หาก "ถ้วยฟุตบอลโลก" คือเกียรติยศสูงสุดของวงการลูกหนังที่แต่ละชาติต่างมุ่งมั่นที่จะไข่คว้ามาครอบครอง "บัลลงดอร์" ก็คือรางวัลส่วนบุคคลที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของนักเตะแต่ละราย เพราะการได้รางวัลนี้ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความรุ่งโรจน์ส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับชื่อเสียงและศักดิ์ศรีของสโมสรและประเทศบ้านเกิดของนักเตะคนนั้นอีกด้วย
"บัลลงดอร์" หรือรางวัลนักฟุตบอลยอดเยี่ยมแห่งปี ถือกำเนิดขึ้นในฝรั่งเศส ซึ่งริเริ่มสร้างสรรค์โดยนิตยสาร ฟรองซ์ ฟุตบอล มีการประกาศรางวัลครั้งแรกเมื่อปี 1956 โดยเวลานั้นนับเฉพาะนักฟุตบอลชาวยุโรปเท่านั้น ซึ่งถูกตัดสินด้วยการโหวตของผู้สื่อข่าวกีฬา จากนั้นในปี 1995 ก็มีการขยายเกณฑ์การพิจารณา ให้นักเตะทุกสัญชาติที่ค้าแข้งในยุโรป มีสิทธิ์รับรางวัล
จากนั้นในปี 2007 "บัลลงดอร์" ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยจับมือกับ ฟีฟ่า เปลี่ยนมาเป็น "ฟีฟ่า บัลลงดอร์" พร้อมขยายเกณฑ์การพิจารณาอีกครั้งโดยคัดเลือกจากนักเตะทุกสัญชาติและไม่จำเป็นต้องค้าแข้งในยุโรปอีกต่อไป รวมถึงเปลี่ยนวิธีการโหวต จากแต่เดิมที่มาจากผู้สื่อข่าวสายฟุตบอลอย่างเดียว มาเป็นโค้ชและกัปตันทีมชาติได้ร่วมลงคะแนนด้วย
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลายครั้ง เพราะการลงคะแนนของกุนซือ-กัปตันทีมชาติของบางประเทศนั้นกลายเป็นการโหวตตามชื่อเสียง หรือโหวตให้นักเตะของประเทศตัวเองหรือภูมิภาคตัวเอง โดยไม่ได้มองถึงผลงาน สุดท้ายความร่วมมือดังกล่าวจึงได้สิ้นสุดลงในปี 2016 และ ฟรองซ์ ฟุตบอล ก็ได้กลับมาควบคุมรางวัลนี้แต่เพียงผู้เดียวอีกครั้ง
กระแสการถูกวิพากษ์วิจารณ์
เป็นเรื่องปกติที่การตัดสินในทุกรางวัลย่อมมีผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดย บัลลงดอร์ ต้องเผชิญกับเรื่องนี้มาตั้งแต่ยุคแรก ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิ์เฉพาะนักเตะชาวยุโรปหรือนักเตะที่ค้าแข้งในยุโรปอย่างเดียว ส่งผลให้นักเตะระดับตำนานอย่าง ดีเอโก้ มาราโดน่า, เบเบโต้, คาร์ลอส วัลเดอราม่า, มาริโอ เคมเปส, ฟัลเกา ไม่มีโอกาสได้สัมผัสรางวัลนี้สักครั้งเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์การพิจารณา จนสุดท้ายต้องเกิดการแก้ไขกฎในเวลาต่อมา
ในยุคที่จับมือกับฟีฟ่า รางวัลนี้ก็ถูกวิจารณ์หนักมากขึ้น เพราะหลายๆชาติเลือกที่จะสนับสนุนนักฟุตบอลชาติตัวเองหรือคนที่มาจากทวีปเดียวกับตัวเอง ส่งผลให้นักเตะหลายรายเสียคะแนนไปอย่างน่าเสียดาย
อีกประเด็นที่เกิดเสียงวิจารณ์หนักในช่วงแรกก็คือ ผู้ได้รับรางวัลดังกล่าวมักจะเป็นผู้เล่นตำแหน่งแนวรุกเท่านั้น มีเพียงส่วนน้อยที่เป็นผู้เล่นแนวรับหรือผู้รักษาประตู ทั้งที่ทุกตำแหน่งก็มีความสำคัญต่อทีมไม่แพ้กัน
รวมถึงในมุมมองของแฟนบอล หลายคนมองว่า กระบวนการลงคะแนนอาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยนอกเหนือจากผลงานเพียงอย่างเดียว เช่น ชื่อเสียง ความนิยม การรายงานข่าวของสื่อ หรือความเกี่ยวข้องของสโมสรใหญ่ๆ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2019 เมแกน ราปิโน่ นักเตะทีมชาติสหรัฐคว้าบัลลงดอร์ของฝ่ายหญิงหลังพาทีมชาติคว้าแชมป์โลก ทั้งๆที่เล่นให้สโมสรตลอดทั้งปีแค่ 6 นัดเท่านั้น
นอกจากนี้ในหลายปีที่ผ่านมายังมีความสับสนว่า สรุปแล้วรางวัลนี้ควรมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จ (จำนวนแชมป์) หรือจะมุ่งเน้นไปที่ผลงานส่วนบุคคลกันแน่
ยกตัวอย่างเช่น ปี 2010 บัลลงดอร์ ตกเป็นของ ลิโอเนล เมสซี่ จากผลงานการยิง 34 ประตูใน 35 เกมทั้งๆที่เจ้าตัวคว้าแชมป์กับ บาร์เซโลน่าได้แค่รายการเดียว แถม อาร์เจนติน่า ยังตกรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฟุตบอลโลก ส่วน ชาบี้ เอร์นานเดซ-อันเดรส อิเนียสต้า ที่พา สเปน คว้าแชมป์โลก รวมถึง เวสลี่ย์ สไนจ์เดอร์ ที่พา อินเตอร์ คว้าทริปเปิ้ลแชมป์กับ อินเตอร์ มิลาน พลาดรางวัลนี้อย่างน่ากังขา
หรือจะเป็นในปี 2013 ฟรองค์ ริเบรี่ คว้าทริปเปิ้ลแชมป์กับ บาเยิร์น มิวนิค แต่ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ ได้รางวัลนี้จากผลงานการยิง 66 ประตูจาก 56 เกม
หากดู 2 ตัวอย่างข้างต้น ดูเหมือนสถิติส่วนตัวจะสำคัญกว่าความสำเร็จหรือการคว้าแชมป์ แต่ในปี 2021 โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี้ ยิงให้ บาเยิร์น มิวนิค ถึง 54 ประตูจาก 45 นัด กลับไม่ได้รางวัลดังกล่าว โดยตกเป็นของ เมสซี่ ที่ได้แชมป์ โกปา อเมริกา
รวมถึงในปีนี้ ที่ บัลลงดอร์ เป็นของ เมสซี่ ที่หลังพา อาร์เจนตินา คว้าแชมป์โลก ส่วน เออร์ลิ่ง ฮาลันด์ ที่ยิงไป 56 ประตูจาก 57 เกม แถมยังพา แมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าทริปเปิ้ลแชมป์ กลับพลาดรางวัล
จากเรื่องราวทั้งหมด แม้มุมหนึ่งจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ศักยภาพของ เมสซี่ ยังเป็นสุดยอดนักเตะของโลกและสมควรได้รับรางวัลนี้ แต่ในมุมกลับกันก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การเปลี่ยนกฎเกณฑ์พิจารณากลับไปกลับมาโดยไม่มีหลักที่ชัดเจน กำลังทำให้ "บัลลงดอร์" เสื่อมมนต์ขลังไปทุกขณะ
และต้องติดตามกันว่า หลังหมดยุคของ "เมสซี่-โรนัลโด้" แล้ว นับจากนี้ พวกเขาจะวางเกณฑ์กันอย่างไร