svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

กทม.เตือน ค่าดัชนีความร้อนวันนี้ อยู่ในเกณฑ์ "อันตราย"

23 เมษายน 2568
เกาะติดข่าวสาร >> NationTV
logoline

กทม.เตือน ค่าดัชนีความร้อนวันนี้ อยู่ในเกณฑ์ "อันตราย" แนะควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง-กลุ่มเสี่ยงควรสังเกตอาการตัวเอง พร้อมทำความรู้จัก "ดัชนีความร้อน" คืออะไร?

23 เมษายน 2568 กรุงเทพมหานคร แจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) ประจำวันที่ 23 เม.ย.68 ค่าดัชนีความร้อน (Heat Index) อยู่ในเกณฑ์ "อันตราย" พร้อมคำแนะนำในการปฏิบัติประชาชนทั่วไป ควรลดระยะเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยกลุ่มเสี่ยงควรจำกัดเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง (เวลา 11.00 - 15.00 น.) รวมทั้งสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์

ทำความรู้จักอะไรคือ "ดัชนีความร้อน"

ตามคำอธิบายขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA) หมายถึง อุณหภูมิที่ร่างกายมนุษย์รู้สึกตามความสัมพันธ์ระหว่างอุณหภูมิอากาศและความชื้น หรือก็คือ อุณหภูมิที่ร่างกายของเรารับรู้ได้ในขณะนั้นๆ

ทั้งนี้ ดัชนีความร้อน ได้จากการนำอุณหภูมิของอากาศที่วัดได้จริง (Air Temperature) และค่าความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ (Relative Humidity) มาวิเคราะห์หาค่าความสัมพันธ์ด้วยสมการถดถอยพหุคูณ (Multiple Regression Analysis หรือ MRA) ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ 2 ตัวขึ้นไป กับตัวแปร 1 ตัว ทั้งนี้ NOAA ได้สร้างตารางดัชนีความร้อนเอาไว้ เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถหาค่าดัชนีความร้อนได้ด้วยตัวเอง

โดยปกติแล้ว "ดัชนีความร้อน" จะมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิอากาศจริงเสมอ เนื่องจากความชื้นในอากาศมีผลต่อการระบายความร้อนของร่างกาย กล่าวคือเมื่ออากาศร้อน อุณหภูมิอากาศและความความชื้นสัมพัทธ์สูง เหงื่อที่ถูกขับออกมาจะไม่ระเหย ร่างกายจะรู้สึกเหนอะหนะ และร้อนมากกว่าอุณหภูมิจริง กลับกันในวันที่อุณหภูมิอากาศร้อน แต่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ เหงื่อที่ถูกขับออกมาระเหยได้ดี ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลง เราจะรู้สึกร้อนน้อยกว่าอุณหภูมิอากาศจริง

องค์การอนามัยโลก และกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย ได้ออกประกาศเตือนว่า ดัชนีความร้อนที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ อยู่ที่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่างกายจะอ่อนเพลียจากความร้อน ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียน และเป็นตะคริว หากดัชนีความร้อนอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่างกายมีความเสี่ยงจะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) และดัชนีความร้อน 43 องศาเซลเซียส ติดกันหลายวันอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากภาวะระบบในร่างกายล้มเหลวเนื่องจากอุณหภูมิสูงเกินไป

โดยดัชนีความร้อน (Heat Index) ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้ 

  • ระดับเฝ้าระวัง : 27-32.9 องศาเซลเซียส (สีเขียว) ทำให้อ่อนเพลียวิงเวียน คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความ ออกกำลังกาย หรือการใช้แรงงานกลางแจ้งท่ามกลางอากาศร้อน
  • ระดับเตือนภัย : 33-41.9 องศาเซลเซียส (สีเหลือง) เกิดภาวะตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดด หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
  • ระดับอันตราย : 42-51.9 องศาเซลเซียส (สีส้ม) มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด หรือ ฮีทสโตรก หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน
  • ระดับอันตรายมาก : มากกว่า 52 องศาเซลเซียส (สีแดง) เกิดภาวะลมแดด หรือฮีทสโตรก

 

ขอบคุณภาพ : กรุงเทพมหานคร ขอบคุณภาพ : กรุงเทพมหานคร

ผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน คือ ผลกระทบที่เกิดจากการรับสัมผัสอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นเกินกว่าระดับที่ร่างกายรับได้ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ ผื่นบวมแดง ตะคริว และโรคลมร้อน (Heat stroke)

ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก (0-5 ปี) ผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยหรือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ผู้ที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง และนักท่องเที่ยว


ขอบคุณภาพจาก : GettyImages ขอบคุณภาพจาก : GettyImages
 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : กรุงเทพมหานคร
ขอบคุณภาพบางส่วนจาก : GettyImages

logoline
News Hub