9 เมษายน 2568 ความคืบหน้าการค้นหาผู้สูญหาย วันที่ 12 กำลังจะเข้าสู่วันที่ 13 ของการค้นหา ตัวเลขผู้เสียชีวิตวันนี้ขยับเป็น 22 รายแล้ว ผู้สูญหายยังเหลืออีก 72 ราย
โดยช่วงเช้าที่ผ่านมา พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำทีมเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ลงพื้นที่มายังที่เกิดเหตุ ตึก สตง.ถล่ม เพื่อเตรียมเก็บพยานหลักฐาน นำไปตรวจสอบในชุดของคดีพิเศษ ทั้งประเด็น กฎหมาย นอมินี และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะเรื่องของการประกวดราคา ที่จะต้องเก็บวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างไปทำการตรวจสอบ หลังเข้าหารือกับ กทม.และตำรวจพิสูจน์หลักฐาน จากนั้นจึงได้เข้าไปบริเวณที่เกิดเหตุ เนื่องจากมีเวลาการตรวจเก็บพยานหลักฐานถึง 11.00 น.
โดยตั้งแต่เช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินทางมาจุดที่ "ตึก สตง.ถล่ม" เพื่อบัญชาการ และปรับแผนการค้นหาผู้สูญหาย
โดย นายชัชชาติ บอกสั้นๆว่า หลังจากรถแบล็กโฮ ไต่ระดับขึ้นไปลดขนาดความสูงของเศษซากอาคารได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ซึ่งขณะนี้ลดลงไปได้ 3-4 เมตร โดยถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญในการสร้างความปลอดภัยและเปิดพื้นที่ค้นหาให้เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว
ถึงแม้ขณะนี้จะยังไม่มีรายงานว่าพบผู้สูญหายเพิ่มเติม แต่เจ้าหน้าที่ยังมีความหวังและมุ่งมั่นในการปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มที่ โดยมีการวางแผนและปรับกลยุทธ์การทำงานอย่างต่อเนื่อง
โดย นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า วันนี้ เป็นการเข้าไปที่หน้าไซด์งาน เพื่อสำรวจพื้นที่ และยังไม่ได้เข้าเก็บหลักฐานวันนี้ เพราะ 11.00 น. เครื่องจักรจะทำงานแล้ว
วันนี้จึงทำการสำรวจแล้วจะกลับไปประชุมวางแผนในการเข้าเก็บตัวอย่างหลักฐาน ให้เป็นไปตามกระบวนการสืบสวนสอบสวน เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเรื่องของการเก็บพยานหลักฐานทั้งหมด และในฐานะที่กระทรวงอุตสาหกรรม กำกับดูแลสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ยังยืนหลักในเรื่องของการตรวจวัสดุ ที่อยู่ในมาตรฐานบังคับ ของมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยจะเข้าไปเก็บตัวอย่างของ เหล็ก เนื่องจากที่เข้าไปวันแรกสามารถเก็บตัวอย่างได้แค่ประมาณหนึ่ง
ซึ่งหลังจากนี้จะเข้าไปตรวจสอบในจุดอื่นๆ ทั้งหมด 4 โซน เป็นการใช้ตัวอย่างร่วมกัน ส่วนจะต้องเก็บวัสดุอื่นนอกจากเหล็กหรือไม่นั้นหากอยู่ภายใต้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบังคับภายใต้ มอก. ก็จะต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด ยืนยันว่ากระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้กังวลใจอะไรหลัง บริษัทซิน เคอ หยวน ออกมาความเคลื่อนไหว โต้แย้งกับทางกระทรวงอุตสาหกรรมเพราะทุกอย่างปฏิบัติตามข้อเท็จจริง
ส่วนความคืบหน้าในการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุอาคารสตง.ถล่ม วันนี้วันที่ 12 เข้าสู่วันที่ 13 แล้ว เจ้าหน้าที่ที่ยังคงเร่งเปิดพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด สามารถที่จะขยับรถแบล็กโฮ ขึ้นไปอยู่ตรงกลางซากปรักหักพัง ช่วงโซน D ที่มีปูนทับกันอยู่เป็นชั้นแบบแพนเค้กได้แล้ว เพื่อจะทำการเคลียร์ซากปรักหักพัง จากบนยอดโซน E เปิดพื้นที่ค้นหาผู้สูญหายได้แล้ว และยังได้ใช้กำลังชุดค้นหาเดินเท้า ที่มีทั้งตำรวจพลร่ม กู้ภัย และปภ. ขึ้นไปบนยอดของกองซากปรักหักพัง เพื่อเคลียร์ซากวัสดุต่างๆจากด้านบน และค้นหาผู้สูญหายบริเวณโซน E ด้วย เนื่องจากมีข้อมูลว่าคนงาน 14 คน ได้ทำงานอยู่ชั้น 28-29 ก่อนเกิดเหตุอาคารถล่ม และการเปิดพื้นที่บนยอดโซน E จะทำให้ลดความชันของพื้นที่โซน C และโซน D ได้ด้วย
ทั้งนี้ การเปิดพื้นที่จะต้องเน้นการใช้เครื่องจักรหนัก ซึ่งยังมีการนำเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง อย่างรถแบล็กโฮขนาด 120 ตัน คันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ระหว่างการนำเข้ามาในพื้นที่ด้วย
ขณะเดียวกัน "ช่างเบิร์ด" นายฐิติพงษ์ โพธิพรหม หรือ "ช่างเบิร์ด" หัวหน้าวางระบบไฟฟ้า ผู้รับเหมาถูกบริษัทเบี้ยวค่าจ้างทำระบบไฟตึก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.บางซื่อ เดินหน้าทวงเงิน ไชน่าเรลเวย์ บริษัทจีน จ่ายเงินค่าจ้างให้ผู้รับเหมางานก่อสร้าง กว่า10 เจ้า ค้างเงินรวมกันประมาณ 10 ล้านบาท
โดย ช่างเบิร์ด เผยว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 67 ตนเคยมาเเจ้งความกับตำรวจเเล้วว่า ถูก บริษัท แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็น บริษัทซับคอนแทค จาก บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ที่ค้างค่าจ้างผู้รับเหมาหลายราย รวมกว่า 10 ล้านบาท เเต่ตำรวจไม่สามารถดำเนินการใดๆใด้ บอกให้ไปฟ้องร้องเอาเอง
ทางผู้ว่าจ้างมีหนังสือสัญญาสเเดงถึงเจตนาที่จะจ่ายค่าจ้าง และการเดินทางมาวันนี้ เนื่องจากพนักงานสอบสวนโทรติดตามให้มาเข้าพบ โดยที่ผ่านมาเคยรวมตัวเเละปรึกษากันในการจ้างทนาย เเต่ค่าจ้างทนายสูง 5 -6 เเสน จ้างไม่ไหว จึงรวมตัวกันออกไปประท้วง ดับเครื่องชน ไปประท้วงที่ไซต์งาน ที่กำลังก่อสร้างตึก สตง.เพราะทราบว่า ผู้ว่า สตง.จะมาตรวจตึก ว่าพวกเรามาทำงานเเล้วไม่ได้เงิน พวกเราเดือดร้อนจริงๆ เเต่ปรากฏว่าก็ไม่ได้เจอผู้ว่าฯ สตง.ที่คาดหวังว่าจะได้เจอ
แต่เมื่อภายหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวออกไป ยังไม่มีสัญญาณว่าจะได้รับเงินค่าจ้าง เเต่ทางบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ได้นัดพูดคุยกันบ่ายวันนี้เพื่อเจรจา เเละพูดคุยกันในเรื่องเอกสาร ที่รับงาน เเต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างไร ส่วนตนมองว่าปัญหาเรื่องนี้ ขอให้จ่ายเงินค่าเเรงคืนมาเเค่นั้นก็จบ เพราะตนก็อยากได้ค่าจ้าง เพราะลงเเรง ลงทุนทำงานไปเเล้ว
สำหรับเงินที่ ผู้ว่าจ้างยังค้างเฉพาะ ของตน ถูกติดค้างอยู่ 3.7 ล้านบาท หวังว่าการพูดคุยในช่วงบ่ายวันนี้ จะได้รับเงินทั้งหมดมาเป็นเงินก้อนเพื่อไปปลดหนี้ที่ได้นำทรัพย์สมบัติไปจำนองไว้ ส่วนหากจะมีการผ่อนผัน หรือ ผ่อนจ่าย เห็นว่ามันไม่ควร เเละ ส่วนตัวชื่อว่า ผู้ว่าจ้างนั้นยังมีศักยภาพในการจ่าย เพราะเห็นว่ายังมีเงินหมุนเวียน ที่จะต้องนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารที่ยีงไม่เเล้วเสร็จ
ดูคลิป