โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือ โรคเนื้อเน่า อันตรายแค่ไหน อาการที่บ่งบอกมีอะไรบ้าง
หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้าง สำหรับโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือ โรคเนื้อเน่า หลังประเทศญี่ปุ่นพบจำนวนคนติดเชื้อแบคทีเรียชนิดร้ายแรง "สเตรปโตคอคคัส กลุ่มเอ" ซึ่งก่อให้เกิดโรคนี้ เพิ่มสูงถึง 517 ราย นับว่าสูงกว่า 5 ปีก่อน ถึง 4 เท่า
ผู้เขียนขอนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้ จากเว็บไซต์ รพ.วิภาวดี และ รพ.พญาไท ซึ่งมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ มาเล่าให้อ่านกัน
โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน หรือ โรคเนื้อเน่า (Necrotizing Fasciitis) เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เนื้อเยื้อใต้ผิวหนัง อาทิ ไขมันใต้ผิวหนัง ผังผืดและกล้ามเนื้อ จะมีความรุนแรงมาก อันตรายถึงชีวิต หากรักษาไม่ทัน เพราะเชื้อจะทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อที่มักพบบ่อยที่แขนขา บริเวณฝีเย็บ และลำตัว มักมีประวัติได้รับอุบัติเหตุ ไปเที่ยวทะเล ถูกก้างปลาตำ
เชื้อที่เป็นสาเหตุ
- เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เรียกว่า Streptococcus เมื่อเชื้อเข้าสู่เนื้อเยื่อ โดยผ่านทางแผลที่ผิวหนัง เชื้อจะเจริญอย่างรวดเร็วและหลั่งสารพิษ (Toxin) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ มีผลทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณนั้นไม่พอทำให้กล้ามเนื้อตาย และเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและลามไปทั่วร่างกาย
แล้วแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายคนได้อย่างไร
- โรคเนื้อเน่า เกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าเปล่า ลุยโคลน โดนเปลือกหอย หรือเศษไม้ตำเท้า เศษแก้วบาด โดยเชื้อแบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ทั้งทาง "ผิวหนัง" หรือ "กระแสเลือด" ผ่านทางแผลที่ถูกบาด แผลถลอก รอยข่วน แมลงกัดต่อย บาดแผลไฟไหม้ รวมทั้ง การใช้เข็มฉีดยา หรือแผลผ่าตัด หากไม่ได้ดูแลรักษาแผลให้ดี ก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
อาการของโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
- ไข้สูง หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน เหงือออก เป็นลม ช็อกหมดหมดสติ
อาการของโรคแบ่งตามระยะเวลาที่เกิดโรค
- อาการของโรควันที่ 1-2 มีอาการปวดบริเวณที่เกิดโรค บวม และแดง ลักษณะจะคล้ายกับผิวหนังอักเสบหรือไฟลามทุ่ง แต่โรคเนื้อเน่าเกิดในชั้นลึกกว่านั้นซึ่งมองไม่เห็น อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นซึ่งไม่สอดคล้องกับอาการทางผิวหนังที่ตรวจพบ ไม่ตอบสนองต่อยาปฎิชีวนะ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัวหัวใจเต้นเร็ว มีลักษณะอาการขาดน้ำ
- อาการของโรควันที่ 2-4 พบว่าบริเวณที่บวมจะกว้างกว่าบริเวณผิวหนังที่แดง มีผื่นผุพองซึ่งบ่งบอกว่าผิวหนังขาดเลือด และมีเลือดออก ผิวมีสีออกคล้ำเนื่องจากผิวหนังเริ่มตาย เมื่อกดผิวจะพบว่าแข็งไม่สามารถคลำขอบของกล้ามเนื้อได้ อาจจะคลำได้กรอบแกรบใต้ผิวหนัง เนื่องจากเกิดแก๊สใต้ผิวหนัง
- อาการของโรควันที่ 4-5 จะมีความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะโลหิตเป็นพิษ ผู้ป่วยจะไม่ค่อยรู้สึกตัว
อาการแทรกซ้อน
อัตราเสียชีวิตจะสูง เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ การติดเชื้ออาจจะทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อและหลอดเลือดถูกทำลาย อาจจะต้องตัดอวัยวะทิ้ง
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเนื้อเน่า
- ผิวหนังมีแผลจากแมลงกัดต่อย อุบัติเหตุถูกของมีคมตำหรือบาด แผลผ่าตัด
- มีโรคประจำตัว เช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค
- อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส
- มีการใช้ยา Steroid
กลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคแบคทีเรียกินเนื้อคน
- พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุ เกษตรกรดำนาไม่สวมใส่รองเท้า มีบาดแผลตามร่างกายและได้รับสิ่งสกปรกเข้าไป
- กลุ่มผู้ที่ใช้ยา Steroid
- กลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนัง อาจเกิดหลังจากป่วยเป็นโรคไข้สุกใส
- กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว เช่น ติดสุรา ติดยาเสพติด โรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง วัณโรค เป็นต้น
- กลุ่มผู้ที่มีบาดแผลเล็กๆ น้อยๆ แล้วไม่มีการทำความสะอาดดูแลแผลให้ดี หรือไม่ถูกต้องจนการติดเชื้อลุกลาม
บริเวณที่ติดเชื้อได้ง่าย
- โรคเนื้อเน่าเกิดกับส่วนใดๆของร่างกายก็ได้ แต่พบบ่อยที่แขน / ขา บริเวณฝีเย็บและลำตัว
- มักจะมีประวัติได้รับอุบัติเหตุ ไปเที่ยวทะเลถูกก้างปลาตำ
การรักษา
มาพบแพทย์โดยด่วนเพื่อวินิจฉัยให้เร็ว และผ่าตัดเอาเนื้อที่ตายหรือเนื้อที่ติดเชื้อออกให้มากที่สุด ผ่าตัดเพื่อระบายเอาหนองออก และตัดเนื้อเยื่อที่ตาย หากติดเชื้อรุนแรงอาจจำเป็นต้องตัดอวัยวะนั้นออก
การป้องกันโรค
การดูแลแผล การดูแลแผลจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคเนื้อเน่า
- เมื่อเกิดแผล รีบทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดทันที
- ทำความสาดแผลทุกวัน และใช้อุปกรณ์ทำแผลที่สะอาด
- ระหว่างที่มีแผลควรหลีกเลี่ยงการใช้สระน้ำ และอ่างอาบน้ำร่วมกัน
- ล้างมือทุกครั้งก่อนแหละหลังสัมผัสแผล
- หากอาการไม่ดีขึ้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาลใกล้บ้านทันที เพื่อตรวจรักษาอาการต่อไป
- หากมีไข้ ปวด บวม แดง แสบร้อน บริเวณที่เป็นแผล ควรรีบพบแพทย์ทันที
- สำหรับเกษตรกรที่ดำนา หากมีแผลตามร่างกาย ไม่ควรลุยโคลนด้วยเท้าเปล่า ควรดูแลบาดแผลให้สะอาดถูกสุขอนามัย และใส่ยาปฏิชีวนะรักษาแผลตามความเหมาะสม
นอกจากนี้ คุณหมอจากคลินิกผิวหนัง โรงพยาบาลพญาไท 2 ซึ่งเขียนบทความสุขภาพ ให้ความรู้เกี่ยวกับ โรคแบคทีเรียกินเนื้อคน ยังระบุด้วยว่า โรคนี้ เป็นโรคที่พบไม่บ่อยนัก หากเป็นคนแข็งแรง มีภูมิต้านทานปกติ และมีวิธีดูแลแผลอย่างถูกต้อง ก็มีโอกาสน้อยที่จะเป็นโรคนี้
แต่หากมีภาวะความเสี่ยงจะเป็นขั้นรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพราะเชื้อจะเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง และกล้ามเนื้อในร่างกาย อาจเกิดอันตรายถึงกับชีวิตได้
ขอบคุณข้อมูลจาก :
www.vibhavadi.com
www.phyathai.com
https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/health/571870