20 มีนาคม 2568 เมื่อเร็วๆนี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรมปัจฉิมนิเทศให้กับนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่สำเร็จการศึกษา จำนวนทั้งสิ้น 2,603 คน จากสถานศึกษาสายอาชีพในโครงการฯ จำนวน 78 แห่ง ครอบคลุม 39 จังหวัด โดยจัดพร้อมกัน 10 จังหวัด
สำหรับสาขาที่จบเป็นสาขาเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ สาขาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ เทคโนโลยีเกษตรนวัต เมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ช่างอากาศยาน เทคนิคระบบขนส่งทางราง เทคนิคยานยนต์ไฟฟ้า การจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ช่างไฟฟ้ากำลัง ช่างผลิตเครื่องมือและแม่พิมพ์ อาหารและโภชนาการ การจัดประชุมและนิทรรศการ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า การดำเนินงานของกสศ. มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดหลักประกันการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้เต็มตามศักยภาพ สำหรับเด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ(ม.3) เพิ่มขึ้น เพื่อโอกาสในการก้าวออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่น โครงการนี้ทดลองดำเนินงานมาแล้ว 6 รุ่น พบว่า การสนับสนุนทุนการศึกษาระยะสั้น เช่น หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ และสาขาเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ คือรูปแบบการเรียนรู้ที่แก้ปัญหาความยากจนให้แก่เยาวชนกลุ่มนี้ได้ผลมากที่สุด เปลี่ยนชีวิต มีอาชีพ สร้างรายได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ช่วยยกระดับทางสังคม (Social Mobility) และขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ในรุ่นของตนเอง
"กสศ. ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังได้ประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม จากการลงทุน (Social Return on Investment : SROI) ในโครงการนี้ โดยประเมินรายได้ตลอดช่วงชีวิต พบว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง โดยเฉลี่ย SROI ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 2- 4 เท่า ถือว่าเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนทางสังคมที่สูงมาก แต่ความคุ้มค่าที่สุดของการลงทุนไม่ได้อยู่ที่ตัวเงิน แต่เป็นความคุ้มค่าที่เราสร้างคนที่มีทักษะชีวิต มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม มากกว่าเศรษฐกิจของตนเองและครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่อยากทำเพื่อผู้อื่น สัญญาทุนเราอาจจบในวันนี้ แต่สัญญาใจที่จะร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศไทยจะไม่มีวันสิ้นสุดตลอดไป"