เรื่องเล่าสัตว์โลกวันนี้ พาไปรู้จัก "เต่าปูลู" หรือ "เต่าปากนกแก้ว" (อังกฤษ : Big-headed Turtle, Platysternon megacephalum) เต่าน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่มีรูปร่างแตกต่างจากเต่าชนิดอื่นๆ เขาจะมีความสำคัญกับระบบนิเวศอย่างไร และภัยที่คุกคามจนทำให้ถูกจัดเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์คืออะไร เรามาหาคำตอบกัน
ส่วนเท้ามีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว ปกคลุมด้วยเกล็ดหนามกระจายอยู่ทั่วฝ่ามือฝ่าตีน และมีหางคล้ายแส้ความยาวเท่าลำตัว ในประเทศไทยพบเต่าปูลูเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บางแห่งเท่านั้น
ปกติเราจะคุ้นเคยกันว่าเต่าสามารถหดหัวและขาเข้ากระดองได้ แต่กับ "เต่าปูลู" เขาทำแบบนั้นไม่ได้สักอย่าง อย่างไรก็ดี หัวใหญ่ขาใหญ่ หางยาว เลยดูน่ารัก หางที่ยาวช่วยในการปีนน้ำตกโดยเอาหางช่วยค้ำไว้ปีนน้ำตกนั่นเอง ส่วนนิสัยก็จัดว่า "ดุ" ถ้าจับกระดองเต่าอาจยืดคอแว้งกัดเอาได้
นอกจากนี้ เขามีความสามารถในการปีนป่ายโขดหินและต้นไม้ จึงชอบอาศัยอยู่ตามภูเขาสูง ลำธารน้ำตก ชอบน้ำใสเย็นที่ไหลอยู่เสมอ และพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พอออกหากินแล้ว ย่อมต้องมีเวลาพักผ่อนกันบ้าง เต่าปูลู มักจะพักผ่อนในเวลากลางวัน และ "จำศีล" ในฤดูหนาวโดยหลบอาศัยอยู่ในซอกหิน หรือ หรือตามโพลงไม้ใต้น้ำ เขาไม่ค่อยออกหากินในช่วงจำศีล แต่ก็ชอบปีนตอไม้ขึ้นไปอาบแดด
เครดิตภาพจาก : เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง-ชนแดน
เต่าปูลูเมื่อยังเล็ก กระดองจะมีลายสีเหลืองและสีน้ำตาล ส่วนตัวเต็มวัยสีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก ผสมพันธุ์ในน้ำ วางไข่คราวละประมาณ 3-4 ฟอง ไข่เปลือกแข็งสีขาว รูปทรงกระบอกหัวท้ายรี ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร วางไข่ตามพงหญ้าริมฝั่งล้ำห้วยในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ไข่ฟักตัวออกลูกประมาณเดือนสิงหาคม
เต่าปูลู กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร ซึ่งเขาหากินทั้งจากการล่าเองและกินซากตามลำห้วย เลยเป็น "ผู้รักษาสภาพลำน้ำไม่ให้เน่าเสีย" เพราะเขากินซากสัตว์ที่ตายแล้วในน้ำ เต่าชนิดนี้จึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างหนึ่ง
โดนทำลายแหล่งที่อยู่ไม่พอ ถูกจับไปเป็นอาหารมนุษย์ด้วย
ภัยคุกคามสำคัญของเต่าปูลู มาจากพื้นที่ถูกทำลาย ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยและอาหารเหลือน้อยลง มิหนำซ้ำ ความเชื่อเกี่ยวกับเต่าของคนเรา ที่ว่ากินแล้วจะอายุยืน แข็งแรง พวกเขาจึงมักถูกจับไปเป็นอาหารมนุษย์ด้วย
เครดิตภาพจาก : ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
อีกภัยที่ทำอันตรายต่อเต่าปูลูโดยตรง นั่นคือ "ไฟป่า" อย่างที่กล่าวไป เขาไม่สามารถหดหัวและขาเข้าไปในกระดองได้เหมือนเต่าชนิดอื่นๆ แถมยังเคลื่อนช้า ยามใดเกิดไฟป่า เต่าปูลูจึงตายเป็นจำนวนมาก ไฟป่าเลยเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่าชนิดนี้ใกล้หายไปจากโลก ดังนั้น หนึ่งในการอนุรักษ์เต่าปูลู คือการป้องกันไฟป่า
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ตามกฎหมาย "เต่าปูลู" เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 การล่า การครอบครอง การค้า มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ และเป็นเต่าใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก IUCN (2011) จัดสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN - Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES (2011) จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก :
เฟซบุ๊กเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
เฟซบุ๊กเพจ Environman
http://news.dnp.go.th/news/7986
https://khaokheow.zoothailand.org/animal_view.php?detail_id=198&c_id=
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง-ชนแดน