svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"อินทร สิงหเนตร" สส.ไทยคนแรกถูกขับพ้นจากการเป็นผู้แทนราษฎร

28 มีนาคม 2481 หรือราว 86 ปีที่แล้ว ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งถือเป็นครั้งแรก คือ การลงมติขับ "นายอินทร สิงหเนตร" พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

โดยตามบันทึกของ "นายประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์" เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขณะนั้น ได้เล่าถึงความเป็นมาเป็นไปของเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งสืบเนื่องจากในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2481 ได้มีการประชุมหารือเพื่อจะกำหนดวันเปิดประชุมสามัญประจำปี 

ซึ่งการประชุมครั้งนั้น สส.ยะลา "นายแวเละ เบญอานัชร์" ได้เสนอสภา ให้กำหนดวันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันสำคัญของชาติ เพราะถือเป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ   

ขณะที่บันทึกยังได้ระบุว่า "นายอินทร สิงหเนตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ได้อภิปรายคัดค้านความว่า การที่ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันสำคัญของชาตินั้นไม่เห็นด้วย เพราะวันนั้นหากผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองทำการไม่สำเร็จก็ต้องเป็น "วันกบฏ" และเสนอความเห็นว่าควรเป็น "วันที่ 27 มิถุนายน" เพราะเป็นวันที่ราษฎรได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ"

จากคำพูดดังกล่าวทำให้มีสมาชิก คือ "นายซิม วีระไวทยะ" สมาชิกประเภทที่ 2 ได้ประท้วงขอให้ถอนคำพูดที่ว่า "วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันกบฏ เพราะได้มีการนิรโทษกรรมแล้ว"

ก่อนที่ นายอินทร ได้ยอมถอนคำพูดตามที่มีสมาชิกทักท้วง ก่อนที่ประชุมตกลงกันได้เรื่องกำหนดวัน โดยให้เริ่มสมัยประชุมในวันที่ 24 มิ.ย.

ทว่า อีก 3 วันต่อมา ในวันที่ 28 มี.ค. 2481 ได้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ประเภท คือ

  • ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง
  • ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง


ได้ร่วมกันเสนอญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่าการอภิปรายของนายอินทร สิงหเนตร เมื่อ 3 วันก่อนนั้น มีเจตนาร้าย มีความมุ่งหมายให้มีการดูหมิ่นเกลียดชังระบอบประชาธิปไตย ไม่สมควรเป็นผู้แทนราษฎรในระบอบที่เป็นอยู่ในเวลานั้น 

ก่อนที่ประชุมลงมติด้วยคะแนน 113 ต่อ 15 เสียง ซึ่งเกินกว่าจำนวน 2 ใน 3 ของสมาชิก ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทำให้ นายอินทร สิงหเนตร จึงพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวนั้น เกิดขึ้นในสมัยที่รัฐบาล หลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระยามานวราชเสวี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ที่มา 

  • สถาบันพระปกเกล้า
  • วิกิพีเดีย