1 เมษายน 2568 นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ในฐานะทีมกู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู เผยความคืบหน้าในการค้นหาผู้สูญหาย เหตุอาคารโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่ม จากแผ่นดินไหวว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าได้ใช้เครื่องมือหนัก ในการยกซากปรักหักพัง และใช้อุปกรณ์ในการเจาะ เพื่อที่จะพยายามเข้าไปนำร่างของผู้เสียชีวิต และคาดว่าน่าจะมีผู้สูญหาย ติดอยู่ภายในซากปรักพังจำนวนมาก ออกมาให้หมด
ขณะนี้ใช้เครื่องสแกนพบว่า มีมากกว่า 70 คน อยู่บริเวณตรงกลาง กระจุกตัวรวมๆ กัน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ความลึกใต้ซากระยะกี่เมตรจากยอด แล้วหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ที่ยังพบมีผู้รอดชีวิตอยู่ในกลุ่มนั้น
ส่วนอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากอาคารแห่งนี้เป็นอาคาร 30 ชั้นและยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่มีแปลนอาคารแบบสมบูรณ์ ประกอบกับพื้นปูน ขนาบด้านข้างมีความหนา เป็นเมตรทำให้การเจาะเข้าไปด้านใน ทำได้ยากลำบาก
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะรีบดำเนินการ ในการใช้เครื่องมือหนัก เข้าไปในพื้นที่ เพื่อเร่งนำร่างผู้เสียชีวิต ออกมาโดยเร็วที่สุด เพราะการทำงาน 4 วันที่ผ่านมา สามารถเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตออกมาได้เพียง 14 รายเท่านั้น โดยวิธีการเข้าไปนำร่างของผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายออกมา จะต้องใช้การค่อยๆ ยกแผ่นปูนด้านบนออก สลับกับการเจาะผนัง และเข้าไปพิสูจน์ทราบ จากการประเมิน และที่ได้ข้อมูลจากโครงการ คาดว่า ผู้สูญหาย จะอยู่ที่บริเวณชั้น 17 และ 21 เพราะในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังทานข้าวเสร็จ เพราะเป็นห้องที่ทำงานกัน เมื่อผู้บริหารทานข้าวเสร็จก็จะอยู่บริเวณดังกล่าว
ทั้งนี้จะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น เพราะภายในมีฝุ่นละอองจำนวนมาก โดยสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ ต้องนำปูนที่ทับกันออกให้เร็วที่สุด จนกว่าจะไปเจอโถงตามภาพที่สแกนไว้
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เจ้าหน้าที่ทำงานล่าช้า ยืนยันว่าการทำงานไม่มีการเกี่ยงกันในการทำงาน และไม่ได้ทำงานอย่างล่าช้า
"ถ้าคุณมาเห็นหน้างาน และเห็นการทำงานของพวกเรา เพราะเราสแกนเห็นว่า ยังมีผู้รอดชีวิต อันดับแรกจะไม่ไปไหน จะทำการเจาะและทำทุกอย่าง ดังนั้น การทำงานช้าหรือเกี่ยงกันในการทำงาน หรือไม่มีความรู้ไม่ใช่อย่างแน่นอน แต่อะไรที่ไม่สามารถเข้าไปได้ด้วยตนเอง ก็ยอมรับว่าต้องใช้เครื่องมือหนัก ในการดำเนินการ เพราะหากใครมาดูหน้างานจะรู้ว่า การทำงานยากมาก"
นายบิณฑ์ กล่าวว่า ส่วนการทำงานกับทีมกู้ภัยต่างชาติ สามารถทำงานร่วมกันได้ดี เพราะที่ผ่านมาทีมกู้ภัยของมูลนิธิร่วมกตัญญู ก็เคยไปฝึกที่ต่างประเทศ จึงมีความรู้ความสามารถในการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งก็ต้องยอมรับ เครื่องมือกู้ภัยของต่างชาติ มีประสิทธิภาพ มากกว่าของประเทศไทย
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่และทีมกู้ภัย ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะใช้ระยะเวลากี่วัน ในการนำร่างผู้สูญหาย ทั้งหมดออกมา ส่วนขั้นตอนการนำร่างผู้เสียชีวิต ออกมาต้องนำมาใส่ถุงซิปล็อค จากนั้นจะให้บริษัท และญาติยืนยัน ตัวบุคคล ด้วยการดูเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ก่อนนำส่งนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจ