ใกล้เข้ามาแล้วกับมหาสงกรานต์ 2567 วันนี้ (8 เม.ย. 67) Nation STORY เลยขอพาไปกันที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอ ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งสมาชิกลุ่มในหมู่บ้าน ต่างเร่งทอ "ผ้าขาวม้า" เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า ที่สั่งกันเข้ามาในช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์
น.ส สุภานี เชยชื่นจิตร เลขานุการกลุ่มผ้าทอนาหมื่นศรี กล่าวว่า ลูกค้าสั่งซื้อมาจากกรุงเทพฯ และกลุ่มเซ็นทรัลจากโรงงานกู๊ดกู๊ด สั่งเข้ามาจำนวนหลายพันหลา ราคาขายตั้งแต่ผืนละ 100-250 บาท หากมีชายครุยเหมือนลูกค้าที่เอามาคาดเอว ก็จะมีให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบ ตั้งแต่ราคา 250-400 บาท มี 4-5 ประเภททั้งเล็ก กลาง ใหญ่ ซึ่งตอนนี้ก็มีสต๊อกผ้าขาวม้าไว้ประมาณ 2,000 ชิ้น แต่ละปีในช่วงสงกรานต์จากปีที่แล้วขายได้ประมาณ 500-600 ชิ้น แต่ปีนี้มียอดจองไว้ถึง 2,000 ชิ้น
รู้จัก "ผ้าขาวม้า" ไอเทมสารพัดประโยชน์
หากอ่านคำว่าผ้าขาวม้า แล้วดูจากภาพ หรือใครที่เคยใช้ผ้านี้ จะเห็นได้ว่าไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับ "ผ้าขาว" หรือ "ม้า" เลย แล้วที่มาของชื่อเรียกนี้มาจากไหนกันล่ะ?
คำว่า "ผ้าขาวม้า" ที่เราคุ้นหูกันนั้น จากงานวิจัยเรื่อง "ผ้าขาวม้า" ของ อาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง ระบุว่า "ผ้าขาวม้าไม่ใช่คำไทยแท้ แต่เป็นภาษาเปอร์เซีย ที่มีคำเต็มว่า กามาร์ บันด์ (Kamar Band) แล้วแผลงเป็นคำว่า ผ้าขาวม้าจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคำนี้นิยมเรียกใช้สิ่งที่ใช้คล้องรัดเอว อาจจะเป็นผ้า หรือเครื่องประดับสำหรับคาดเอว ผ้าเคียนเอว ก็จัดอยู่ในกลุ่มของ กามาร์ บันด์ ตามภาษาของชาวเปอร์เซียด้วยเช่นกัน"
นอกจากนี้ ข้อมูลจากอีกสายหนึ่ง อธิบายถึงที่มาของคำว่า "ผ้าขาวม้า" ว่า มาจากคำว่า "ผ้าขมา" ซึ่งหมายถึงผ้าที่ใช้ในการขอขมา ก่อนจะเพี้ยนมาเป็นคำว่า "ผ้าขาวม้า" ในที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ เคยรายงานไว้ว่า มีข้อมูลว่าตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวช่วงยุคสมัยเชียงแสน ได้รับอิทธิพลจากชาวไทยใหญ่ที่ใช้ "ผ้าขาวม้า" โพกศีรษะ ต่อมาผู้ชายไทยใช้ผ้าเคียนเอว (ผูกเอว) แถมยังประยุกต์ใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย จนเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นใช้เก็บสัมภาระในการเดินทาง ห่ออาวุธ นุ่งเวลาอาบน้ำ เช็ดตัว รวมถึงปูนอน
โดยยุคแรกคนไทยจะเรียกผ้าผืนนี้ว่า "ผ้าเคียนเอว" ซึ่ง "เคียน" เป็นคำไทย ตามพจนานุกรม มีความหมายว่า พัน ผูก พาด โพก คาด คลุม พอถูกนำมารวมกับคำว่า "ผ้า" และส่วนของร่างกาย เช่น เอว เลยมีความหมายว่า เป็นผ้าสำหรับคาดเอว นั่นเอง
ส่วนคำว่า "ผ้าขาวม้า" นั้น มานิยมใช้เรียกผ้าผืนนี้กันในเวลาต่อมา
ผ้าขาวม้า มีลักษณะเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่จะทอมาจากฝ้าย เส้นไหม ในบางท้องถิ่นก็นิยมทอจากเส้นด้ายดิบ และป่าน นิยมทอสลับสีกันเป็นลายตาหมากรุกหรือเป็นลายทาง ส่วนใหญ่ขนาดความกว้างประมาณ 3 คืบ ยาว 5 คืบ ซึ่งในวัฒนธรรมของแต่ละภูมิภาค ผ้าขาวม้า จะมีลายทอ และสีสันเส้นใย รวมถึงชื่อเรียกแตกต่างกัน
ส่วนคุณสมบัติสำคัญ เราสามารถใช้งานผ้าผืนนี้ได้อย่างหลากหลาย พอใช้ไปนานๆ ผ้ายิ่งนุ่ม และยังซึมซับน้ำได้ดี แห้งก็เร็ว มีความทนทานนานนับปี (อายุใช้งานประมาณ 1-3 ปี)
สู่ Soft Power
อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ผ้าขาวม้า อยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible cultural heritage) ต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งปัจจุบัน ผ้าขาวม้า ได้กลายมาเป็น Soft Power ของไทย หลังจากผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน ในฐานะผ้าสารพัดนึก ที่อำนวยความสะดวกให้คนไทยมาหลายศตวรรษ...
ขอบคุณข้อมูลจาก :
https://www.thansettakij.com/news/general-news/565861
https://www.posttoday.com/life/healthy/559412
https://www.lib.ru.ac.th/journal/loincloth.html
https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/31/iid/256848
https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4022/