กรณีเจ้าหน้าที่ US Marshals ได้จับกุมตัว นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานนท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงาน พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ผู้ต้องหาคดีทุจริตเงินทอนวัด ได้ภายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ตามคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทางการไทยแล้ว
13 เมษายน 2568 ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ เปิดเผย ขั้นตอนในการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนว่า เมื่อจะมีการจับกุมตัวตามการประสานขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดนได้เเล้ว เเต่ขั้นตอนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากตัวผู้ถูกจับยังสามารถสู้คดีในการส่งผู้ร้ายข้ามเเดนในศาลของประเทศปลายทางได้อยู่ หลักคร่าวๆในการพิจารณาที่จะขอส่งผู้ร้ายข้ามเเดนจะต้องเป็นความผิดที่กฎหมายประเทศต้นทางเเละประเทศปลายทางบัญญัติให้เป็นความผิดของทั้งสองประเทศ เเละต้องไม่เป็นเรื่องการเมืองหรือการทหาร
ส่วนเรื่องระยะเวลาที่จะนำตัวกลับมาดำเนินคดีในไทยได้นั้น เราไม่สามารถก้าวล่วงได้เนื่องจาก เป็นกระบวนการภายในของประเทศนั้นๆ นอกจากคำร้องของประเทศต้นทางที่อัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางเเล้ว ขึ้นอยู่กับการต่อสู้คดีของผู้ถูกจับส่งตัวกลับด้วย
อย่างคดี นายราเกซ สักเสนา พ่อมดการเงินที่หนีคดีจากไทย ไปกบดานที่แคนาดา ซึ่งแม้จะถูกจับกุมได้ แต่นายราเกซ สู้คดีที่แคนาดา ใช้เวลาถึง 13 ปี กว่าที่ศาลแคนาดา จะสั่งให้ส่งตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย หรืออย่างคดีเณรคำ ก็ใช้เวลา 1-2 ปี เเต่ในบางคดีถ้าผู้ถูกจับกุมไม่คัดค้านอาจใช้ระเวลา 1-2 เดือนก็มีมาเเล้ว
หรือในบางประเทศ เเม้ศาลของประเทศปลายทางอนุญาตให้ส่งผู้ร้ายข้ามเเดนได้ เเต่หากสุดท้ายเเล้ว ฝ่ายบริหารของประเทศนั้นก็จะพิจารณาขั้นสุดท้ายอีกที ไม่ส่งก็ทำได้ เป็นไปได้หลายเหตุผล เช่น อาจจะมีเหตุที่ว่า ส่งไปเเล้วไม่เป็นประโยชน์กับประเทศปลายทาง หรือตัวผู้ร้ายมีหลายประเทศที่ต้องการตัวผู้ร้ายข้ามเเดนคนดังกล่าวอยู่เช่นกัน
รวมถึง การส่งตัวไปอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเป็นค่านิยมของประเทศปลายทาง ฉนั้นในทุกกรณีที่กล่าว ประเทศปลายทางก็อาจจะไม่ส่งตัวกลับมาก็ได้ เเม้จะมีสนธิสัญญา ตรงนี้ถือเป็นอำนาจพิจารณาของฝ่ายบริหารประเทศ เเต่หลักที่สำคัญอีกอย่างคือเรื่องข้อหา ในการขอจะต้องระบุชัดเจนว่าขอกลับมาดำเนินคดีข้อหาอะไรบ้าง ถ้าได้ตัวกลับมาจะดำเนินคดีข้อหาอื่นๆเพิ่มเติมกว่าที่ขอไปอีกไม่ได้