8 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเมื่อวานนี้กลุ่มผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร โครงการ 30 ได้รวมตัวกันประท้วงเพื่อต้องการความชัดเจนกรณีที่ กทม.ไม่ต่อสัญญาให้กับผู้ค้าของโครงการ 30 เพียงโครงการเดียว ซึ่งจะหมดสัญญาในเดือนตุลาคมนี้
วันนี้ ทีมข่าว "เนชั่นทีวี" ลงพื้นที่ไปยังตลาดนัดจตุจักร และไปพูดคุยกับผู้ค้าในโครงการ 30 ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณหอนาฬิกา โซนด้านกลางของตลาดนัดจตุจักร โดยโครงการนี้ มีแผงค้าทั้งหมด 529 แผงค้า ซึ่งก็พบว่า บริเวณนี้คนค่อนข้างเดินน้อย ไม่ได้พลุกพล่านเหมือนโซนด้านนอก
จากการสอบถาม นายนิกร ผู้ค้าโครงการ 30 ตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเขาขายกางเกง-กระโปรยีนส์ เล่าให้ฟังว่า เขาขายของที่โครงการ 30 มากว่า 30 ปีแล้ว และมีสมุดแผงค้า มีการจ่ายภาษีโรงเรือนเหมือนกับทุกโครงการ มีสัญญาเช่าถูกต้อง และไม่ได้ค้างค่าเช่า ทำถูกต้องทุกอย่างมาตลอด แต่หลังจากที่กรุงเทพมหานครเข้ามาบริหารก็เปลี่ยนสัญญาเป็นแบบปีต่อปีซึ่งจะหมดสัญญาในเดือนตุลาคม
ซึ่งที่ผู้ค้าไปรวมตัวกันประท้วงเมื่อวานนี้ เพราะต้องการความชัดเจน หลังจากที่ทางสำนักงานตลาดกรุงเทพมหานคร ประกาศออกมาว่า ต่อสัญญาโครงการ 1-29 และ 31 ยกเว้น โครงการ 30 นั้น "ทำไมถึงไม่ให้ต่อสัญญา ผมไม่เข้าใจ หายไปไหน ความหมายของท่านคือจะเอาไปให้เอกชนทำหรือยังไง เราไม่เข้าใจ ซึ่งอยากได้คำตอบตรงนี้ เพราะจะหมดสัญญาในเดือน ต.ค.นี้แล้ว แต่ยังคลุมเครือและมีประกาศออกมาติดที่หน้ากองอำนวยการตั้งแต่เดือนที่แล้ว"
นายนิกร ยังบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปทวงถามมาแล้ว 2 รอบ ทางสำนักงานตลาดฯ ก็ตอบเหมือนเดิมว่า จะปรับพื้นที่เป็นลานกิจกรรม แล้วจะให้ผู้ค้าไปอยู่แผงค้าด้านใน
ซึ่งตนมองว่า ถ้าไปอยู่ด้านใน ก็จะไม่มีคนเดิน เพราะคนไปเดินรอบนอกหมดแล้ว และทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรม ก็จะจัดรอบรอก ทั้งที่เดิม บริเวณหอนาฬิกา เป็นแลนมาร์ค และเคยมีกิจกรรมตลอด แต่ทุกวันนี้ตั้งแต่หลังโควิด ไม่เคยมีจัดกิจกรรมที่หอนาฬิกาเลย ที่ผ่านมาผู้ค้าโครงการ 30 ก็สู้มาตลอด ตนเองขายของที่นี่มา 30 กว่าปี และตอนนี้ก็ลำบากมาก เป็นหนี้เป็นสิน แต่ก็ต้องสู้
ส่วนถ้าสำนักงานตลาดฯ ยังยืนยันว่าจะเอาพื้นที่มาปรับปรุงและให้ย้ายนั้น นายนิกร ก็ยืนยันว่า ก็จะไม่ไปไหนเช่นกัน โดยให้เหตุผลว่า การค้าขายเรื่องของทำเลไม่ใช่เรื่องง่าย ลูกค้าเราเคยรู้ว่าร้านอยู่ตรงนี้ ถ้าย้ายไปด้านในจะมีคนเดินหรือไม่ แล้วด้านนอกบางจุดก็ไม่ได้มีใบแผงค้า ทำไมถึงไม่ให้ร้านเข้าไป ทั้งที่ เรามีแผงค้าถูกต้อง มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งตนเองมองว่าไม่ถูกต้อง และยืนยันว่าจะเดินหน้าสู้ต่อแน่นอน
และผู้ค้าโครงการ 30 ยังอยากอยู่ที่เดิม หากจะปรับพื้นที่จริงๆ ก็จะไม่ขายตรงกลางถนนก็ได้ แต่ก็ต้องเข้ามาปรับทำโดมให้ดูดีกว่านี้ มาจัดกิจกรรมบริเวณหอนาฬิกา เพื่อให้คนได้เดินทั่วตลาด
โดยในวันพุธที่ 11 ก.ย. กลุ่มผู้ค้าโครงการ 30 ก็นัดหมายกันจะเดินทางไปที่ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง เวลา 10.00น. เพื่อยื่นหนังสือกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อให้ท่านได้รับรู้ และอยากให้ผู้ว่ากทม. เข้ามาดูแลเรื่องนี้
ผอ.ตลาดนัดจตุจักร แจง เป็นแผนพัฒนาพื้นที่ เพื่อดึงดูด นทท.
ด้าน นายสุธน สุวรรณภานนท์ ผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดขึ้น โดยบอกว่า ตลาดนัดจตุจักร เป็น 1ใน 12 ตลาดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขึ้นตรงกับ สำนักการตลาดกรุงเทพมหานคร และทางสำนักการตลาดมีนโยบายมาว่า ต้องการปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของพื้นที่โซนหอนาฬิกา ซึ่งตอนนี้จะเป็นลักษณะเต็นท์เขียวชั่วคราว แต่มีกรรมสิทธิ์ของผู้ค้าโครงการ 30 อยู่ จึงอยากจะพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ ให้เป็นแลนมาร์ค ให้มีการจัดกิจกรรม จัดเป็นถนนคนเดิน และเป็นแหล่งโปรโมท จัดแสดงดนตรี จัดคอนเสิร์ตได้ เพราะพื้นที่ปัจจุบัน เหลือแค่ 5 เมตรยังไม่เพียงพอที่จะทำกิจกรรมอะไรได้
ผอ.ตลาดนัดจตุจักร ยังได้ไปอธิบายแผนที่ของโครงการให้ฟัง พร้อมกล่าวว่า เดิมขอบปูนกว้าง 19 เมตร พอมีโครงการ 30 เต็นท์เขียวเข้ามา ก็ขยับมาพื้นที่ไปฝั่งละ 5 เมตร เท่ากับจะเหลือแค่ 9 เมตร และทางเดินหน้าเต็นท์ก็ 2 เมตร มี 2 ฝั่งก็ 4 เมตร ทำให้เหลือพื้นที่ตรงกลางทางเดินแค่ 5 เมตร ก็ทำกิจกรรมอะไรไม่ได้ นอกจากให้คนสนใจมาเช่าชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ค้าเต็นท์เขียวคือของโครงการ 30 มาเช่าค้าขาย
ดังนั้นถ้าเอาตรงนี้ออก พื้นที่ก็จะกลับมากว้าง 19 เมตร และหอนาฬิกาที่เป็นแลนมาร์คอยู่แล้ว ก็จะปรับปรุงกายภาพตรงนี้ทั้งหมด ทั้งการนำสายไฟฟ้าลงดิน และทำเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้มีพื้นที่สามารถทำกิจกรรมได้
และแผงค้าในจตุจักร มีทั้งหมด 10344 แผงค้า ยังว่างอยู่ จากการที่ทีผู้ค้าคืนแผงค้ามาในช่วงโควิด กว่า 200 แผงค้า ดังนั้นถ้าเอาเต็นท์เขียวออก ก็จะเอามาใส่ในแผงค้าที่ว่างอยู่ ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ค้าโครงการ 30 ได้ ซึ่งนี่เป็นแนวทางของผู้บริหารสำนักงานตลาด
โดยหลังจากนี้ จะมีการทำความเข้าใจกับผู้ค้าโครงการ 30 ที่มาประท้วงว่า ทางผู้บริหารมีแนวทางทีาจะพัฒนาอย่างไร และมีแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนโดยสามารถมาจับจองแผงค้าที่ว่างอยู่ได้ หรือจะไปขออยู่ในตลาดอื่นๆ ของสำนักการตลาดกทม.
ทั้งนี้ การปรับปรุงทางกายภาพนี้ ผอ.ตลาดนัดจตุจักร บอกอีกว่า ก็เพื่อจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันคนจะเดินตลาดในช่วงเย็นเฉพาะรอบนอก หลังจากโควิดที่ผ่านมา การค้าขายซบเซา คนน้อยลง จึงอยากดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปด้านใน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ ผู้ค้าอีก 4-5พันแผงค้าด้านใน มีการพัฒนา และมีคนเดินมากขึ้น เพราะปัจจุบัน 4-5โมงร้านค้าด้านในจะเก็บร้านแล้ว
ส่วนกรณีที่มองว่า ล็อคว่างถ้าไปอยู่คนอาจจะไม่เดินเข้าไปซื้อนั้น ผอ.ตลาดนัดจตุจักร บอกว่า ผู้ค้าเองก็ต้องมีการพัฒนาสินค้า ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อให้เป็นตัวเลือก และสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยว เพราะ ตลาดนัดจตุจักรนักท่องเที่ยวที่มา 70% เป็นต่างชาติ อีก 30% เป็นคนไทย ซึ่งอาจจะต้องพัฒนาหาสินค้ามารองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ซึ่งเชื่อว่าถ้าทำแลนมาร์ค ปรับปรุงพื้นที่แล้ว จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้
โดยหลังจากนี้ ทางผู้อำนวยการตลาดนัดจตุจักร จะทำหนังสือเพื่อเรียกผู้ค้าของโครงการ 30 ทั้งหมด มาประชุมเพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน หลังจากพูดคุยไปแล้ว 2 ครั้ง และจะต้องขนย้ายของออกภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้