นปัญหาบานปลาย หรือจัดการให้ปัญหาเหล่านั้นจบลง

 

          แม้อาชีพ ‘โจรสลัด’ จะเริ่ม ‘ไม่ยาก’ แต่อเล็กซ์ ชายผู้มีรอยบากบนใบหน้าซึ่งผู้เขียนได้พบเจอก็ตัดสินใจเลิกเด็ดขาด
          ‘ผมเลิกเพราะอยากจบชีวิตบนบกมากกว่า’  
          เมื่อพูดถึงเรื่องคุณธรรมเขาได้แต่ส่ายหน้า
          ชีวิตของอเล็กซ์คือการเอาชีวิตรอด .. และเขาเลิกเพราะอยากรอดก็แค่นั้น

 

พีร์ญาดา ประสูตร์แสงจันทร์

--------------------

ที่มา: