หมุนเข็มนาฬิกา กลับไปเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2567 เกิดฝนตก และมีน้ำป่าไหลหลาก บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ทำให้เส้นทางหลักเข้าประตูมหาวิทยาลัยถูกตัดขาด
ต่อมา ในวันที่ 17 ส.ค. 2567 หลังจากมีฝนตกลงมาต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมจนเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบ 9 อำเภอ 16 ตำบล 42 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (1 ชุมชน) บ้านเรือนประชาชน 1,665 ครัวเรือน นาข้าว 200 ไร่ บ่อปลา 20 บ่อ ถนน 10 สาย ฝาย 2 แห่ง ท่อระบายน้ำ 2 แห่ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังสถานการณ์ พบว่า ภาพรวมระดับน้ำแม่น้ำสายหลักมีแนวโน้มทรงตัว
ด้าน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานว่า ขณะนั้น มี 9 อำเภอ ของจังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอพญาเม็งราย เทิง แม่จัน เวียงแก่น เวียงชัย แม่สาย แม่จัน และอำเภอขุนตาล ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยจากน้ำท่วม
นอกจากบ้านเรือนประชาชนที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ยังมีพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนาข้าวที่ต้นข้าวแช่น้ำเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ต้นข้าวเริ่มเน่าเสียด้วย
ด้าน จ.แม่ฮ่องสอน ก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ ต.ห้วยผา อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ทางหน่วยงานภาครัฐได้เข้าไปซ่อมแซมและฟื้นฟู ตลอดจนตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ล้มทับเส้นทาง เพื่อเปิดเส้นทางให้สามารถสัญจรได้ตามปกติ
21 ส.ค. 2567 จังหวัดเชียงรายมีฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้พื้นที่ที่ติดติดเขาดินทรุด และพื้นที่ติดลำแม่น้ำที่ต้องระบายลงแม่น้ำโขง หมู่บ้านติดลำแม่น้ำ ซึ่งที่เวียงแก่น จ.เชียงราย เกิดมีฝนตกหนักมาตลอดหลายวัน น้ำป่าได้ไหลลงสู่แม่น้ำงาว จนน้ำในแม่น้ำงาว มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ก่อนเอ่อล้นพื้นที่ตำบลปอ ตำบลท่าข้าม ตำบลหลายงาว
จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนตามเขาทรุดหนัก มีสะพานขาด ดินสไลด์ปิดทางเข้าหมู่บ้าน รถสัญจรผ่านไม่ได้ หลายหมู่บ้านถูกตัดขาดจากภายนอก และบางพื้นที่ขณะที่น้ำป่ามาต้องหนีเอาตัวรอดขึ้นที่สูงไปอยู่บนหลังคาบ้าน เพื่อเอาชีวิตรอด ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้าเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ไปในที่ปลอดภัย
ส่วนที่ จ.น่าน เกิดอุทกภัยฉับพลันจากน้ำป่าที่ไหลหลาก กระทบต่อประชาชนในพื้นที่ อ.ทุ่งช้าง จากนั้น ในวันที่ 23 ส.ค. เขตเศรษฐกิจใน อ.เมืองน่าน ยังคงมีน้ำท่วมเป็นวงกว้าง โดย นายกเทศบาลเมืองน่าน ระบุว่า อุทกภัยครั้งนี้มากที่สุดในรอบ 100 ปี
ขณะที่ จ.แพร่ "แม่น้ำยม" ได้ไหลท่วมที่ อ.เมืองแพร่ ทำให้ย่านเขตเศรษฐกิจ รวมถึง ศูนย์ราชการและชุมชนบริเวณโดยรอบ ได้รับผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรได้
ช่วงเดือนกันยายน เกิดอุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยน้ำที่ท่วมในชุมชนนั้นไหลเชี่ยวกราด และท่วมสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผู้ประสบภัยติดอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหลายร้อยครอบครัว
เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิต่างๆ กำลังทหาร ตำรวจ ธารน้ำใจจากคนไทย คนดัง อาทิ "คุณบุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี" จากองค์กรทำดี, "คุณกัน จอมพลัง", "คุณเปิ้ล นาคร ศิลาชัย" ดารานักแสดง และคนดังอีกหลายๆ ท่าน รวมถึง หลายๆ ฝ่าย ต่างทุ่มเทอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย
โดยหนึ่งในทีมที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย คือ ทีมเจ็ตสกี สมาคมเจ็ทสกีแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในทีมที่ฝ่ากระแสน้ำไหลเชี่ยว เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในอาคารบ้านเรือนออกมาได้สำเร็จ ซึ่งภารกิจนี้ต้องใช้ความชำนาญ และประสบการณ์สูง เนื่องจากกระแสน้ำแรงกว่าที่เคยเจอมา
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.เชียงราย ถือว่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ อ.แม่สาย เขตเศรษฐกิจ แนวชายแดนไทย-เมียนมา ที่น้ำสายไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว หนักที่สุดคือชุมชนริมน้ำ ซึ่งครั้งนี้ถือว่าเป็นน้ำท่วมครั้งที่ 8 ในรอบปี หลายครอบครัวถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตรนานกว่า 3 วัน
นอกจากชุมชนริมน้ำแล้ว ที่บริเวณตลาดสายลมจอยในเขตด่านถาวรแม่สายก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทำให้สองฝั่งใน อ.แม่สาย และจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
จากอุทกภัยในพื้นที่ อ.แม่สาย หลังน้ำลดแล้ว ปรากฏว่าพบดินโคลนทับถมจำนวนมาก ทำให้ยากต่อการฟื้นฟูด้วย
ขณะที่ ใน จ.พะเยา เกิดน้ำท่วมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ทำให้นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ และมวลน้ำดังกล่าว ยังไหลไปถึงเขต ต.แม่ต๋ำ รวมถึง เขตเทศบาลเมืองพะเยา ด้วย
อีกจังหวัดหนึ่งที่เผชิญกับน้ำท่วมในปีนี้ คือ จ.เชียงใหม่ โดยเมื่อวันที่ 23-24 ก.ย. 2567 "แม่น้ำปิง" รับน้ำป่าจากหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ทางตอนเหนือ ทำให้ระดับแม่น้ำปิงสูงขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเลยระยะวิกฤตในวันที่ 24 ก.ย. และทะลักเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่
น้ำท่วมเชียงใหม่ปีนี้ นับว่าหนักสุดตั้งแต่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่มาสองครั้งในปี 2548 และปี 2554 ซึ่งปรากฏการณ์ น้ำปิงเอ่อล้นเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์มีปริมาณน้ำปิงสูงสุดที่ 4 เมตร 93 เซนติเมตร เมื่อกลางดึกวันที่ 25 ก.ย.67 แซงสถิติ น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 ที่ปริมาณน้ำปิงสูงสุดที่ 4 เมตร 90 เซนติเมตร ทำให้ปี 2567 นี้กลายเป็นสถิติประวัติศาสตร์น้ำท่วมหนักที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่
รองศาสตราจารย์ ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำฝน สะสมจำนวนมาก เป็นปัจจัยที่ทำให้ปริมาณน้ำท่าเข้าในตัวเมืองเชียงใหม่มีจำนวนมาก จึงทำให้ระดับน้ำปิงสูงกว่าปี 2554 ไป 3 เซนติเมตร
แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาและมีการคำนวน การวางแผนและการแจ้งเตือน เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ปีนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้รับความเสียหายน้อย โดยการวัดเกณฑ์ความเสียหายของภัยพิบัติทั่วโลกดูจากรถยนต์ที่จมน้ำ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี
แต่ปีนี้การระบายน้ำจะทำได้ช้ากว่าปี 2554 และ ปี 2565 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีความจุเต็มอัตรา หากมีฝนตกลงมาพื้นที่ต้นน้ำก็ต้องระบายออก ไม่สามารถกักเก็บได้ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงจะค่อยๆลดระดับลง แต่พื้นที่ที่ยังคงวิกฤตนั้นก็คือฝั่งตะวันตก แม่น้ำปิง เพราะน้ำที่ท่วมจะไม่กลับลงแม่น้ำปิง ซึ่งพื้นที่รับน้ำต่อ ก็คือ อ.สารภี และ จ.ลำพูน
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ หลังจากที่ระดับน้ำในแม่น้ำปิงกลับสู่สภาวะปกติ นั่นคือการฟื้นฟู ที่หลายพื้นที่ได้รับความเสียหาย ทั้งสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ และการฟื้นฟูความเสียหายของแต่ละพื้นที่
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เชียงรายเผชิญกับอุทกภัย ซึ่งผลกระทบจากน้ำท่วมเชียงรายนั้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจเสียหายอย่างประเมินมูลค่าไม่ได้ หนึ่งในองค์กรเอกชน อย่างหอการค้าจังหวัดเชียงราย มองว่า ทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อมาทบทวนถึงต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงให้ครบทุกมิติ
และที่สำคัญ ต่อไปต้องมีการจัดทำแผนเผชิญอุทกภัยอย่างเป็นรูปธรรม นอกเหนือจากปัญหาแผ่นดินไหวที่เคยเกิดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อลดการสูญเสียของชีวิต และทรัพย์สิน
ปัญหาอุทกภัยของจังหวัดเชียงราย ที่รุนแรงในรอบประวัติศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิสม อินทรลาวัณย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้สะท้อนให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ส่งสัญญาณถึงความไม่มั่นคงทางสิ่งแวดล้อม
ดังจะเห็นได้ว่า ปีนี้จังหวัดเชียงรายมีปริมาณน้ำฝนที่มีมากถึง 1,800 มิลิเมตรต่อปี ซึ่งหากเทียบกับ 3 ถึง 5 ปีก่อน ที่อยู่เพียงแค่ที่ 1,300 ถึง 1,500 มิลลิเมตร และการกระจายตัวของฝนตกหนักเฉพาะพื้นที่มากขึ้น ซึ่งธรรมชาติเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่ต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยังไม่รวมปัญหาการใช้ที่ดิน การถมทางน้ำ จนทำให้พื้นที่รับน้ำหายไปเกือบหมดจากการเติบโตของเมือง
การเปิดเวทีระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนของ จ.เชียงราย ได้เริ่มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และร่วมกันถอดบทเรียนแบบบูรณาการ เพราะปัญหาอุทกภัยที่กิดขึ้นใน จ.เชียงราย ยังเกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องส่งไม้ต่อให้ระดับรัฐบาลเข้ามาวางแผนการบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2567 เนชั่นกรุ๊ป ร่วมกับ มูลนิธิเนชั่น เดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องชาวภาคเหนือ ที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากเหตุอุทกภัย ผ่านโครงการ "เนชั่นปันน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วม"
โดยเนชั่น กรุ๊ป ได้มอบรายได้ส่วนหนึ่งจากการจัดงาน "Dinner Talk : Vision for Thailand 2024" ร่วมสมทบทุนผ่านทาง มูลนิธิเนชั่น เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือ
พร้อมเชิญท่านผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของที่จำเป็น อาทิ น้ำดื่ม นม ข้าวสาร อาหารแห้ง ยารักษาโรค ฯลฯ ได้ที่จุดรับบริจาค อาคารเนชั่น หรือร่วมสมทบทุนเพื่อช่วยเหลือ ผ่านทางบัญชีมูลนิธิเนชั่น
ต่อมา 2 ก.ย. 2567 คุณฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารเนชั่น กรุ๊ป พร้อมด้วย พล.ท.ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย และ พล.อ.ท.ประภาส สอนใจดี เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ กองทัพอากาศ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดงาน "ความร่วมมือช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย" ภายใต้โครงการ "เนชั่นปันน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วม"
โดย คุณฉาย บุนนาค ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารเนชั่น กรุ๊ป ได้กล่าวขอบคุณ พันธมิตรและหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองบัญชาการกองทัพไทย , กองทัพอากาศ , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยมูลนิธิเนชั่นซึ่งก่อตั้งมาแล้ว 38 ปี ช่วยเป็นสื่อกลางในการนำความช่วยเหลือ ไปสู่พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่างๆ
โครงการ "เนชั่นปันน้ำใจ ช่วยภัยน้ำท่วม" ได้ผนึกกำลังกับพันธมิตร ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด เช่น ที่ จ.สุโขทัย, จ.หนองคาย, จ.แพร่, จ.พะเยา,บ้านป่าข่า ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย, อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย และ อ.พร้าว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังร่วมกับเครือพันธมิตร อาทิ ทหาร-ตำรวจ-กรมทางหลวง-กรมชลประทาน ช่วยฟื้นฟูและบิ๊กคลีนนิ่งโรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ประสบอุทกภัย ซึ่งหลังน้ำลดปรากฏว่าพบโคลนจำนวนมากอยู่ในพื้นที่ รวมถึง หลังฟื้นฟู ได้มีการมอบอุปกรณ์การศึกษา สิ่งของจำเป็น ให้โรงเรียนชุมชนบ้านไม้ลุงขนฯ เพื่อเติมเต็มให้กับเด็กนักเรียน และคุณครู ด้วย เนื่องจากของเดิมถูกน้ำท่วมเสียหาย
ไม่เพียงแค่นั้น โครงการ "เนชั่นปันน้ำใจฯ" ยังได้มอบสิ่งของ-ทุนการศึกษา ให้เด็กกำพร้าเกือบ 800 ชีวิต ที่วัดดอนจั่น จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากมหาอุทกภัยภาคเหนือด้วย
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2567