svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อันตรายเฉย สคบ.เตือนพบ "สารตะกั่วเข้มข้น" ใน "พัดลมคล้องคอ"

19 เมษายน 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากแกดเจ็ตกลายเป็นของอันตราย สคบ.โพสต์เตือนอันตรายจากการใช้ "พัดลมคล้องคอ" คลายร้อน พบมี "สารตะกั่วเข้มข้น" เสี่ยงก่อให้โรคร้ายมากมาย พร้อมรู้จักความอันตรายของ "พิษสารตะกั่ว" ที่ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่า "แคดเมียม" แถมยังมีอยู่ร่างกายของทุกคน

ช่วงนี้สภาพอากาศของประเทศไทย "ร้อนถึงร้อนจัด" จึงทำให้ประชาชนจำนวนมาก ต้องสรรหาวิธีช่วยบรรเทาความร้อน หนึ่งในแฟชั่นที่พบเห็นได้และเป็นที่นิยมในขณะนี้คือ การใช้ "พัดลมคล้องคอ" หรือ neck fan แกดเจ็ตสุดเท่ ที่สามารถช่วยบรรเทาความร้อนได้เป็นอย่างดี 

แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการนำอุปกรณ์แกดเจ็ตอย่าง "พัดลมคล้องคอ" มาใช้อาจจะต้องพิจารณากันให้มากขึ้น เมื่อมีการออกมาเตือนถึง "อันตรายแฝง" จากแกดเจ็ตชิ้นนี้ 

โดยเพจเฟซบุ๊ก กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. ได้มีการโพสต์ภาพพร้อมข้อความแจ้งเตือนผู้บริโภคถึงความอันตรายของ พัดลมคล้องคอ ระบุว่า 

"พัดลมคล้องคอ อันตราย อย่าหาใช้" 

ในประเทศสวีเดน แจ้งเตือนภัยพัดลมคล้องคม สำหรับการคลายร้อน โดยได้นำผลิตภัณฑ์นี้ออกจากตลาด รวมถึงในตลาดบนโลกออนไลน์แล้ว เนื่องจากตัวประสานบนแผงวงจรที่เชื่อมต่อแบตเตอรี่ และในสาย USB มีตะกั่วเข้มข้นมากเกินไป และวัสดุพลาสติกสายเคเบิล มีความเข้มข้นของ สารเสริมสภาพพลาสติก (DEHP) , (DBP) และ (SCCPs) มากเกินไป

ซึ่งหากได้รับสารเหล่านี้ทางผิวหนังเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

 

รู้จักความอันตรายของพิษจากสารตะกั่ว

สำหรับความอันตรายของพิษจากสารตะกั่ว ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า   

ภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่ว

ตะกั่ว (lead) เป็นโลหะหนักที่มีลักษณะอ่อน ทำให้หลอมเหลวได้ง่าย และสามารถพิมพ์แบบออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ดี จึงนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มีการนำตะกั่วมาใช้ตั้งแต่สมัยโบราณ ในปัจจุบันก็ยังมีการใช้ตะกั่วในงานต่างๆ อย่างแพร่หลาย ภาวะตะกั่วเป็นพิษเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย
อาการของตะกั่วเป็นพิษ เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับอวัยวะหลายระบบ และคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ ดังนั้นถ้าแพทย์ไม่ได้นึกถึงทำให้การวินิจฉัยผิดพลาด ซึ่งมักเกิดขึ้นเสมอ 


ตะกั่วเป็นสารที่พบปนเปื้อนทั่วไป ในสมัยก่อนเด็กเป็นโรคพิษตะกั่วจากการรับประทานสีทาบ้าน หรือใช้มือจับของที่ติดสีดังกล่าว ในปัจจุบันสีทำด้วยตะกั่วน้อยลง แหล่งที่สำคัญที่ทำให้เกิดพิษสำหรับผู้ใหญ่คือจากอุตสาหกรรมได้แก่ โรงงานทำ battery และโรงงานอื่นๆ ที่มีการใช้ตะกั่วอย่างกว้างขวาง เช่น อุตสาหกรรม electronics และ computer

สำหรับประชาชนโดยทั่วไปอาจได้รับตะกั่วจากอากาศ ซึ่งมักมีตะกั่วปนเปื้อนจากการใช้ tetraethyl lead ในน้ำมันรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีแหล่งอื่นๆ อีกจำนวนมากที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตะกั่วเป็นพิษ อาทิ ยาสมุนไพร หมึก แป้งทาตัวเด็ก (จุ้ยฮุ้ง) ภาชนะ ceramics ที่มีตะกั่ว ท่อประปาที่ทำด้วยตะกั่ว ผลิตภัณฑ์จากแบตเตอรี และอาหารที่มีตะกั่วปนเปื้อน ฯลฯ
อันตรายเฉย สคบ.เตือนพบ "สารตะกั่วเข้มข้น" ใน "พัดลมคล้องคอ"
 

เภสัชจลนศาสตร์ 

ทั้งนี้ตามปกติแล้ว ตะกั่วเป็นธาตุที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั่วๆ ไป ผู้ใหญ่จะรับประทานอาหารโดยมีตะกั่วปนเปื้อนอยู่ด้วยประมาณวันละ 150 ug อาหารเด็กอาจมีตะกั่วปนประมาณวันละ 100 ug และรับตะกั่วในน้ำดื่มประมาณ 100 ug ต่อวัน

นอกจากนี้คนเรายังรับตะกั่วทางการหายใจ โดยทั่วไปอากาศอาจจะมีปริมาณตะกั่ว 1-2 ug/m3 ประมาณกันว่าถ้าปริมาณตะกั่วในอากาศ 1 ug/m3 จะทำให้ตะกั่วในเลือดสูงขึ้น 1 ug/dl โดยสรุปคนหนึ่งอาจรับตะกั่วเข้าไปในร่างกายวันละ 0.1-2 mg ในจำนวนนี้ประมาณ 75% เข้าทางทางเดินอาหารและ 25% เข้าทางการหายใจ การดูดซึมตะกั่วไปทางเดินอาหาร ผู้ใหญ่จะดูดซึมเข้าไปใร่างกายประมาณ 10% ส่วนเด็กจะดูดซึมมากกว่าถึง 40% จนเกิดการสะสม

สำหรับการกระจายตัวของสารตะกั่วในร่างกาย จะกระจายแบบ 3 compartments กล่าวคือตะกั่วส่วนหนึ่งจะไปอยู่ในเลือด ซึ่ง 95% จะจับกับ RBC ปริมาณที่อยู่ในเลือด 2 mg และมีค่า half-life 35 วัน อีกส่วนหนึ่งจะกระจายไปที่ soft tissue ของร่างกายเช่น ตับ ไต ระบบประสาท ปริมาณของตะกั่วที่สะสมในส่วนนี้ยังไม่ทราบแน่นอน อาจจะมีประมาณ 0.6 mg แต่ในบางการศึกษาเชื่อว่ามีมากถึง 10% ของตะกั่วที่สะสมในร่างกาย ตะกั่วในส่วนนี้มี half-life ประมาณ 40 วัน

ตะกั่วส่วนใหญ่ที่สุดที่สะสมในร่างกายคือในกระดูกมีประมาณ 200 mg บางรายงานเชื่อว่ามีประมาณ 90% ค่า half-life ของตะกั่วในกระดูกประมาณ 20-30 ปี การขจัดตะกั่วในร่างกายส่วนใหญ่ประมาณ 75% จะถูกขับออกทางไต คือ 36 ug/วัน อีก 25% หรือ 12 ug/วัน จะถูกขับออกทาง น้ำดี ผม เหงื่อ และเล็บ 
อันตรายเฉย สคบ.เตือนพบ "สารตะกั่วเข้มข้น" ใน "พัดลมคล้องคอ"

พิษฤทธิ์วิทยา 

ตะกั่วออกฤทธิ์โดยจับกับ sulhydryl group ของระบบ enzyme และยังไปแทนที่โลหะตัวอื่นที่เป็นส่วนสำคัญของ enzyme ทำให้ทำงานไม่ได้ พิษของตะกั่วมีผลแบบ nonspecific ดังนั้นจึงอาจเกิดพยาธิสภาพได้หลายระบบ 

ลักษณะอาการของพิษตะกั่ว

อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน หรือปวดท้องบริเวณรอบสะดือ บ้างอาจมีอาการท้องผูก โลหิตจาง มึนชาอวัยวะแขนขา ไม่มีสมาธิ ความจําถดถอย ถ้าในรายที่มีระดับตะกั่วสูงมากอาจมีอาการชัก ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้

การป้องกันและการรักษา

การป้องกัน โดยทั่วไปแล้วควรเน้นการป้องกันและภาวะเป็นพิษ โดยเฉพาะในกลุ่มคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตะกั่วและกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงสูง โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย การใส่หน้ากากป้องกันการหายใจเอาตะกั่วเข้าไป และควรจะเฝ้าระวังการเกิดพิษตะกั่วโดยการตรวจร่างกาย และตรวจวัดระดับตะกั่วเป็นประจำ

การรักษาแบบประคับประคอง ผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นพิษอาจมีอาการหลายระบบเช่น ชัก ปัญหาโรคตับ โรคไต อาการปวดท้อง และอื่นๆ ซึ่งจะต้องประคับประคองให้ดี Chelation ผู้ป่วยที่มีอาการมากควรจะรับผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลและพิจารณา
อันตรายเฉย สคบ.เตือนพบ "สารตะกั่วเข้มข้น" ใน "พัดลมคล้องคอ"

ขอบคุณภาพและข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 
https://www.thaihealth.or.th

logoline