10 เมษายน 2568 ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ เป็นประธาน ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงกรณีงบประมาณการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว โดยผู้ว่าฯ สตง. มอบหมายให้ นายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ และ นางพิมพา วภักดิ์เพชร รองผู้ว่าฯ สตง. เข้าชี้แจงแทน นอกจากนี้ยังมี กรมบัญชีกลาง กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมสอบสวนคดีพิเศษ สภาวิศวกร การสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย
ซึ่งต่อมา น.ส.พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.สมุทรปราการ พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระฯ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงรายละเอียดโครงการก่อสร้างอาคาร สตง.แห่งใหม่ ที่พังถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว ทั้งการออกแบบ การจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้าง และการควบคุมงานก่อสร้าง โดยได้รับการยืนยันจาก สตง.ว่า ทุกอย่างดำเนินการตามกระบวนการกฎหมายทุกขั้นตอน
ส่วนการแก้ไขสัญญารวม 9 ครั้ง เนื่องจากปัญหาแบบงานโครงสร้างด้านวิศวกรรม ขัดกับงานสถาปัตยกรรม แต่ทุกกรณีได้หารือไปยังผู้ออกแบบทุกครั้ง สตง.ยืนยันไม่มีการแก้ไขโครงสร้างเสาให้เล็กลง รวมถึงคุณภาพเหล็ก ปูน ก็เป็นไปตามมาตรฐานมอก. มีการทดสอบแรงดึง และการดัดโครงของเหล็กผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ไม่มีการลดคุณภาพ
ส่วนกรณีที่อาคารใหม่ สตง.ถูกมองว่า ก่อสร้างใหญ่โตเกินความจำเป็นนั้น เนื่องจากปัจจุบัน สตง.ไม่มีสำนักงานของตัวเอง ตึกที่สร้างใหม่จะรองรับข้าราชการได้ 2,400 คน รวมถึงรองรับผู้แทนองค์กรตรวจเงินแผ่นดินต่างประเทศด้วย ส่วนเรื่องการประกันภัยตัวอาคารนั้น สตง.ยืนยันว่า ผู้ก่อสร้างได้ซื้อประกันภัยก่อสร้างครอบคลุมเต็มวงเงินในสัญญา
ด้าน นายสัญญา นิลสุพรรณ สส.นครสวรรค์ พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า การก่อสร้างอาคาร สตง.ล่าช้า ไม่เป็นไปตามสัญญา เพราะบริษัทรับเหมามีปัญหาเรื่องทุน ดังนั้นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงบอกเลิกสัญญาก่อสร้าง เมื่อวันที่ 15ม.ค.2568 แต่ขั้นตอนยกเลิกสัญญายังไม่เสร็จสิ้น อยู่ระหว่างรอให้คณะกรรมการ สตง.เป็นผู้อนุมัติ แต่ปรากฏว่า เกิดเหตุถล่มลงมาก่อน
เมื่อบริษัทผู้รับเหมาทราบว่า จะถูกยกเลิกสัญญาก่อสร้าง เพราะมีปัญหาเรื่องทุน จึงรีบเกณฑ์คนงานเข้ามาก่อสร้าง เพื่อให้เห็นว่า ตัวเองมีศักยภาพทำงานต่อไปได้ จากเดิมที่มีอยู่ 80 คนต่อวัน ขนคนมาเพิ่มเป็น 400 คนต่อวัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า จะออกมาแถลงความชัดเจนทุกเรื่องอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้
ภาพตึก สตง.ก่อนการถล่ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องประชุมกรรมาธิการนั้น นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ รองผู้ว่าฯ สตง. ชี้แจงข้อเท็จจริง และมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถนนทุกสายวิ่งมาที่ สตง. แม้แมลงวันบินผ่านก็ด่าได้ วันนี้ขอพูดข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่พิเศษ ฉะนั้นการก่อสร้างทั้งหมดต้องจ้างออกแบบและจ้างควบคุมงาน ส่วนเรื่องการป้องกันแผ่นดินไหวต้องไปถามผู้ออกแบบ ซึ่งเขาก็บอกว่าดำเนินการแล้ว
มีคนตั้งคำถามว่า มีคนแค่ 500 คนทำไมต้องสร้างตึกใหญ่โต คนที่พูดแสดงว่าไม่มีความรู้จริงๆ สตง.มีพนักงาน 4,000 คน จึงต้องสร้างตึกสูงแบบนี้ เห็นเมื่อไรก็เสียใจทุกครั้ง ตนยืนยันว่า การดำเนินการทุกอย่างยึดหลักกฎหมาย ตั้งแต่จ้างผู้ออกแบบ มีการแต่งตั้งกรรมการจ้างออกแบบ ส่งหนังสือเชิญผู้ให้24 ราย แต่มายื่นข้อเสนอ 3 ราย
นายสุทธิพงษ์ บุญนิธ รองผู้ว่าฯ สตง.
จากนั้นคณะกรรมการพิจารณาตามเกณฑ์คะแนน พบว่า บริษัท บจก.ฟอ-รัม อาร์คิเทค และบจก.ไมนฮาร์ท ประเทศไทย ได้รับคะแนน 91.12 คะแนน จึงอนุมัติจ้างออกแบบ ในวงเงิน 73 ล้านบาท จากนั้นคัดเลือกบริษัทควบคุมงาน คณะกรรมการได้ส่งหนังสือเชิญผู้ให้บริการ จำนวน 19 ราย มีมา 5 รายที่ส่งข้อเสนอมา ระหว่างนั้น สตง.ได้ขอเข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรมด้วย แต่คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต แจ้งไม่คัดเลือกตึก สตง.เข้าร่วมข้อตกลงคุณธรรม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะที่การจัดซื้อจัดจ้างก็เป็นไปตามเงื่อนไขของกรมบัญชีกลาง ที่มีผู้เข้าประกวดราคา 16 ราย แต่ “กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี” เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยไม่พบช่องว่า มีการฮั้ว และคำตอบที่ได้รับ คือบริษัทดังกล่าวมีทุน และเทคโนโลยีจากจีน โดยบริษัทนี้อ้างว่า ทำงานได้ แม้จะได้งบประมาณตามที่เสนอราคาไว้ ส่วนเรื่องเพื่อความโปร่งใส สตง.ได้ทำ MOU กับ ACT องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบร่วมด้วย
ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี สามารถขยาย 2 ครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด และมีการปรับรูปแบบ แต่ผ่านมา 4 ปี เพิ่งสร้างได้ 33 % เพราะผู้รับเหมาก่อสร้างมีปัญหาเรื่องทุน คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงมีมติบอกเลิกสัญญาไป เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 แล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่า ได้มาเกิดเหตุอาคารพังถล่มลงมาเสียก่อน
สตง.ยืนยันว่า ไม่เคยรู้เรื่องบริษัทจีนที่มาร่วมก่อสร้าง เพราะอิตาเลียนไทยออกหน้ามาตลอด สตง.ยังดีใจว่า ได้บริษัทที่มีระดับเบอร์ 1 ของประเทศ มารับสร้างโครงการนี้ จากนั้นประธานในที่ประชุม ได้ขอเชิญสื่อมวลชน ออกจากห้องประชุมเนื่องจากต้องซักถามในประเด็นที่ละเอียดอ่อน