4 ก.ย.67 ที่โรงแรม เอส 31 น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานองค์กรส่งเสริมการแข่งขัน ที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาดกล่าวเปิดการเสวนาเชิงวิชาการ หัวข้อ "สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร?" ว่า ค่าไฟแพง นักการเมืองคือ ผู้ที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นตัวแทนของภาครัฐที่จะต้องเข้าไปทำงานปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ ต้องเป็นผู้ไปเจรจากับภาคเอกชนในการประมูลงานแต่ผู้ที่มีหน้าที่เจรจาไม่ได้เข้าข้างเพื่อให้ได้ผลประโยชน์เปรียบเสมือนการมีทนายที่เข้าข้างฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่ช่วยเจรจาให้ชนะคดี จึงเป็นสาเหตุทำให้ค่าไฟแพง
เป็นการหมักหมมที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยมานาน เมื่อต้องการแก้ไข ซึ่งใช้วิธีการโจมตีภาคเอกชน ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากภาคเอกชนมีสัญญาที่ชัดเจน และรัดกุม ดังนั้น ผู้ที่จะแก้ไขได้ก็คือคณะปฏิวัติ หรือผู้ที่จะยึดอำนาจ เนื่องจากสามารถฉีกรัฐธรรมนูญ หรือกำหนดกฏเกณฑ์ขึ้นมาใหม่ได้ แต่หากเป็นนักการเมืองที่ถูกเลือกตั้งเข้ามาด้วยระบบประชาธิปไตย ก็จะถูกฟ้องกลับหมดอย่างที่ทราบกันดีว่าการฟ้องจะมีมูลค่าถึงหลัก 10 ล้าน หรือ 100 ล้านบาท
"ในยุคปัจจุบันการฟ้องร้องในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นการปิดปากเหมาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยมีการผสมกลมกลืมกันทั้งในเรื่องของขั้วอำนาจเก่า และขั้วอำนาจใหม่ที่ต่อสู้กันมาร่วม 20 ปี เมื่อรวมกันจึงไม่มีส่วนไหนที่จะปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน"
น.ต.ศิธา ระบุว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวบนเวที “Vision For Thailand” โดย “เนชั่น กรุ๊ป”เท่าที่ทราบมาก็คือ นายทักษิณใช้คำว่าครอบครอง ไม่ใช่ครอบงำ แต่ปรากฎว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อลูกสาวเป็นนายกฯ ก็จะพูดชัดและตรงถึงปัญหาของประเทศชาติ โดยเฉพาะเรื่องทุนผูกขาดซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครรู้ดีและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีเท่ากับนายทักษิณถ้าเต็มใจ และจริงใจในการแก้ปัญหา
อีกทั้งยังได้รับรู้มาว่า เมื่อนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้มาเป็นนายกแล้ว จะจัดการเรื่องดังกล่าวอย่างเด็ดขาดเพราะปัญหาของประเทศไทยทุกวันนี้ประชาชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ รวมถึงคุณภาพชีวิตเสื่อมถอยลงทุกวัน และมีความเหลื่อมล้ำสูงเป็นอันดับต้นของโลกเกิดจากอะไร
"เดิมทีมหาเศรษฐีของโลกก็จะเป็นหน้าเก่า แต่ในปัจจุบัน 9 ใน 10 ของมหาเศรษฐีระดับโลกมาจากนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีสมัยใหม่ แซงเศรษฐีเก่าหมด แต่ประเทศไทยกลับกลายเป็นว่าเศรษฐีที่ขยับขึ้นมาเป็นอันดับต้นมาจากเรื่องผูกขาดแทบทั้งสิ้น ผู้ที่เคยทำธุรกิจรูปแบบอื่นก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบผูกขาด หรือการประมูลงานจากภาครัฐ เมื่อเป็นในลักษณะดังกล่าวจึงมีคำกล่าวที่ว่า ประชาชน 90% ของไทยครอบครองสินทรัพย์ไม่ถึง 10% แต่ประชาชนไม่ถึง 10% ของไทยครอบครองสินทรัพย์มากกว่า 90% หากปล่อยให้เกิดช่องว่าง หรือความเหลื่อมล้ำดังกล่าวต่อไปก็คงจะไม่ดี"
ด้าน ผศ.ดร.นิสิต อินทมาโน เลขาธิการองค์กรส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมและต่อต้านการผูกขาด กล่าวรายงานเสวนาเชิงวิชาการ หัวข้อ "สาเหตุไฟฟ้าแพง ประชาชนเดือดร้อนเพราะใคร?"ว่า การจัดงานนี้ เกิดจากคำถามง่ายๆที่ว่า ทําไมค่าไฟแพงแต่ที่น่าแปลกใจก็คือ ไม่เคยมีคําตอบว่าเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่มีคําตอบจากรัฐบาลว่าจะมีนโยบายอย่างไร จึงต้องมาเปิดเวที ให้ได้ยินคำตอบจากหน่วยงาน นักวิชาการ และมาร่วมรับฟังว่าอะไรคือความจริงในเรื่องค่าไฟแพง
ทั้งนี้ การศึกษา ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารักษาพยาบาลคือสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของรัฐที่กําหนดไว้ และเป็นสิทธิที่ประชาชนไม่สามารถถูกพรากไปได้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า รัฐมีหน้าที่จัดหาสาธารณูปโภค ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม ลดการผูกขาดไม่ใช่เรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ของธุรกิจบนความเดือดร้อนของประชาชน
"สิ่งที่สําคัญเรื่องนี้ถ้าจะขออนุญาตยืมถ้อยคําศาลรัฐธรรมนูญ การแสวงหาผลประโยชน์ของธุรกิจบนความเดือดร้อนถือว่าเป็นการกัดเซาะบ่อนทําลายสิทธิประชาชนและโครงสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมไม่ว่านโยบายพลังงานหรือแผนกําหนดค่าพลังงานที่เพิ่มขึ้นมีความผิดพลาดแบบผิดปกติมาโดยตลอดและไม่ควรจะผิดซ้ำซาก" ผศ.ดร.นิสิต กล่าว.