12 เมษายน 2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงษ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการประชุมครั้งแรก หลังจากเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ 2568 หรือศูนย์ 7 วันอันตราย ตั้งแต่ วันที่ 11-17 เมษายน ภายใต้ชื่อ "ขับขี่ปลอดภัยเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" ว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้น 211 ครั้ง ลดลงจากปีที่แล้ว 13.52% จังหวัดมุกดาหาร เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 11 ครั้ง รองลงมาจังหวัดสุพรรณบุรี 9 ครั้ง และจังหวัดพังงา จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเพชรบุรี 8 ครั้ง
ผู้บาดเจ็บที่ต้องนอนโรงพยาบาล 201 คน ลดลงจากปีที่แล้ว 19.92% จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดคือจังหวัดมุกดาหาร 12 คน รองลงมาได้แก่จังหวัดพังงา และสุพรรณบุรี 9 คน และจังหวัดราชบุรี จังหวัดลำปางจังหวัดลำพูน และจังหวัดเชียงราย 8 คน ผู้เสียชีวิต 27 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 27.03%
จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดคือกรุงเทพฯ 5 ราย รองลงมาได้แก่จังหวัดขอนแก่น จังหวัดตราด จังหวัดนครปฐมจังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอุดรธานี 2 ราย โดยสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ขับรถเร็ว อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากขับรถเร็ว 86 ครั้ง ตัดหน้ากระชั้นชิด 52 ครั้ง ดื่มแล้วขับ 48 ครั้ง
สำหรับสถิติคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติวันที่ 11 เมษายน ทั้งหมด 326 คดี มีการสั่งการให้ติดกำไล EM จำนวน 9 ราย คดีตามพ.ร.บ.การจราจรทางบก ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 276 คดี ติด EM 1ราย คดีขับแล้วเสพ 47 คดี ติด EM 8 ราย ขับรถประมาท 3 คดี จังหวัดที่มีสถิติขับรถขณะเมาสุรา 3 ลำดับแรกคือ จังหวัดนนทบุรี 40 คดี จังหวัดสมุทรปราการ 35 คดี และจังหวัดกำแพงเพชร 27 คดี
พร้อมกันนี้ นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงการรับมือช่วงวันเฉลิมฉลอง ว่า คงต้องเน้นย้ำตำรวจในการตั้งด่านต่างๆให้สังเกตพฤติกรรมไม่ใช่แค่ตั้งด่านเฉยๆ ซึ่งรองผบ.ตร.ได้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและตัวแทนที่เกี่ยวข้องเช่น กรมทางหลวงให้ใช้ความระมัดระวังและเพิ่มความละเอียดกำชับเข้มงวดรวมถึงนำข้อมูลต่างๆมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม วันนี้พบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนอกจากการดื่มแล้วขับแล้ว ยังมีการบริโภคยาบางชนิดเช่นยาแก้แพ้บางอย่างจะทำให้ง่วงนอน แต่ยังมียาคลายกล้ามเนื้อก็ทำให้ง่วงนอนเช่นกัน จึงอยากฝากประชาชนให้ดูแลในเรื่องนี้ด้วย เพราะการง่วงนอนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของการเสียชีวิต ดังนั้นถ้าง่วงนอนก็ขอให้จอดรถนอกพัก 10 -20 นาที และดื่มเครื่องดื่มเช่นกาแฟ อาจทำให้สดชื่นได้ ถ้าหากง่วงก็อย่าฝืนชีวิตความปลอดภัยสำคัญกว่า
ด้าน พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ได้สั่งการให้ตำรวจทั่วประเทศลงไปพื้นที่จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นงานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง หรืองานกินเลี้ยงกันภายในหมู่บ้านชุมชน เพื่อสร้างการรับรู้ให้รู้ว่า ผู้จัดงานต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ถ้ากรณีผู้ที่มาร่วมงานมีอาการมึนเมาสุราขับขี่ออกไปแล้วเกิดอุบัติเหตุ เพราะฉะนั้นจะเข้าไปประชาสัมพันธ์ทุกจุดหน้างาน หากพบก็จะขอให้พักอยู่ในพื้นที่จัดงาน หรือส่วนราชการใกล้เคียง หรือหน่วยบริการประชาชน และพยายามทำให้ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่สามารถครองสติได้ขับขี่รถให้น้อยที่สุด ซึ่งผู้จัดงานต้องให้ความร่วมมือในการสอดส่องดูแลผู้ที่มาร่วมกิจกรรม ถ้าดื่มสุราจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ก็ไม่ควรปล่อยให้ออกจากพื้นที่จัดงาน
นอกจากนี้ ก็มีการเน้นย้ำให้ตำรวจ เข้าไปอยู่ในปั๊มน้ำมัน เพราะคนดื่มสุรามักจะปวดปัสสาวะ และต้องการเข้าห้องน้ำ หากเราสังเกตเห็น พฤติกรรมเดินเซ หน้าแดง ก็จะมีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ และนำส่งหน่วยบริการประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อให้ได้พักก่อนที่จะขับขี่รถ