Highlights
- ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่สร้างความน่าพิศวงและอัศจรรย์ใจให้กับมนุษย์เราได้เสมอ
- สาเหตุการเกิดของ Crown Shyness ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหาข้อสรุปที่ลงรอยกันไม่ได้ มีเพียงสมมติฐานที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆในช่วงหลายสิบปี
- แม้จะยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นย่อมมีผลดีกับการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชในระบบนิเวศ
--------------------
นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วทั้งโลกต้องออกมาตรการสูงสุดเพื่อรับมือและป้องกันกับเจ้าไวรัสชนิดนี้นี้ หนึ่งในมาตรการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายนอกจากสวมหน้ากากอนามัยและหมั่นล้างมือบ่อยๆแล้ว การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ประชาคมโลกพยายามปฏิบัติกันเรื่อยมาจนเกิดเป็นความเคยชิน แต่รู้หรือไม่ว่า ยังมีต้นไม้บางชนิดที่เว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างต้นสู่ต้นด้วยเช่นกัน แถมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้ที่ทำให้ต้นไม้ต้องมีการเว้นระยะห่างซึ่งกันและกันเกิดขึ้นมานานหลายปี ก่อนการอุบัติของโรคระบาดโควิด-19อีกด้วย
จิ๊กซอว์บนยอดไม้ ความอัศจรรย์ใจจากธรรมชาติ
การเว้นระยะห่างบนเรือนยอดไม้จนเกิดช่องว่างสวยงามน่าอัศจรรย์ตา หรือที่เรียกว่า Crown shyness (ต้นไม้ขี้อาย) ถูกจดบันทึกไว้มากมายจากป่ารอบโลก เริ่มจากป่าโกงกางในประเทศคอสตาริกา ที่ถูกค้นพบช่องว่างระหว่างยอดไม้ในปี 1982 โดย ฟรานซิส แจ็ก พุตซ์ (Francis Jack Putz) นักชีววิทยา ไปจนถึงต้นบอร์เนียวในพื้นที่ป่าของมาเลเซีย
จากการศึกษาเพิ่มเติม พุตซ์ให้เหตุผลว่าต้นไม้แต่ละต้นก็ต้องการมีพื้นที่ส่วนตัวเพื่อใช้ในการแผ่กิ่งก้านสาขาเช่นกัน และลมก็ดูเป็นปัจจัยเกี่ยวเนื่องที่สำคัญในการช่วยให้ต้นไม้แต่ละต้นรักษาพื้นที่ว่างระหว่างกันได้
เม็ก โลว์แมน (Meg Lowman) นักชีววิทยาป่าไม้และผู้อำนวยการของมูลนิธิ TREE เสริมว่าการที่ต้นไม้เว้นพื้นที่กันแบบนี้ อาจมีความคล้ายกับมนุษย์ในการรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันสุขภาพของตัวเอง และยังสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
Crown shyness เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่แสนน่าทึ่งและเรียกเสียงฮือฮาจากทั้งบรรดาคนรักธรรมชาติและคนธรรมดาได้ไม่น้อย แต่ปรากฏการณ์นี้ใช่ว่าจะเกิดกับต้นไม้ทุกสายพันธุ์ จากงานวิจัยที่ได้บันทึกไว้ปรากฏการณ์นี้ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับ ต้นโกงกาง ต้นไม้ตระกูลสน และตระกูลยูคาลิปตัส ที่สำคัญคือต้นไม้แต่ละต้นต้องมีความสูงไล่เลี่ยกันจึงจะเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การเกิด Crown shyness ระหว่างต้นไม้ต่างตระกูลกันก็อาจมีให้พบเห็นอยู่ได้บ้างประปราย
การแย่งชิงพื้นที่บนยอดไม้สู่ปรากฏการณ์ Crown shyness
ปรากฏการณ์ Crown shyness หรือต้นไม้ขี้อาย ถูกบันทึกและปรากฏในวรรณกรรมวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี 1920 และหลายสิบปีต่อจากนั้น บรรดานักวิจัยเริ่มขุดหาช้อเท็จจริงว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไรกันแน่ นักวิทยาศาสตร์บางรายตั้งสมมติฐานขึ้นมาว่า ต้นไม้บางชนิดเติมช่องว่างระหว่างกันไม่ได้อันเนื่องมาจากปัจจัยที่ขาดแสงแดดและเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของการสังเคราะห์แสงของพืช ดังนั้นผลที่ตามมาคือยอดไม้แต่ละต้นจึงเจริญเติบโตแบบไม่ซ้อนทับกัน
แต่ถึงอย่างนั้นทีมงานของพุตซ์ได้ตีแผ่งานวิจัยในปี 1984 ซึ่งระบุว่า ในบางกรณีปรากฏการณ์ Crown shyness อาจเป็นผลจากการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างกันของต้นไม้ไม่ว่าจะเป็นการแตกกิ่งก้านสาขา และการกันพื้นที่จากต้นอื่นบริเวณใกล้เคียง โดยมีกระแสลมมาเป็นปัจจัยเกี่ยวข้อง ในงานวิจัยยังเพิ่มเติมรายละเอียดไว้ว่า ยิ่งบริเวณปลายยอดของต้นโกงกางโบกพัดตามกระแสลมมากเท่าไหร่ ระยะห่างระหว่างยอดยิ่งมีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นักวิทยาศาสตร์รายอื่นๆพยายามตั้งสมมติฐานในการเกิด Crown shyness ว่าต้นไม้บางชนิดอาจมีวิธีการแผ่กิ่งก้านสาขาและความสามารถในการต้านแรงลมที่แตกต่างกัน มาร์ก รุดนิกกิ (Mark Rudnicki) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมิชิแกน ให้ความเห็นเสริมว่าต้นไม้บางชนิดอาจมีการเรียนรู้ที่จะหยุดพัฒนาและหยุดการเติบโตส่วนปลายยอด เพราะเมื่อต้องผลิใบใหม่ ใบเก่าก็ต้องร่วงโรยไปตามแรงลมอยู่ดี
เว้นระยะห่างระหว่างต้นแล้วดียังไง
ต้นไม้จัดเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่ต้องการแร่ธาตุ สารอาหาร น้ำ พื้นที่ และแสง เพื่อคงความอยู่รอด ในพื้นที่ป่าที่มีไม้ปริมาณต้นไม้หนาแน่น การแข่งขันกันเพื่อให้ได้รับแสงแดดนับเป็นการแข่งขันที่มีความเข้มข้นในผืนป่าเลยทีเดียว ปรากฏการณ์ Crown shyness ที่ต้นไม้เว้นช่องว่างระหว่างกันและไม่เกิดการทับซ้อน เป็นไปได้ว่าจะเป็นกระบวนการทางธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ต้นไม้เพิ่มการเปิดรับแสงและปรับกระบวนการสังเคราะห์แสงให้เหมาะสม
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังคงถกเถียงถึงสาเหตุการเกิด Crown shyness ก็มีข้อเสนอที่ถูกหยิบยกมาว่าการที่ต้นไม้เว้นช่องว่างระหว่างกันแบบนี้ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าที่เราคาดคิด
ด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จะช่วยให้แสงอาทิตย์สาดส่องได้ทั่วผืนป่า ก่อประโยชน์แก่พืชชนิดอื่นตามพื้นดินรวมถึงเหล่าบรรดาสัตว์ป่าด้วยเช่นกัน และด้วยความที่กิ่งของแต่ละต้นสร้างระยะห่างระหว่างต้นขึ้นมา การแพร่กระจายของแมลงที่เป็นศัตรูพืชและหนอนกัดกินใบไม้ต่างๆก็มีอัตราที่ลดลงตามไปด้วย
ภัคสุภา รัตนภาชน์
หล่อหลอมตัวเองด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมรอบโลก อาหาร และผู้คน
--------------------
อ้างอิง: