11 เมษายน 2567 กรณีของ "กากแคดเมียม" สารอันตรายที่ถูกขุดจากบ่อฝังกลบที่จ.ตาก จำนวน 13,832.1 ตัน ถูกส่งไปยังปลายทาง จ.สมุทรสาคร ได้รับการเปิดโปงจาก กรรมาธิการการอุตสาหกรรม (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ว่า มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.ตาก ขาย "กากแร่สังกะสี" และ "กากแร่แคดเมียม" ที่ฝังกลบใน จ.ตาก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรสาคร
ก่อนจะมีการขยายผลพบ "กากแคดเมียม" นอกจากจะถูกนำมาที่จ.สมุทรสาครแล้ว บางส่วนถูกกระจายไปที่ จ.ชลบุรี เพื่อนำไปขายต่อ โดยมีนายทุนจีนอยู่เบื้องหลัง และล่าสุดพบซุกในโรงงานกลางกรุงเทพฯ ย่านบางซื่อ
บุกตรวจโรงงาน พบ "กากแคดเมียม" นับพันตัน
4 เม.ย.67 เมื่อเวลา 11.00 น. นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร, สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่ง พื้นที่โรงงาน เจแอนด์บี เมททอล จำกัด ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
จากการตรวจค้นพบ "กากแคดเมียม" บรรจุกในถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมาก กองอยู่ทั้งภายในและนอกโรงงานอย่างหละหลวม ไม่มีการป้องกันอันตรายจากสารแคดเมียมอย่างควรกระทำ
เบื้องต้นคาดว่าสิ่งที่พบคือ "กากแคดเมียม" ทั้งหมดที่ถูกขนจากบ่อฝังกลบ จ.ตาก ผู้ว่าฯ จึงได้สั่งการปิดพื้นที่ สั่งเป็นพื้นที่ห้ามเข้าไปอยู่อาศัย หรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงานเป็นระยะเวลา 90 วัน สั่งส่งกากแคดเมียมย้อนกลับโรงงานต้นทาง
สำหรับ กากแคดเมียมทั้งหมดเริ่มมีการขนย้ายเข้ามาเก็บกองไว้ที่โรงงานตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ใช้เวลาในการขนกว่า 3 เดือน
จากการตรวจสอบพบบริษัทดังกล่าว พบว่า ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการหล่อและหลอมโลหะประเภทต่างๆ 3 โรงงาน จากการเจ้าตรวจสอบ พบว่า
ตรวจร่างกายคนงาน หาสารปนเบื้อน
ในช่วงเย็นวันที่ 4 เม.ย.67 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครได้ร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรสาคร ตรวจคัดกรองสุขภาพของพนักงานในโรงงานจำนวน 11 ราย แบ่งเป็น คนไทย 8 ราย และต่างด้าว 3 ราย ซักประวัติตามแบบฟอร์มการสัมผัสสารโลหะหนักแคดเมียม เบื้องต้นยังไม่พบความผิดปกติ
แพทย์ได้ตรวจร่างกายและเก็บปัสสาวะส่งตรวจหาสารแคดเมียม ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ และให้บริษัทนัดหมายพนักงานที่เหลือเข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลสมุทรสาครโดยเร็ว
นอกจากนี้ เร่งค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบในบริเวณสถานที่ข้างเคียงที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีดังกล่าว ขณะที่กรมควบคุมมลพิษได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงานและบริเวณโดยรอบส่งตรวจหาสารปนเปื้อนด้วย จะทราบผลใน 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ 8 เม.ย.67 พบว่า ผลตรวจพบคนงานโรงหลอม “แคดเมียม” จ.สมุทรสาคร มีสารปนเปื้อนในร่างกาย 19 ราย นำทั้งหมดส่งเข้าโรงพยาบาลรักษาเบื้องต้น โดยมีอาการแล้ว 8 ราย ส่วนอีก 11 ราย ยังไม่ออกอาการป่วย
แคดเมียมอันตรายแค่ไหน?
นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า โรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้กักเก็บและบดย่อยกากอุตสาหกรรม และหล่อหลอมอะลูมิเนียมเท่านั้น แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้หล่อหลอมกากแคดเมียม ดังนั้น การกระทำของโรงงานจึงถือว่ามีความผิดฐานประกอบการ หล่อหลอมแคดเมียม โดยไม่ได้รับอนุญาต และยังเก็บวัตถุเป็นพิษโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย มีโทษสูงสุดทั้งจำและปรับ
"กากแคดเมียมตัวนี้ เป็นกากที่ถูกทำลายฤทธิ์แล้วก่อนลงสู่หลุมฝังกลบที่จังหวัดตาก แต่การนำออกจากหลุมที่จังหวัดตากมาที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อทำการหล่อหลอมกากแร่แคดเมียมนั้นเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด"
คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล อธิบายว่า "แคดเมียม" จะพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ดังนั้นในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย แคดเมียมจะพบได้ในอาหาร ในน้ำ ในเหมือง และในส่วนน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย หรือกลุ่มผู้สูบบุหรี่
นอกจากนี้ทั่วๆ ไป พบแคดเมียมใช้ผสมในสีที่ผสมที่ใช้กับบ้านหรืออาคาร ความร้อนที่ 321 องศาเซลเซียส จะเกิดเป็นควัน ทำให้มีการกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อร่างกายสูดดมสารแคดเมียม จะเก็บสะสมไว้ในตับ และส่วนของหมวกไต (renal cortex) สารแคดเมียมมี half life ในร่างกายมนุษย์ถึง 30 ปี
ในอดีตประเทศญี่ปุ่น โดยมีโรงงานปล่อยสารแคดเมียมมากับน้ำเสียของโรงงาน และปล่อยลงในโรงข้าว ทำให้เกิดการปนเปื้อนของแคดเมียมในเมล็ดข้าว และอาหาร พบผู้ป่วยมากกว่าพันคน เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างทรมาน โดยบริเวณ แขน ขา สะโพก และบริเวณฟัน จะพบมีวงแหวนสีเหลืองติดกับเหงือก เรียกว่า วงแหวนแคดเมียม และจะมีอาการปวดร้าวสะสมนานถึง 20-30 ปี และเมื่อร่างกายเดินไม่ไหว ก็จะเกิดการกดกระดูกสันหลัง เรียกว่า โรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease)
เปิดข้อมูลขุดจากบ่อฝังกลบที่จังหวัดตาก
วันทื่ 5 เม.ย.67 อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ได้ไปตรวจสอบโรงงานต้นทาง ซึ่งเป็นโรงงานถลุงแร่สังกะสีที่ปิดกิจการไปแล้ว เจอบ่อเก็บ "กากแคดเมียม" 7 บ่อ ขุดไปแล้ว 1 บ่อ ได้รับอนุญาตให้นำสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ปริมาณประมาณ 1.5 หมื่นตัน ขนย้ายไปกำจัดที่โรงงานปลายทาง จ.สมุทรสาคร และอีก 6 บ่อ อยู่ในแผนขนย้ายปี 2567-2568
นายนภัทร เตชะสิรภัทร อุตสาหกรรม จ.ตาก กล่าวว่า กำลังรวบรวมข้อมูลให้ทางผู้บริหารทางกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ยืนว่าในกระบวนการพิจารณาอนุญาตนั้น เป็นไปตามคู่มือของโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการอนุญาตในระบบอิเล็กทรอนิกส์
การยื่นขอของผู้ประกอบการต้นทางนั้น ได้แนบมาตรการสิ่งแวดล้อมมาด้วย 5 ประการ และตัวสารที่ยื่นขอ และที่เอาออกไปนั้น ไม่ได้มีแคดเมียมตัวเดียว มีเอกสารการตรวจวัดวิเคราะห์ของบริษัทต้นทาง โดยระบุว่า "เป็นธาตุ" ไม่ได้ระบุว่าเป็นอย่างอื่น มีทั้งหมด 18 ธาตุ ที่ส่งมาให้สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตาก พิจารณาตั้งแต่ต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อทราบว่าเกิดปัญหาที่ จ.สมุทรสาคร ทาง จ.ตาก ได้สั่งระงับทั้งหมด อายัดของและบ่อไว้ ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2567
พบ "กากแคดเมียม" ซุกชลบุรี
วันที่ 6 เม.ย. 67 เวลาประมาณ 14.00 น. ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) เข้าตรวจสอบบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี พบถุงบิ๊กแบ็ก บรรจุวัตถุลักษณะคล้ายกากแคดเมียมและหน้าถุงพ่นสี วัน เดือน ปี การขนส่ง เหมือนกับที่เจอในโรงงาน จ.สมุทรสาคร
จากนั้น กรมโรงงาน และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ได้เข้าตรวจสอบอย่างละเอียด เบื้องต้นกรมโรงงานยืนยันว่า เป็นกากแคดเมียมล็อตเดียวกับที่ จ.สมุทรสาคร ตรวจนับได้ประมาณ 4,200 ถุง คาดว่าน่าจะมีน้ำหนักรวม ประมาณ 6,720 ตัน
จับนักธุรกิจจีน ซุก "กากแคดเมียม" ชลุบรี
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า "กากแคดเมียม" ในโกดัง จ.ชลบุรี ถูกบรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็ก ยังไม่มีการเอาออกมามาหลอมละลาย จึงมีคำสั่งปิดโกดังเพื่อตรวจสอบ จากข้อมูลพบว่า พื้นที่บริเวณที่ตั้งโรงงานโกดังไม่ต่ำกว่า 20 อาคาร โดยมีใบอนุญาตโรงงาน 4 อาคาร แต่ยังไม่ได้แจ้งประกอบกิจการ แสดงว่ายังไม่สามารถประกอบกิจการได้ นอกจากนี้ยังระบุว่าโกดังอื่น ๆ ภายในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาต
ต่อมา ตำรวจได้ควบคุมตัว นายหลิวลู่ อายุ 38 ปี เจ้าของโกดังดังกล่าว ไปดำเนินคดี ที่ สภ.คลองกิ่ว จากการสอบปากคำนายหลิวลู่ รับสารภาพว่า รับซื้อมาจากมิสเตอร์จาง เพื่อรอการจำหน่าย เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ตั้งข้อหานายหลิวลู่ ในข้อหาครอบครองวัตถุสารอันตราย พร้อมทั้งสั่งอายัดโกดังดังกล่าว ห้ามผู้ไม่มีส่วนเข้าออก เพื่อรอการจัดการสารแคดเมียมทั้งหมด
หลังพบกากแคดเมียม ผู้ว่าฯชลบุรี ออกคำสั่งแก้ไขปัญหา "แคดเมียม" ฉบับแรกประกาศห้ามเข้าพื้นที่โกดังเก็บสินค้าพื้นที่ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง ที่พบแคดเมียม 90 วัน พร้อมสั่งการฉบับ 2 ตั้งทีมเร่งดำเนินการป้องกันอันตรายและแก้ไขปัญหา ย้ำไม่ให้ส่งผลกระทบประชาชน
ค้นโรงงานกระทุ่มแบน พบอีก 468 ตัน
วันที่ 9 เม.ย.67 พล.ต.ต วัชรินทร์ พูสิทธ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ ผบก.ปทส. พร้อมเจ้าหน้าที่ สามารถตรวจสอบพบกากแคดเมียมได้อีกนวนมาก ที่โกดังแห่งหนึ่งในย่านคลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พร้อมทั้งเรียกประชุมคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเพื่อวางแนวทางการทำงานร่วมกับกรมโรงงาน
ทั้งนี้จากการตรวจนับเบื้องต้น ตรวจพบ "กากแคดเมียม" จำนวน 468 ตัน ซึ่งตำรวจได้ร่วมกันจับกุม นายกรณ์วัชพล หรือ นายหนุ่ม ในความผิดฐาน “ครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต”
เรียกเจ้าของโรงงานสอบปากคำ
หลังจากตรวจพบ "กากแคดเมียม" ใน 3 แห่ง พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา รองบก.ปทส. พ.ต.อ.อภิสัณฐ์ ไชยรัตน์ ผกก.5.บก.ปทส. พร้อมพนักงานสอบสวน ออกหมายเรียกตัว นายเจษฎา หรือ เสี่ยเจษ (สงวนนามสกุล) ในฐานะหุ้นส่วนของ บริษัทเจแอนด์บี เมทอล จำกัด ที่ถูกตรวจยึดกากแคดเมียมได้เป็นแห่งแรก จำนวน 3,040 ตัน เข้าพบ โดยนัดหมายในวันพฤหัสบดี ที่ 11 เม.ย. 67 นี้ เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุ นายเจษฎา ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ รวมถึงพยายามผัดผ่อนการให้ข้อมูลมาตลอด ด้วยข้ออ้างต่าง ๆ นานา ทำให้ตำรวจต้องออกหมายเรียก ตามขั้นตอนของกฎหมาย หากยังไม่มาก็ต้องออกหมายจับต่อไป
ตะลึง "กากแคดเมียม" ซุกย่านประชาชื่น
เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ และ กระทรวงอุตสาหกรรม ขยายผลการตรวจค้นใน 2 จุดที่จ.สมุทรสาคร และ กรุงเทพ พบซุกซ่อนกากแคดเมียมอีกจำนวนมาก
จากการเข้าตรวจสอบ บริษัท ล้อโลหะไทย แมททอล จำกัด ตั้งอยู่ 1532/1 ซ.เรียงปรีชา ถนนประชาราษฎร์ เขตบางซื่อ กรุงเทพ ซึ่งเป็นของบริษัทในเครือของบริษัท เจแอนด์บี เมทอล จำกัด พบว่าซุกซ่อนกากแคดเมียมในถุงบิ๊กแบ็ก 190 ถุง น้ำหนักประมาณ 300 ตัน
ขณะตรวจค้นมีนางวรรณา (สงวนนามสกุล) อายุ 65 ปี ภรรยาของนายเจษฎา (สงวนนามสกุล) อายุ 64 ปี หุ้นส่วนบริษัท เจแอนด์บี เมทอล จำกัด ที่ จ.สมุทรสาคร รับเป็นเจ้าของโรงงาน
ขณะที่การเข้าตรวจค้นโรงงาน เจแอนด์บี เมททอล จำกัด เป็นครั้งที่ 2 พบถุงบิ๊กแบ็กบรรจุกากแคดเมียมและกากสังกะสี เพิ่มอีก 3,378 ตัน ซึ่งเท่ากับว่าโรงงานนี้มีกากแคดเมียมซุกซ่อนกว่า 6,378 ตัน”
"ชัชชาติ" สั่งคุมเข้ม ตรวจสอบรอบโรงงาน
จากการพบ "กากแคดเมียม" ในพื้นที่เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. สั่งการเจ้าหน้าที่กรมอนามัยกรุงเทพมหานครลงพื้นที่ตรวจสอบหาจากแคดเมียมปนเปื้อนในพื้นที่รอบชุมชน จุดใกล้เคียงโรงงาน ส่วนตัวอาคารมีคำสั่งคำสั่งควบคุมอาคารห้ามเข้าออก
พร้อมกันนี้ ได้เก็บตัวอย่างน้ำใช้ น้ำดื่ม และน้ำทิ้ง ในรัศมีใกล้เคียงโรงงาน 1 กิโลเมตร เตรียมตรวจสอบระบบระบายท่อน้ำทิ้ง เนื่องจากพบว่าโรงงานแห่งนี้มีท่อระบายน้ำทิ้งเชื่อมต่อไปที่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องตรวจสอบว่ามีระบบการคัดกรองหรือบำบัดน้ำเสียหรือไม่ แนะนำให้ประชาชนที่อาศัยใกล้เคียงแม่น้ำเจ้าพระยาหลีกเลี่ยงการใช้น้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติไปก่อน จนกว่าจะมีผลตรวจออกมายืนยันอีกครั้ง
สรุปจำนวน "กากแคดเมียม" ที่หายไป
กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยข้อมูลรายงานสรุปกรณี "แคดเมียม" พบว่า ถูกนำออกมาจากจ.ตาก ประมาณ 13,800 ตัน จนถึงปัจจุบันมีกากตะแคดเมียมที่ถูกพบในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร รวม 12,421.11 ตัน ประกอบด้วย
ดังนั้นจึงเหลือ "กากแคดเมียม" ที่ต้องตามหาอีกประมาณ 1,380 ตัน
เจ้าของโรงงานไม่มาตามหมายเรียก
หลังจากตำรวจได้เชิญตัว นายเจษฎา กรรมการ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด มาให้ปากคำที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ในวันที่ 11 เม.ย.67 ปรากฎว่า นายเจษฎา ได้ขอเลื่อนไปวันที่ 18 เม.ย.67 เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด
พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส. ระบุว่า นายเจษฎา อ้างว่าจะขอปรึกษาทนายเรื่องคำให้การก่อน และการเชิญมาให้ปากคำตามกำหนดวันนี้ เป็นเพียงแค่การเชิญมาให้ปากคำ แต่ยังไม่ได้ออกหมายเรียก แต่หากมาให้ถ้อยคำแล้ว ก็จะต้องพิจารณาในเรื่องของการแจ้งข้อกล่าวหา
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ข้อกล่าวหายังไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ เนื่องจากการดำเนินคดี มีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครองจะต้อง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร, พ.ร.บ.แร่, พ.ร.บ.สาธารณสุข และพ.ร.บ.วัตถุอันตราย ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาร้องทุกข์กล่าวโทษ จากนั้นจึงจะได้แจ้งข้อกล่าวหาพร้อมกันทีเดียว
ปัญหา "กากแคดเมียม" ถือเป็นเรื่องใหญ่กระทบคนไทยทุกคน แต่สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร การดำเนินคดีเอาผิดใครได้บ้าง การตามหาแคดเมียมที่ยังหายไปจะครบเมื่อไหร่ ล้วนแต่เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันแบบห้ามกระพริบตา!!