svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ORIGINAL

จะคุยยังไงกับคนที่ยังลังเลใจในวัคซีนโควิด-19

07 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังพุ่งต่อไป ประเทศไทยทะลุหนึ่งล้านไปไกลแล้ว และมีอีกหลายประเทศกำลังหาหนทางเพื่อกำราบไวรัสร้ายตัวนี้ เพราะหนทางหนึ่งเดียวที่จะช่วยให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ อยู่รอด จากการระบาดของมันได้ก็คือ วัคซีน

เชื่อว่าหลายคนตอนนี้ คงอาจพยายามเกลี้ยกล่อมใครสักคนที่รักหรือห่วงใยให้ไปรับวัคซีนโควิด-19 แน่นอนว่า เราคงพบกับเหตุผลมากมาย ที่แสดงเจตจำนงไม่ต้องการรับวัคซีน แต่ความซับซ้อนของเหตุผลส่วนบุคคลเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่จัดการได้ 

 

ที่ผ่านมาในประเทศที่พยายามกระตุ้นให้มีการฉีดวัคซีนอย่างสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีความก้าวหน้าในวิทยาการทางการแพทย์มากที่สุดประเทศหนึ่งในโลกก็ประสบกับปัญหาเรื่องนี้ ในขณะที่ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนหลายคนก็มักถูกตั้งคำถาม หลายครั้งก็ถูกดูหมิ่นหรือทำให้อับอาย

 

MIT Technology Review ได้นำปัญหาเหล่านั้นที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา มาเรียบเรียงให้เห็นว่า เราจะรับมือกับความคิดเห็นหรือเหตุผลเหล่านั้นได้อย่างไร 

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจะกลายเป็นผู้ต่อต้านวัคซีน (anti-vaxxers) ความเข้าอกเข้าใจและการไม่รีบตัดสินจะช่วยให้คุณเข้าใจเหตุผลหรือที่มาที่ไปมากขึ้นเมื่อได้คุยกับพวกเขา 

 

ไรอัน สจ๊วร์ต เป็นอเมริกันชนอีกคนที่กังวลเรื่องการฉีดวัคซีนเหมือนกับชาวอเมริกันอีกหลายล้านคน เราไปฟังเหตุผลของเขากัน

 

“โดยปกติผมไม่ไว้ใจรัฐบาลอยู่แล้ว” เขากล่าว “ผมไม่ใช่พวกสวมหมวกฟอยล์ (คนเพี้ยน ๆ ที่ชอบสร้างทฤษฎีขึ้นมาเอง พวกคลั่งทฤษฎีสมคบคิด) แต่ผมเป็นคนประเภทที่ต้องการตรวจสอบข้อเท็จจริง วัคซีนออกมาอย่างรวดเร็วหลังจากการระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 และแน่นอน มีคำใหม่ ๆ มากมายเกิดขึ้น เช่น —'เคสที่พัฒนาแล้ว' (breakthrough cases) และ 'วัคซีน mRNA'—ซึ่งผมรู้สึกแปลก ๆ”

 

ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สจ๊วร์ตอึดอัดกับการถูกกระทุ้งถามเรื่องการรับวัคซีน แต่ในอีกทางหนึ่ง เขาได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเคสที่เพิ่มขึ้นจากตัวแปรน่าสะพรึงอย่างสายพันธุ์เดลต้า และยังต้องการตัดสินใจอย่างรอบคอบด้วยการศึกษาข้อมูลรอบด้าน ดังนั้นเขาจึงโพสต์ผ่านช่องทาง r/ChangeMyView บนไซต์โซเชียลอย่าง Reddit ที่ผู้คนมักไปเปิดประเด็นหัวข้อเพื่อแบ่งปัน/แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่พวกเขาต้องการพิจารณาใคร่ครวญใหม่อีกครั้ง


ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเผยแพร่โพสต์ สจ๊วร์ตได้ตัดสินใจลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน แต่เชื่อไหมว่ายังมีประชาชนในสหรัฐอเมริกาถึง 3 คนใน 10 คนที่ยังคงไม่ได้รับวัคซีน

 

และเหตุผลดังต่อไปนี้ ก็คือสิ่งที่เปลี่ยนความคิดของสจ๊วร์ด การันตีด้วยความเห็นผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่า จะได้ผลดีที่สุดเมื่อต้องพยายามเกลี้ยกล่อมคนที่คุณห่วงใยให้ไปรับวัคซีน

ชาวอเมริกันราว 14% กล่าวว่าพวกเขาจะ "ไม่รับวัคซีนอย่างแน่นอน" 
โปรดรับรู้ว่าคนที่ไม่รับวัคซีนไม่ใช่ผู้ต่อต้านวัคซีนทุกคน

จากรายงานของ Kaiser Family Foundation Covid-19 Vaccine Monitor พบว่าในเดือนมิถุนายน (2021) ที่ผ่านมา  ผู้ใหญ่ชาวอเมริกันราว 14% กล่าวว่าพวกเขาจะ "ไม่รับวัคซีนอย่างแน่นอน" แต่นักสังคมวิทยาอย่าง Zeynep Tufekci ชี้ให้เห็นว่า คนอื่นๆ อีกจำจำนวนมากอยู่ใน “ข่ายที่ได้เปลี่ยนแปรได้” เพราะยังมีคนอีกประมาณ 16% ที่ต้องการรับวัคซีนโดยเร็วที่สุดถ้าเป็นได้ พวกเขากำลังรอดูผลงานว่า วัคซีนส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไรก่อนที่ตัวเองจะรับวัคซีน หรือจะรับหากจำเป็นต้องรับ (เช่น เพื่อการทำงาน)

 

หนึ่งในนั้นก็คือสจ๊วร์ต “ผมได้รับการฉีดวัคซีนทุกเข็มที่พลเมืองอเมริกันต้องรับตามมาตรฐาน” เขากล่าว “ผมได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ความคิดของผมด้านหนึ่งบอกว่า ผมต้องการวัคซีนและต้องได้รับวัคซีน แต่อีกด้านบอกว่า 'แต่นี่มันไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่'”

 

จากการสำรวจเดียวกันพบว่า 20% ของผู้ไม่ได้รับวัคซีน มีความกังวลข้อใหญ่ๆ เกี่ยวกับวัคซีนก็คือ วัคซีนยังใหม่เกินไป ส่วนอีกด้าน มีเพียง 4% ของผู้ไม่ได้รับวัคซีนเท่านั้นที่กล่าวว่า เหตุผลหลักที่พวกเขาไม่ให้ความสนใจวัคซีนโควิด-19 ก็เพราะตามปกติพวกเขาก็ "ไม่วางใจวัคซีนโดยทั่วไป" อยู่แล้ว


ตรวจสอบอคติของตัวเองก่อน

เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั่วไปคือ การคิดเอาเองว่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีนทั้งหมดนั้น เป็นกลุ่มนักทฤษฎีสมคบคิดที่เป็นคนผิวขาว เคร่งศาสนา อยู่ในชนบท และอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว แต่คนที่ลังเลใจกับการรับวัคซีนนั้นมีความหลากหลายมากกว่านั้น อย่างการที่คนผิวดำและชาวฮิสแปนิกจำนวนมากเข้ารับวัคซีนช้านั้นก็เป็นเพราะบาดแผลฝังใจที่ยังไม่เจือจาง จากประวัติศาสตร์การทดลองทางวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาที่ไปกระทำไว้กับชนกลุ่มน้อย (จะนำมาเล่าสู่ให้ฟังภายหลัง) หรืออีกเหตุผล บางคนก็อาจมีปัญหาสุขภาพที่ทำให้พวกเขาต้องระมัดระวังเรื่องวัคซีนเป็นพิเศษ ในขณะที่คนอื่น ๆ ก็อาจกำลังมองหาข้อมูลทางการแพทย์เพิ่มเติม

 

แม้แต่คนที่อาจจะดูท่าทางเป็นไปในทางนั้นตั้งแต่แวบแรกก็อาจมีเรื่องราวมากกว่าที่เราคิด ตัวอย่างเช่น สจ๊วร์ตซึ่งเป็นศิษยาภิบาลที่นับถือศาสนาคริสต์ อาศัยอยู่ในชนบทของเซาท์แคโรไลนา แถมยังมีความเอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยม แต่ทว่าความลังเลใจของเขาเรื่องวัคซีนไม่ได้มาจากศาสนาหรือว่าการเมือง แต่เป็นเพราะเขาพยายามทำความเข้าใจกระบวนการอนุมัติวัคซีนขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯ และเรื่องที่ว่าวัคซีนจะส่งผลต่อสุขภาพของเขาอย่างไรต่างหาก

 

เหตุผลส่วนตัวของผู้คนนั้นเป็นเรื่องซับซ้อน เพราะล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องส่วนตัว หากเราเคารพเหตุผลเหล่านั้นก็อาจทำให้การพูดคุยกันได้ผลมากยิ่งขึ้น

 

ดูว่าคนคนนั้นเปิดใจรับการสนทนาหรือไม่

สจ๊วร์ตสารภาพว่า ตนถึงกับเคยตั้งคำถามว่า โควิดมีอยู่จริงหรือ! แล้ววัคซีนนั้นเป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือเปล่า แล้วมันยังมีทางเลือกอื่นนอกเหนือจากวัคซีนหรือไม่ แต่เขาก็เปิดช่องให้กับพื้นที่การสนทนาเสมอ  เพราะเขาเชื่อว่า “หากผมต้องการการตัดสินใจที่ถูกต้อง ผมก็ต้องฟังความคิดเห็นฝั่งตรงกันข้ามด้วย”

 

ส่วน 14% ของอเมริกันชนที่ตัดสินใจว่าจะไม่เข้ารับวัคซีนอย่างแน่นอน ก็อาจจะไม่เปิดหูรับฟังสิ่งที่คุณพูดอย่างแน่นอน ซึ่งก็จะเป็นการใช้เวลาได้คุ้มค่ากว่าถ้าคุณจะถอยออกมา

ผู้มีอิทธิพลในกลุ่มวัยรุ่นที่มีความโปรเรื่องวัคซีน สามารถช่วยเพิ่มการยอมรับวัคซีนได้ 
ใจดีเข้าไว้-หรืออย่างน้อยก็ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี

บางทีคุณอาจโกรธในสิ่งที่ใครบางคนพูด เกี่ยวกับประเด็นโควิด-19 หรือวัคซีน หรือคุณอาจพบว่ามันเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่คนที่คุณพยายามจะคุยด้วยก็อาจจะปิดประตูใส่คุณทันทีหากคุณแสดงเกรี้ยวกราด เพราะการแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรง หรือการด่าทอดูหมิ่นใครสักคน จะปิดทุกประตูการสนทนาที่อาจเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

 

ระบุที่มาของปัญหาหรืออุปสรรค

สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมาก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าพวกเขาต่อต้านวัคซีนมากกว่าต้องการความช่วยเหลือในการรับวัคซีน เพราะเหตุผลอาจคือเรื่องง่าย ๆ อย่างเช่น พวกเขาอาจกลัวเข็ม หรืออาจมีปัญหาในการหาวิธีนัดหมาย บางทีก็อาจเคยได้ยินเกี่ยวกับผลข้างเคียงและไม่สามารถหยุดงานได้หากรู้สึกไม่สบายหรือมีอาการข้างเคียง คำถามคือ คุณสามารถช่วยอะไรพวกเขาได้บ้างกับปัญหาหรืออุปสรรคเหล่านี้

 

ใช้ข้อความพูดคุยที่แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน

การเผชิญหน้ากับผู้คนบนโซเชียลมีเดีย ในโพสต์บน Facebook คำตอบใน Twitter ความคิดเห็นบน Instagram จะไม่เป็นประโยชน์เลย แถมยังจะสร้างศัตรูได้อีก หากคุณรู้สึกว่า จำเป็นต้องตอบคนที่โพสต์ข้อความตั้งคำถามเกี่ยวกับวัคซีน ให้เลือกช่องทางที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น เช่น การส่งข้อความ

 

ปรับความคิดเห็นหรือข้อโต้แย้งของคุณให้เหมาะกับแต่ละบุคคล

ข้อความส่วนใหญ่เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนมักจะเป็นไปในทาง คำสั่ง เสียมากกว่า เช่น “รับวัคซีนทันที” หรือเป็นไปในเชิงดูหมิ่นไปโดยปริยาย เช่น “หากคุณยังไม่ได้รับวัคซีน คุณคือคนไม่ดี” การใช้ภาษาที่ดีจะช่วยเสริมข้อเท็จจริงว่า กระบวนการฉีดวัคซีนจะมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณแต่ละคน

 

แดเนียล ครอยแมนส์ แพทย์ในระบบของ UCLA ที่เพิ่งเข้าร่วมในการศึกษาวิจัย พบว่าภาษาที่แสดง "ความเป็นเจ้าของ" ช่วยให้ผู้คนตอบรับการนัดหมายวัคซีนโควิด-19 ภาษาที่แสดงความเป็นเจ้าของหมายถึง ข้อความคำที่บ่งบอกว่า การฉีดวัคซีนนั้นเป็นเรื่องของคุณโดยเฉพาะ เช่น "ขอรับยาของคุณ" หรือ "วัคซีนได้รับการจัดเตรียมให้คุณแล้ว" เป็นต้น การศึกษาของ ครอยแมนส์ พบว่าข้อความที่มีภาษาแสดงความเป็นเจ้าของนั้นประสบความสำเร็จมากกว่าในการรับผู้สูงอายุที่มีเงื่อนไขต่าง ๆ ก่อนนัดในนัดแรกมากกว่าข้อความที่เป็นข้อมูล “ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นของคุณ คุณก็จะรู้สึกถึงคุณค่าและชื่นชม” ครอยแมนส์กล่าว

 

ครอยแมนส์บอกว่า การศึกษาให้ความสำคัญกับการสร้างข้อความส่วนบุคคลที่แสดงถึงการมอบอำนาจให้มากกว่าจะทำให้ผู้คนลังเลใจ หรือตัดสินใจเองในเรื่องวัคซีน ใครก็ตามที่ต้องการช่วยหรือชักชวนผู้อื่นให้รับวัคซีนสามารถลองใช้กลยุทธ์เดียวกันได้นี้ได้

 

เมื่อพูดคุยกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน ให้สังเกตดูว่า เขามีความกังวลเรื่องใดเป็นพิเศษ และพยายามสร้างความรู้สึกในทำนองว่า พวกเขามีความเกี่ยวข้อง หรือมีความสำคัญ อย่าใช้ศัพท์แสงเข้าใจยาก หรือพูดจาไม่ดี ย้ำถึงความกังวลที่คนคนนั้นแชร์ให้ฟังเพื่อทำให้เขารู้ว่า คุณกำลังฟังอยู่ และคิดว่าอะไรจะช่วยทำให้คุณมั่นใจได้ หากคุณรู้สึกแบบเดียวกัน

คำตอบที่น่าเชื่อถือที่สุดก็คือ การอธิบายในสิ่งที่ผูู้คนกังวลด้วยข้อเท็จจริงที่พวกเขาไม่สามารถหักล้างได้
จงเท่กว่าและเจ๋งกว่า

Be a “cooler.”ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดนแห่งสหรัฐอเมริกาได้คัดเลือกอินฟลูเอนเซอร์ของ TikTok เพื่อกระตุ้นให้ Gen Z ได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น นักสังคมวิทยา บรู๊ค แฮร์ริงตัน กล่าวว่า คุณก็สามารถเป็น ‘ผู้มีอิทธิพล’ แบบพิเศษได้เช่นกัน  แต่คำว่า “cooler” ก็เป็นคำที่ใช้สำหรับพวกนักต้มตุ๋น บางครั้งใช้เพื่อปลอบโยนคนที่เพิ่งถูกหลอก

 

แฮร์ริงตัน เชื่อว่า ผู้มีอิทธิพลในกลุ่มวัยรุ่น หรือ คูลเลอร์ที่มีความโปรเรื่องวัคซีน สามารถช่วยเพิ่มการยอมรับวัคซีนได้ หลังจากหลายเดือนที่คนมากมายต้องเผชิญกับข้อความที่สร้างความอับอายและการกล่าวโทษผู้ที่ลังเลใจในวัคซีน เพราะคูลเลอร์สามารถแสดงบทบาทที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการย้อนกลับวาทกรรมต่อต้านวัคซีนและคืนความไว้วางใจกลับมาได้

 

ดังที่แฮร์ริงตันเขียนไว้ใน op-ed ใน Guardianว่า  "คูลเลอร์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือผู้ที่สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นได้ นั่นก็คือคนที่มีความคิดเห็นที่พวกเขาให้ความสำคัญ คนส่วนใหญ่ไม่สนใจความคิดเห็นดี ๆ จากใครก็ตาม แต่เราจะให้ความใส่ใจกับสถานะและการ 'เผชิญหน้า' ภายในชุมชนเฉพาะที่มีความสำคัญต่อเรามากกว่า” เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ครู หมอสอนศาสนา นักดนตรี หรือ แม้แต่เพื่อน ก็อาจเป็น “คูลเลอร์” ที่ช่วยคนในเรื่องวัคซีนได้

 

เตรียมข้อมูลของคุณให้พร้อม

สจ๊วร์ตกล่าวว่า สิ่งที่ชักชวนให้เขาเข้ารับวัคซีนก็คือ ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนในลักษณะที่ไม่ดูถูกเหยียดหยาม คำตอบหนึ่งจากโพสต์ของเขาระบุถึง ความกลัวและความไม่พอใจทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีน และเสนอข้อเท็จจริงจากเอกสารทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้รายละเอียดในอีกกรณีหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์พยายามอธิบายอย่างอดทนว่า ร่างกายของเราใช้โปรตีนสไปค์อย่างไร และทำไมความกลัวของสจ๊วร์ตถึงผลข้างเคียงจากวัคซีนในระยะยาวจึงยังไม่มีมูล คำตอบหรือข้อโต้แย้งที่เขาพบว่าน่าเชื่อถือที่สุดก็คือ การอธิบายในสิ่งที่เขากังวลด้วยข้อเท็จจริงที่เขาไม่สามารถหักล้างได้

 

สำหรับใครก็ตามที่พยายามเกลี้ยกล่อมให้คนที่คุณรักที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนให้คิดใหม่ การพูดในเชิงวิทยาศาสตร์และข้อเท็จจริงอาจจะไม่ได้ผลนัก เว้นแต่ว่าอีกฝ่ายจะเชื่อข้อเท็จจริงเหล่านั้น

 

หรือแม้กระทั่งเรื่องของการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดในเวลานี้ที่กำลังทำให้ใครหลายคนลังเลกับผลของมันในความเป็นจริง ก็ยังต้องมีชุดคำอธิบายและข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ 

 

ในระยะยาวเรายังต้องรับมือ ต่อสู้และเผชิญหน้ากับโควิด-19 ต่อไป ด้วยเครื่องมือสำคัญที่เรามีนั่นคือ วัคซีน และภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง เพราะมันคือความจริงบนความเชื่อว่า “เราทำได้”

 

ศิวดี อักษรนำ

--------------------

อ้างอิง:

logoline