svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดตัวเลขต้นทุนทางสังคม PM 2.5 ทำ กทม. เสียหายกว่าปีละ 4 แสนล้าน

วงเสวนาสมัชชาสุขภาพฯ ตีแผ่ข้อมูลความสูญเสียต้นทุนทางสังคมจาก PM 2.5 ทำ กทม. เสียหายทางเศรษฐศาสตร์จากฝุ่นพิษ กว่าปีละ 4 แสนล้าน

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ จัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ระหว่างวันที่ 27-28 พ.ย. 2567 ภายใต้ประเด็นหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” โดยมีผู้เข้าร่วมงานทางระบบ online และ on-site กว่า 3,000 คน โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการจัดการอากาศสะอาด” เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นจากภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคท้องถิ่น ตลอดจนนำเสนอสถานการณ์ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจแนวใหม่ เพื่อการจัดการอากาศสะอาด โดยมีผู้สนใจร่วมฟังกว่า 100 คน

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ เปิดเผยว่า โจทย์ใหญ่ของการพูดคุยในวันนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีการนำโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแบบองค์รวมครอบคลุมทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ซึ่งมุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และสุดท้ายคือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 
เปิดตัวเลขต้นทุนทางสังคม PM 2.5 ทำ กทม. เสียหายกว่าปีละ 4 แสนล้าน
 

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า การเกิดขึ้นของปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นำมาซึ่งต้นทุนทางสังคม (social cost) หรือผลกระทบเชิงลบต่างๆ อาทิเช่น การที่ทางธนาคารโลก (World Bank) ได้ทำการประเมินความเสียหายทางสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ จาก 180 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 20 มีมูลค่าความเสียหายมากถึง 45,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยคิดเป็น 3.89% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งสูงเป็นลำดับที่ 2 ในอาเซียน รองจากประเทศอินโดนีเซีย

มากไปกว่านั้น ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจและได้ค้นพบจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ คือปริมาณ ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในรอบ 1 ปี มีปริมาณสูงเกินกว่าค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยาวนานถึง 6 – 7 เดือน มิใช่เพียงแค่ 2 – 3 เดือน อย่างที่เคยเข้าใจ

“ข้อมูลจากการวิจัยที่เราศึกษาพบว่ามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์จาก ฝุ่น PM 2.5 ต่อครัวเรือนไทย ในปี 2562 อยู่ที่ 2.173 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเจาะลงมาดูรายจังหวัด ก็จะพบว่า กทม. คือพื้นที่อันดับ 1 เกิดความเสียหายกว่า 4 แสนล้าน/ปี เพราะ กทม. มีครัวเรือนโดยประมาณ 3 ล้านครัวเรือน จำนวนครัวเรือนในภาคเหนือรวมกัน 9 จังหวัด ยังไม่เท่า กทม. ส่วนอันดับที่รองลงมา คือชลบุรี นครราชสีมา เชียงใหม่ และขอนแก่น ตามลำดับ” รศ.ดร.วิษณุ ระบุ
 

รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
 

รศ.ดร.วิษณุ กล่าวต่อไปว่า ต้นทุนทางสังคมที่สูญเสียไปจากปัญหามลพิษทางอากาศ หรือ ฝุ่น PM2.5 ยังมีมิติอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM2.5 เกิดจากระบบการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ที่มีการเผาไหม้จนก่อให้เกิดเป็นมลพิษ จึงขอเสนอแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้กรอบแนวคิด BCG เพื่อการจัดการอากาศสะอาด อาทิเช่น การนำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาปรับใช้  

รวมไปถึงการส่งเสริมการทำคาร์บอนเครดิตให้กับภาคประชาชน การส่งเสริมการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยลดการเผาวัสดุเหลือใช้ แล้วนำไปสร้างประโยชน์ต่อให้เกิดรายได้ การส่งเสริมให้เกิด “ตลาดให้เช่าบริการเครื่องจักรกลสมัยใหม่” ให้เกษตรกรทั่วไป สามารถเข้าถึงในราคาที่จับต้องได้ เพื่อลดการเผา ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ทำให้หนี้สินครัวเรือนลดลง ฯลฯ 

ด้าน นายนิกร เต๋จ๊ะแยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาเหนือ (อบต.แม่ทาเหนือ) อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ชุมชนแม่ทาเหนือ มีต้นเหตุแห่งปัญหาเรื่องทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าขุนแม่ทา ซึ่งถูกทำลายจากผู้รับสัมปทานการตัดไม้ตั้งแต่ในอดีตเป็นระยะเวลายาวนานถึง 90 ปี จาก ปี พ.ศ. 2444 – 2534 ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน 11 ชุมชน ประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง ไม่มีน้ำประปาภูเขาใช้ในการอุปโภค บริโภค สิ่งเหล่านี้นำมาสู่การเกิดขึ้นของข้อบัญญัติท้องถิ่น อบต.แม่ทาเหนือ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมจากประชาชน เพื่อบังคับใช้ให้เกิดการควบคุมและดูแลทรัพยากรแบบครบวงจรทั้ง ดิน น้ำ ป่า คน ของชุมชน

มากไปกว่านั้น อบต.แม่ทาเหนือ ได้มีการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มากำหนดขอบเขตพื้นที่ให้แน่ชัดระหว่างพื้นที่ป่ากับพื้นที่ทำกินของเกษตรกรในชุมชน จากนั้นจึงดำเนินการสร้างข้อตกลงร่วมกันว่าจะไม่มีการบุกรุก ถางป่าเพื่อสร้างพื้นที่ทำกินอีกต่อไป โดย อบต.แม่ทาเหนือ จะทำหนังสือรับรองสิทธิชุมชนว่าด้วยการจัดการที่ดิน (ที่ทำกินเดิม) ให้กับเกษตรกรแบบรายแปลง และมีการจัดตั้งกองทุนที่ดินขึ้น เพื่อทำให้เกษตรกรสามารถนำเอกสารการรับรองดังกล่าว มาเป็นหลักทรัพย์การค้ำประกันในการขอกู้สินเชื่อ
นายนิกร เต๋จ๊ะแยง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทาเหนือ

นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้กับประชาชน ผ่านวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่มีการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำวัสดุเหลือทิ้งจากในป่ามาก่อให้เกิดประโยชน์ อย่างเช่น วิสาหกิจชุมชนใบไม้มีคุณค่าจากกลุ่มสตรีฮักทาเหนือที่มีการนำวัสดุที่ก่อให้เกิดเชื้อไฟจากป่า อย่างเช่นใบไม้มาแปรรูป เป็น จาน หรือกระทง ที่นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดโอกาสการเกิดไฟป่า ได้อีกด้วย 

นายนิกร กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา อบต.แม่ทาเหนือ ได้ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการป้องกันไฟป่า โดยได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ที่ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดูแลป่า ไร่ละ 300  บาท ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 หมู่บ้าน โดยในปี 2567 ได้รับงบประมาณสนับสนุนอยู่ที่ 3 – 7 ล้านบาท ส่งผลให้ในวันนี้ อบต.แม่ทาเหนือ มีจำนวนจุดความร้อนที่ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับ 2566

“ชัดเจนว่า หากมีงบประมาณ พร้อมอำนาจในการจัดการ ท้องถิ่นก็จะสามารถแก้ไขปัญหาการเกิดไฟป่าได้ด้วยตนเอง เพราะการมีงบประมาณทำให้ชุมชนมีทรัพยากรเพียงพอในการตรวจตราและเฝ้าระวังการเกิดเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือควรให้เงิน ให้อำนาจในการจัดการ แก่ อปท. ไม่ใช่การให้งานมาทำ แต่ไม่มีเครื่องมืออะไรสนับสนุนเลยอย่างที่เป็นอยู่” นายกอบต.แม่ทาเหนือ ให้ภาพ
เปิดตัวเลขต้นทุนทางสังคม PM 2.5 ทำ กทม. เสียหายกว่าปีละ 4 แสนล้าน

ขณะที่ นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากข้อมูลงานวิจัยของ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช ที่ได้เปิดเผยไปข้างต้นว่า คนกรุงเทพมหานคร (กทม.) ต้องแบกรับต้นทุนทางสังคม ในด้านค่าใช้จ่ายสำหรับการปกป้องตัวเองจากมลพิษทางอากาศเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศ ส่วนตัวคิดว่า มีนวัตกรรมชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจในการที่จะนำมาแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับคนเมือง คือ หอฟอกอากาศระดับเมืองอัตโนมัติแบบไฮบริด หรือ เรียกอย่างง่ายว่า “ฟ้าใส (Fahsai)” 

ทั้งนี้ หอฟอกอากาศฯ ฟ้าใส มีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศได้มากถึง 6 หมื่น ลูกบาศก์เมตร ต่อชั่วโมง ครอบคลุมพื้นที่ครึ่งสนามฟุตบอล โดยสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทั้งในน้ำและในอากาศ ทั้งยังมีความสะดวกในการติดตั้ง วางได้ทุกสถานที่ มีระบบล้อเคลื่อนได้ในระยะใกล้ๆ ราคาของเครื่องอยู่ที่ 3 – 5 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ไม่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนทางสังคม ที่คน กทม.ต้องเสียไป ตามที่ระบุในงานวิจัย ส่วนตัวเชื่อว่า หากมีการนำหอฟอกอากาศฯ ฟ้าใส มาใช้ในพื้นที่ กทม.สัก 1 หมื่นเครื่อง ก็จะทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่เปรียบเสมือนถังรับมลภาวะ อย่าง กทม.
นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)