อย่าปล่อยให้เป็นไฟไหม้ฟาง คือ ระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติ ซึ่งล้มเหลวโดยสิ้นเชิงจากกรณีแผ่นดินไหว จนถึงป่านนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้ข้อความแจ้งเตือนแม้แต่ข้อความเดียว
ขณะที่บางคนเริ่มได้รับโทรศัพท์จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แนะนำให้ลงทะเบียนรับการแจ้งเตือน หรือแจ้งยืนยันทางโทรศัพท์ว่าจะรับการแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือไม่
กลายเป็นความงุนงงสงสัยว่า เป็นศูนย์เตือนภัยฯโทรมาจริงๆ หรือคอลเซ็นเตอร์กันแน่ เพราะเรื่องแบบนี้ควรแจ้งเตือนเป็นการทั่วไปโดยไม่ต้องถาม และไม่ต้องลงทะเบียนก่อน
มีตัวอย่างดีๆ จากงานประชุมสัมมนาขององค์กร European Emergency Number Association หรือ EENA เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ที่ไม่ใช่ของรัฐ เรียกว่า NGO ก็ได้ มีพันธกิจเรื่องการวางและพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยของสหภาพยุโรป มีสมาชิก 17 ประเทศ
หลักการ คือ เมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย หรือภัยพิบัติ ผู้ประสบเหตุสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน ขณะที่การแจ้งเตือนภัย ก็ทำได้ทันการณ์ ครอบคลุม และกระจายไปยังพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันเหตุแทรกซ้อน และเพื่อความปลอดภัยสาธารณะในภาพรวม
การประชุมนี้จัดขึ้นที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ มีกรรมการ กสทช.ของไทย 2 คนไปร่วมด้วย คือ พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร และ นายต่อพงษ์ เสลานนท์
โดย พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. เผยว่า ในการประชุมวันแรก มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์มากมาย
1.หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย หรือแจ้งเพื่อเตือนภัย ทั่วทั้งยุโรปใช้หมายเลขเดียว คือ 112 และรับแจ้งทุกเหตุ จากนั้นทางระบบจะบริหารจัดการต่อเอง
แตกต่างจากไทยที่มีการแยกย่อยหลายเบอร์ เช่น 191 แจ้งอาชญากรรม , 199 แจ้งเพลิงไหม้ , 1669 แจ้งป่วยฉุกเฉิน
เมื่อมีหลายเบอร์ ทำให้ประชาชนสับสน จำไม่ได้ ยิ่งชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยว ยิ่งจำไม่ได้เลย และตัวเลขไม่ค่อยเป็นสากล
2.มีศูนย์แจ้งเตือนภัย ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหน่วยเดียว รายเดียว บริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ
โดยระบบทั้งหมดนี้ ประเทศไทยยังแทบไม่มี
3.การสื่อสารข้อมูลฉุกเฉิน หรือข้อความแจ้งเตือนภัย ต้องครอบคลุมชาวต่างชาติที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงด้วย
ฉะนั้นข้อความแจ้งเตือน ต้องเปลี่ยนภาษาไปตามภาษาที่ตั้งไว้ในเครื่องโทรศัพท์ ไม่ใช่เตือนเป็นภาษาท้องถิ่นที่เครื่องนั้นเปิดใช้อยู่ เพราะหากเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็จะอ่านไม่เข้าใจ
โดยระบบนี้ประเทศไทยก็ยังไม่มี
4.กลุ่มคนพิการ กลุ่มเปราะบาง ต้องสามารถเข้าถึงบริการได้ อย่างน้อย 1 ช่องทาง จาก 3 ช่องทางที่มีการแจ้งเตือน
หากเป็นคนทั่วไป อยู่กับเครื่องโทรศัพท์ เวลามีแจ้งเตือนภัยพิบัติ จะรับได้ทั้ง 3 ช่องทาง
กรณีคนที่ไม่ได้อยู่กับโทรศัพท์ จะได้รับการแจ้งเตือนทางเสียง กับไฟแฟลช
กรณีคนพิการหรือกลุ่มเปราะบาง จะได้รับการแจ้งเตือนอย่างน้อย 1 อย่าง เช่น พิการทางสายตา ก็จะได้เสียง พิการทางการได้ยิน ก็จะได้ไฟแฟลช และระบบสั่น เป็นต้น
โดยระบบนี้ ประเทศไทยยังไม่มี หรือมีบ้างแต่ก็ไม่ครอบคลุม
5.วิธีการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติ หรือเหตุด่วนเหตุร้ายอื่นๆ หลักการคือ
6.ต้องมีระบบเสริม กรณีเกิดแผ่นดินไหว หรือสึนามิ แล้วโครงข่ายโทรศัพท์มือถือถูกทำลาย
ต้องใช้ดาวเทียมวงโคจรต่ำ เช่น สตาร์ลิงค์ วันเว็บ กาลิเลโอ ส่งข้อความแจ้งเตือนได้
7.ต้องมีระบบให้ผู้ประสบเหตุภัยพิบัติ ส่งข้อความขอความช่วยเหลือผ่านดาวเทียมได้ ในกรณีที่ติดอยู่ในจุดที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ อย่างน้อยเพื่อระบุตำแหน่ง
8.เมื่อเกิดภัยพิบัติ ต้องมีข้อความแจ้งเตือนผ่านแพลตฟอร์มอื่น เช่น โทรทัศน์ เตือนที่หน้าจอทันที หรือบิลบอร์ดต่างๆ และมีคิวอาร์โค้ด ให้สแกนข้อมูลแบบยาวขึ้น นอกเหนือจากคำเตือนแบบสั้นๆ เช่น วิธีการปฏิบัติตัวแบบละเอียด
9.เหตุฉุกเฉิน นอกจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ให้รวมถึงการโจมตีในที่สาธารณะ การก่อการร้าย หรือแม้แต่เด็กหาย คนหาย ก็ถือเป็นเรื่องฉุกเฉินทั้งหมด เพียงแต่การแจ้งเตือนจะกำหนดพื้นที่ตามขนาดของผลกระทบของเหตุการณ์
พล.ต.อ.ณัฐธร บอกด้วยว่า ข้อมูลเหล่านี้ถือว่า มีความสำคัญสำหรับประเทศไทยที่กำลังเร่งวางระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติ เพราะหลายๆ เรื่องเราอาจมองข้าม จึงต้องศึกษาประสบการณ์จากหลายๆประเทศที่พัฒนาระบบมาก่อนไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก