นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กล่าวแสดงความเสียใจต่อกรณีช้างล้มหลายเชือกจากเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และเห็นว่าส่วนหนึ่งที่จะช่วยป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำรอยได้ คือการยกระดับทักษะควาญช้าง ที่นอกจากความผูกพันระหว่างคนกับช้างแล้ว การดูแลก็ควรจะเป็นไปตามมาตรฐานที่ถูกต้อง ซึ่ง สคช. ได้ทำงานร่วมกับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมสหพันธ์ช้างไทย มูลนิธิเพื่อนช้าง มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในการดูแลช้างอีกหลายแห่ง มาร่วมกันจัดทำมาตรฐานอาชีพควาญช้าง เพื่อพัฒนาทักษะการเป็นควาญช้าง จึงมองเห็นโอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจปางช้างที่หากใช้ประโยชน์จากมาตรฐานอาชีพนี้ ก็จะเป็นอีกทางที่ช่วยเติมเต็มวิธีการ หลักการในการดูแลช้างที่ถูกต้องด้วย
ด้าน นายสัตวแพทย์ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) บอกว่าการดูแลช้างในช่วงฤดูฝน ควาญจะไม่ล่ามช้างใกล้กับแหล่งน้ำเป็นการเตรียมพร้อมหากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว และจะพาช้างขึ้นไปอยู่ในที่สูงแต่จะเลี่ยงพื้นที่สูงชันป้องกันกรณีดินถล่ม โดยการเคลื่อนย้ายจะใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมง และควาญช้างจะเป็นหลักในการช่วยเหลือช้าง เปรียบเสมือนบัดดี้กัน แต่ยอมรับว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ควาญช้างไม่เพียงพอต่อจำนวนช้างในแต่ละปาง ที่มีควาญ 1 คนต่อช้าง 1 เชือก โดยพื้นฐานทั่วไปควาญจะใช้การพูด ใช้การสัมผัสกับช้างเป็นสำคัญ การใช้โซ่ ตะขอ เป็นเพียงเครื่องมือในการควบคุม ดูแล ไม่ใช่การทรมานอย่างที่หลายคนกังวล โดยปกติแต่ละปางจะต้องให้ควาญเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ขั้นพื้นฐาน และช้างเองก็จะทำความรู้จักกับอุปกรณ์เหมือนกัน และมีการทบทวนอยู่เสมอ อย่างน้อยวันละ 5 นาที
“โซ่ ตะขอ เหล่านี้เป็นเครื่องมือส่วนประกอบสำคัญในการดูแลช้างโดยเฉพาะยามวิกฤต ยกเว้นในยามวิกฤต เช่น ไปหาหมอ เผชิญเหตุน้ำท่วม ไฟป่า โดยตะขอมีไว้ใช้ควบคุมทิศทางเวลาที่ช้างตื่น ตกใจ ขาดสติ เพื่อความปลอดภัยทั้งช้างและคน เมื่อพาช้างไปถึงจุดปลอดภัยแล้ว ต้องมีโซ่ล่ามเพื่อให้ช้างหยุดนิ่ง เพราะถ้าช้างวิ่งเตลิด ควาญจะทำอะไรไม่ได้เลย แต่เมื่อช้างหยุดนิ่งสติก็จะกลับคืนมา ควาญก็จะสื่อสาร ปลอบประโลม ด้วยการพูดคุยกับช้างได้ ในยามวิกฤตถ้าช้างไม่นิ่งพูดให้ตายก็ไม่รู้เรื่อง เหมือนคนที่ขาดสติ และในความเป็นจริงช้างจะไว้ใจควาญที่สุด” น.สพ.ทวีโภค กล่าว
น.สพ.ทวีโภค ระบุว่า ควาญช้างจำเป็นต้องมีหลักการพื้นฐาน 3 ข้อซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานอาชีพ 1. มีร่างกายแข็งแรง 2. มีความรู้ทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของช้าง 3. มีจิตใจที่พร้อมทำงานกับสัตว์ใหญ่ มีใจเมตตาต่อสัตว์ รู้จักวิธีการเข้าหาช้าง และปฏิสัมพันธ์กับช้าง และต้องใส่ใจในลักษณะของความเป็นควาญที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เพราะควาญช้างถือเป็นเพื่อนคู่ชีวิตของช้างแต่ละเชือก เป็นสิ่งสำคัญของปางช้างที่จะต้องมีไว้เป็นข้อเตือนใจที่สำคัญสำหรับควาญในการดูแลช้างของตนเอง