29 มีนาคม 2568 เวลา 18.00 น. ทีมข่าวเนชั่นทีวี ยังเกาะติดปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์ ตึก สตง.ถล่มเนื่องจากแผ่นดินไหว เมื่อวานนี้(28มี.ค.2568)
ล่าสุดเจ้าหน้าที่ลำเลียง ผู้เสียชีวิตออกมาเพิ่ม1 ราย หลังจากที่นำรถเเบ็คโฮเข้าไปขุดรื้อบริเวณตำเเหน่ง โซนD ของอาคารสำนักงานตรวจเงินเเผ่นดิน (สตง.) ที่พังถล่มลงมา ท่ามกลางการรอคอยของญาติพี่น้องที่ต่างมาเฝ้ารออย่างมีความหวัง โดยข้อมูลล่าสุด เมื่อเวลา 18.00 น. พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม อีก3 จากเดิม 8 ราย รวมจำนวนผู้เสียชีวิต 11 รายบาดเจ็บ 8 ราย คงเหลือผู้สูญหาย 79 ราย
คุณแม่มาจาก ศรีษะเกษ ร่ำไห้ตามหาลูกสาว น้องมายด์ อายุ17ปี มาทำงานก่อสร้างวันแรก ยังไม่รู้ชะตากรรม คุณเเม่อยากเจอลูกสาว เเละหวังว่า เจ้าหน้าที่จะนำลูกสาวออกมาได้อย่างปลอดภัย เเต่ก็มองว่าการช่วยเหลือยังล่าช้า
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)
ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่า ขณะนี้ พบผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 ราย หลังเข้าตรวจสอบพื้นที่ ยอมรับว่า การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาจล่าช้า ล่าสุดสามารถช่วยเหลือผู้ติดอยู่ใต้ซากออกมาได้1 รายในตำแหน่ง A และยังพบผู้เสียชีวิตอีก 2 รายที่จุดเดียวกัน ซึ่งยังไม่สามารถนำร่างออกมาได้ เนื่องจากวัสดุที่ถล่มลงมามีน้ำหนักมาก การใช้มือเปล่าจะทำให้ล่าช้า แต่หากมีเครื่องมือที่สามารถคีบอุปกรณ์วัสดุออกมาได้ ก็จะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วขึ้น
เจ้าหน้าที่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตเป็นหลัก โดยใช้สุนัขK9 และกล้องสแกน เพื่อตรวจสอบว่ามีผู้ติดอยู่ใต้ซากหรือไม่ จากการสำรวจพบว่า ตำแหน่งของผู้ติดอยู่กระจายไปทั่วอาคาร ไม่ได้อยู่เฉพาะบริเวณจุดหนีไฟเท่านั้น เนื่องจากขณะเกิดเหตุ ผู้คนต่างพยายามวิ่งหนีเอาตัวรอด ทั้งนี้ พื้นที่โซน A เป็นจุดที่พบผู้ติดอยู่มากที่สุด โดยมีการระบุตำแหน่งที่ชัดเจนขึ้น
สำหรับ ส่วนของโซน C ขณะนี้ ยังไม่พบสัญญาณชีพ หรือผู้ติดอยู่ใต้ซาก ส่วนโครงสร้างอาคารที่พังถล่มลงมายังไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีชั้นใต้ดินหรือไม่ ต้องตรวจสอบแบบแปลนการก่อสร้างเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม อาคารข้างเคียงมีชั้นใต้ดิน ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบต่อไป ขณะนี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุของการถล่ม
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การกู้ภัยเป็นไปได้ยาก เนื่องจากวัสดุที่ถล่มลงมาเรียงตัวเป็นรูปหน้าจั่ว ทำให้การรื้อถอนมีความซับซ้อนมากขึ้น ในอดีตเคยมีอาคารถล่มในลักษณะนี้ แต่เป็นเพียง 5-7 ชั้น ซึ่งมีน้ำหนักน้อยกว่า ขณะที่ อาคารที่เกิดเหตุมีถึง 33 ชั้น ทำให้น้ำหนักของวัสดุที่ทับถมกันมากขึ้น
นอกจากนี้ จากการตรวจสอบวิดีโอขณะถล่มลงมาพบว่า อาคารโน้มไปทางตำแหน่ง A และมีวัสดุหลายชั้นถล่มทับลงมา ส่งผลให้การกู้ภัยมีความยากลำบาก
ขณะที่ ทีมกู้ภัย เปิดเผยกับทีมข่าวเนชั่นทีวีว่า ทุกวินาทีมีค่าสำหรับกู้ภัย ที่จะให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิต เเละคนที่บาดเจ็บ แต่ที่ช่วยเหลือล่าช้า เพราะกังวลความปลอดภัย ซากอาคารจะถล่มลงมาเพิ่ม ทำให้ญาติอาจมองว่า กู้ภัยไม่ทำอะไร