30 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันพระ แรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ หรือ เดือน 6 ของไทย เป็น "วันวันอัฏฐมีบูชา" วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่เสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 7 วัน ย่างเข้าสู่วันที่ 8 พุทธศาสนิกชน ต่างร่วมทำบุญไหว้พระสวดมนต์ โดยเฉพาะที่ วิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.พิษณุโลก ทางวัดได้จัดให้มีพระธรรมเทศนาธรรม ใน เรื่อง วันอัฏฐมีบูชา มีพุทธศาสนิกชน มาสดับรับฟังและสวดมนต์เป็นจำนวนมาก
นอกเหนือจาก "พระพุทธชินราช" พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจ.พิษณุโลกแล้ว ยังมีพระพุทธรูปอีกปางหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน" ซึ่งประดิษฐาน อยู่ในวิหารพระเจ้าเข้านิพพาน หรือ วิหารหลวงพ่อสามพี่น้อง ทางด้านใต้ของพระวิหาร พระศรีศาสดา ที่วันนี้พุทธศาสนิกชน นักท่องเที่ยวจำนวนมาก ได้กราบไหว้ขอพร พระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน พร้อมตั้งจิตอธิษฐานกระทำความดีถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
พระเจ้าเข้านิพพาน ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.พิษณุโลก มีลักษณะเป็นหีบทอง ซึ่งทำจากศิลาลงรักปิดทอง ประดิษฐานพระบรมศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บนจิตกาธาน ที่ปลายหีบทางด้านใต้ มีพระพุทธบาทคู่ยื่นออกมา นับว่าเป็นพระพุทธรูปปางพิเศษ ที่มีความแตกต่างจากปางอื่น เป็นพุทธปาฏิหาริย์ยื่นพระบาทออกมาให้พระมหากัสสปะเถระ ได้ถวายบังคมเป็นครั้งสุดท้าย รอบพระจิตกาธาน มีรูปพระพุทธสาวก 5 องค์ นั่งชันเข่าพนมมือ ปลงธรรมสังเวช
นอกจากนี้ ด้านท้ายวิหารยังประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย 3 องค์ วิหารตั้งอยู่ด้านหน้าของวิหารพระศรีศาสนา ลักษณะวิหารเป็นทรงโรงสมัยอยุธยาขนาดเล็ก มี 4 ห้อง หลังคามีชั้นเดียว มีปีกนกมุงด้วยเกล็ดพระยานาค นับว่าเป็นศิลปะที่หาดูยาก เพราะมีแห่งเดียวในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนนิยมเรียกว่า วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน หรือ วิหารหลวงพ่อสามพี่น้อง
สำหรับคติความเชื่อของพุทธศาสนิกชน ที่เดินทางมากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าเข้านิพพาน และหีบพระบรมศพนั้น ต่างเชื่อว่า เมื่อได้มากราบพระบาทของพระพุทธเจ้าแล้วอธิษฐานขอสิ่งที่ต้องการแล้วจะสัมฤทธิผลทุกประการ จึงทำให้มีพุทธศาสนิกชน และนักท่องเที่ยวแห่แหนเดินทางมากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าเข้านิพพาน และหีบพระบรมศพ อย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งปี
ทำความรู้จัก "วันอัฏฐมีบูชา"
วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ซึ่งตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือวันแรม 8 ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ หรือ แรม 8 ค่ำ เดือน 7 ในปีอธิกมาส เป็นวันที่ถือกันว่าตรงกับ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ 8 วัน คือหลังจากวันวิสาขบูชาแล้ว 8 วัน วันนี้จึงเรียกว่า วันอัฏฐมีบูชา
อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า วันอัฏฐมีบูชานี้ ในเมืองไทยเรามักลืมเลือนกันไปแล้ว จะมีเพียงบางวัดเท่านั้น ที่จัดให้มีการประกอบกุศลพิธีในวันนี้
สำหรับประวัติความเป็นมาของวันอัฏฐมีบูชา คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ แห่งนคร กุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์ อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ กรุงกุสินารา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 จึงถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนา
วันอัฏฐมีบูชา มีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไร?
การบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฏฐมีบูชานี้ มีไม่กี่แห่งที่จัด เพราะในเมืองไทยมักไม่เป็นที่นิยม แม้สมัยก่อนอาจจะมีงานฉลองในพิธีวันอัฏฐมีบูชาบ้าง แต่ปัจจุบันนี้ก็เลิกราไปมากแล้ว ยังคงมีไม่กี่วัด
ส่วนการบำเพ็ญกุศลในวันนี้ ก็เหมือนกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอื่นๆ มีการให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีการเวียนเทียนในตอนค่ำ บางวัดในบางจังหวัด ยังนิยมบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันอัฎฐมีบูชานี้อยู่บ้าง บางแห่งจัดเป็นงานใหญ่ มีการจำลองเหตุการณ์วันถวายพระเพลิงพุทธสรีระ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งพุทธกาลด้วย