ภายหลังเพจเฟซบุ๊ก ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ซึ่งเป็นเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากในพื้นที่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้โพสต์ภาพ "พะยูน" เกยตื้น บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว เกาะลิบง ในสภาพลำตัวซูบยาว ผอมโซ ขณะว่ายน้ำเข้ามาเกยตื้นใกล้เรือหางยาวของชาวบ้านที่จอดอยู่บริเวณท่าเรือบ้านพร้าว
พร้อมระบุข้อความว่า "จะร้องแล้ว พะยูนผอมมาก ท่าเรือบ้านพร้าวเกาะลิบงไม่มีใครสนใจ รอให้ตายหมดก่อนเหรอคับ หญ้าก็หาย. ตะกอนจากการก่อสร้างก็ไม่มีใครทำอะไร บอกใครก็ไม่สนใจ มารวมกันช่วยหน่อยได้ป่าว หลายเดือนแล้วไม่บูมเลย พะยูนตายทุกคนก็เฉยๆสภาพแย่ลงไปทุกวัน หญ้าเหลือน้อยแล้วนะ ขอความสนใจหน่อย ปีนี่ตายไปหลายตัวแล้วนะ"
ซึ่งเป็นภาพที่ประชาชนทั่วไปเห็นแล้ว ต่างสะเทือนใจ และเป็นห่วงต่อสถานการณ์พะยูนในทะเลตรังเป็นอย่างมาก
ด้าน นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอันดามัน จังหวัดตรัง และเป็นหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ บอกว่า พะยูนตัวที่ชาวบ้านพบเกยตื้นตายในวันนี้ สภาพผอม มีเพรียงเกาะตามลำตัวจำนวนมาก แสดงอาการชัดเจนว่าป่วยและขาดอาหาร ต้องรอให้เจ้าหน้าที่ผ่าพิสูจน์ซากหาสาเหตุที่ชัดเจน
ส่วนการที่ "หญ้าทะเล" ในทะเลตรังเสื่อมโทรมทุกพื้นที่รวมกว่า 30,000 ไร่ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้อาหารพะยูนขาดแคลน เพราะทะเลตรังมีพะยูนจำนวนมาก พะยูนจึงอยู่ในภาวะวิกฤตหนัก ซึ่งมีสัญญาณมาตั้งแต่ประมาณ 3-4 ปีมาแล้ว เพราะมีการพบพะยูนเกยตื้นตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย และสาเหตุหลักเกิดจากภาวะการขาดแคลนอาหารที่มาจากความไม่สมดุลทางระบบนิเวศ
ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาการเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลในบริเวณจังหวัดตรังและจังหวัดกระบี่ เพื่อร่วมกันหาสาเหตุหญ้าทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งเขามองว่าตอนนี้ทุกฝ่ายจะต้องเร่งมือทำงาน มัวแต่หาสาเหตุอย่างเดียวไม่ได้ ไม่ทันการณ์พะยูนจะตายหมด โดยทุกฝ่ายต้องจริงจังในการร่วมมือกันทำงาน
นายภาคภูมิ บอกด้วยว่า ปัจจุบันภาระตกอยู่กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งส่วนตัวมองว่าในภาวะวิกฤตตอนนี้หน่วยงานเดียวทำงานไม่พอ ยังมีกรมอุทยานฯ ซึ่งดูแลอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบงถิ่นพะยูนอาศัยอยู่ จะต้องร่วมกันทำงาน
นอกจากนั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควรจะลงมาดำเนินการด้วยตัวเอง เพื่อให้กระทรวงเป็นหน่วยบูรณาการ เพราะลำพังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แม้จะพยายามแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดทั้งเรื่องคน และงบประมาณ จึงต้องดำเนินการในระดับนโยบาย รัฐมนตรีควรจะมีข้อสั่งการ และต้องเร่งกู้วิกฤตในครั้งนี้โดยเร็ว เพราะอาศัยทั้งคน ความรู้ งบประมาณ และต้องการความเร็วในการทำงาน หากมัวแต่หาสาเหตุเพียงเรื่องเดียวพะยูนคงตายหมด แต่ควรทำด้านการฟื้นฟูควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปี 2566 พะยูนตรังเกยตื้นทั้งหมด 23 ตัว ช่วยชีวิตได้ 4 ตัว ตายทั้งหมด 19 ปี หรือตายประมาณร้อยละ 7 ส่วนปี 2567 พบพะยูนเกยตื้นตายแล้วรวม 4 ตัว
ผลผ่าพิสูจน์ คาดสาเหตุป่วยตาย
เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทรัพยากรทางทะเลปละชายฝั่ง(ทช.) ได้นำซากพะยูนผอมตัวดังกล่าวมาทำการผ่าชันสูตรซากโดยทีมสัตวแพทย์
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เป็นซากพะยูน เพศผู้ อายุประมาณ 20 ปี ความยาว 250 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 220 กิโลกรัม ลักษณะภายนอกเขี้ยวอยู่ครบสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง และยังมีร่องรอยการกินหญ้าคาอยู่ภายในปาก พบเพรียงขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วลำตัวบ่งบอกว่าสัตว์อยู่นิ่งเป็นเวลานาน เนื่องจากมีอาการป่วย
เมื่อเปิดผ่าดูอวัยวะภายใน ส่วนของทางเดินอาหารพบพยาธิตัวกลมเต็มท้องในกระเพาะ ลำไส้พบเนื้องอกเนื้อตาย และยังพบพยาธิตัวกลมพยาธิใบไม้ และในลำไส้ใหญ่พบไมโครพลาสติกปะปนเล็กน้อย โดยในกระเพาะพบว่ามีหญ้าทะเลชนิดหญ้าใบมะกรูด หญ้าเข็ม (ซึ่งหญ้าเข็มจะพบในระดับน้ำลึกกว่าหญ้ามะกรูด) แต่มีอยู่น้อย
หลังผ่าพิสูจน์นานถึง 4 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ลงความเห็นสาเหตุการตาย ว่า สัตว์ป่วยเรื้อรัง เนื่องจากมีพยาธิตัวกลมเต็มกระเพาะอาหาร พร้อมทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและโครงกระดูก เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการต่อไป
นายสันติ นิลวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง กรมทช. บอกว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ทะเลตรังพบพะยูนเกยตื้นตายแล้ว 4 ตัว โดยที่ผ่านมาจะพบว่า พะยูนเกยตื้นมากที่สุดในช่วงปลายปีประมาณ พ.ย.-ธ.ค. ส่วนที่ตายในปีนี้อาจเกี่ยวเนื่องกับปลายปีที่ผ่านมา คาดว่าในช่วงกลางๆปีมีโอกาสการเกิดขึ้นน้อยลง แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขค่อนข้างน่าเป็นห่วง
จากที่มีการเก็บข้อมูลมาหลายปี พบสาเหตุหลักของการเกยตื้นส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วย แต่ค่อนข้างจะวินิจฉัยยาก เพราะซากจะเน่า น้อยมากที่จะเจอซากที่สด เมื่อเจอซากเน่า อวัยวะภายในค่อนข้างที่จะพิสูจน์ยาก จะเห็นได้ว่าตัวล่าสุด พบพยาธิในกระเพาะมากขึ้น ชี้ชัดว่ามันป่วย ,พบหนอง พบก้อนเนื้อที่คล้ายมะเร็งลักษณะผิดปกติในอวัยวะภายใน ซึ่งค่อนข้างจะเจอในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ของการเกยตื้น
ส่วนพะยูนตัวดังกล่าวผอม เป็นไปได้ 2 ลักษณะ คือ มันป่วยแล้วทำให้มันผอม หรือ มันอดอาหารแล้วเหนี่ยวนำทำให้มันป่วย ซึ่งจากการที่สัตวแพทย์ ชันสูตรในเบื้องต้นพบว่า ลักษณะของหัวใจอักเสบ และมีก้อนไขมันในหัวใจ ซึ่งถ้าพบว่าในกระเพาะของพะยูนมีแผล ก็อาจจะเป็นเพราะขาดอาหารได้ แต่นี่พบว่ามีพยาธิเต็มกระเพาะเกิดจากอาการป่วยเรื้อรัง
ทีมบินสำรวจพบหากินเป็นฝูงน้อยลง
ผอ.ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อันดามันตอนล่าง บอกด้วยว่า พะยูนจะย้ายถิ่นฐานหรือไม่ ตัวเลขยังสรุปไม่ได้ หากพบแหล่งหญ้าเสื่อมโทรมสัตว์ก็จะย้าย และที่พบในกระเพาะตัวล่าสุดจะเป็นหญ้าเข็ม ซึ่งแสดงว่าพะยูน ไปหากินในระดับน้ำลึก แต่ก็พบเจอหญ้าใบมะกรูดซึ่งเป็นหญ้าที่พะยูนยังคงหากินในที่แหล่งเดิมอยู่ เพราะหลักๆที่เจอความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล จะเจอในแหล่งน้ำตื้นและเป็นในบริเวณที่หญ้าแห้งระดับน้ำลงต่ำสุด
"ตอนนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ทำการสำรวจพะยูนโดยการใช้เครื่องบินเล็ก ซึ่งร่วมสำรวจตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา สิ้นสุดในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพราะฉะนั้น จำนวนตัวเลขพะยูนของจังหวัดตรังในขณะนี้ ยังบอกไม่ได้ เพราะยังสำรวจไม่แล้วเสร็จ แต่ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พบพะยูนทั้งหมด 31 ตัว ซึ่งพบตัวแม่ลูก 2 คู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก พบว่าอยู่ในพื้นที่มีการขยายพันธุ์" นายสันติ กล่าวทิ้งท้าย
เศร้าซ้ำ บินสำรวจทะเลตรังเบื้องต้น ไม่พบ "พะยูน" คู่แม่ลูก
ด้าน นายวัชรบูล ลี้สุวรรณ หรือโน๊ต ดาราดังร่วมกับทีม อาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกกับทีมข่าวว่า วันนี้เขาได้มีโอกาสร่วมกับทีมที่ทำงานภาคสนาม และบังเอิญเป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีพะยูนตายพอดี ทำให้ได้เห็นหมดตั้งแต่การบินสำรวจ บินโดรนและนั่งเรือสำรวจ จนสุดท้ายผ่าซากพะยูน ซึ่งเขามาสำรวจปีนี้เป็นปีแรก แต่จากที่สอบถามทีมงานอื่นๆ ทราบว่าประชากรพะยูนลดจำนวนน้อยลง ซึ่งแต่ก่อนเจอเป็นฝูงเป็นกลุ่ม แต่ปีนี้อยู่แบบกระจัดกระจาย ซึ่งต้องบินหาอยู่พอสมควรกว่าจะเจอ ซึ่งก็ไม่รู้สาเหตุเหมือนกันว่าเพราะอะไร และเท่าที่บินสำรวจ ก็ยังไม่พบพะยูนคู่แม่ลูกเลย
ส่วน นายทอม (Tom) ช่างภาพอาสาสมัครร่วมบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก บอกว่า ได้ร่วมกับคณะบินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก เพื่อที่นักวิจัยจะใช้ข้อมูลนี้ไปอนุรักษ์ทะเลหายากในประเทศไทย ซึ่งที่ไปสำรวจมีจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สุราษฎร์ธานี สตูล ชุมพร ทำเป็นโรดแมพ เชื่อมข้อมูลหาวิธีการอนุรักษ์ให้เป็นภาพใหญ่ขึ้น และในเรื่องของหญ้าทะเลเสื่อมโทรมนั้นตนเริ่มเห็นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว และเสื่อมโทรมเร็วมากในปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งแหล่งหญ้าทะเลที่เกาะลิบงเริ่มหายไปเยอะมากจริงๆ และจากการบินสำรวจจำนวนประชากรพะยูนในเกาะลิบงน้อยมากจริงๆ แต่ไปเจอพะยูนในจังหวัดอื่นๆ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากเคลื่อนตัวหรือกระจายตัว
"อ.ธรณ์" โพสต์ 10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิกฤตหญ้าทะเล/พะยูน
ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ระบุว่า
1.หญ้าทะเลตรัง/กระบี่ตายเป็นจำนวนมากจากโลกร้อน อาจมีรายงานเรื่องขุดลอกหรือทรายกลบที่ลิบง แต่เป็นเฉพาะพื้นที่ในอดีตและการขุดลอกหยุดไปหลายปีแล้ว
2.หญ้าตายหนนี้เริ่มตายปี 65-67 ยังไม่มีท่าทีว่าจะฟื้น และอาจขยายพื้นที่ออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากโลกร้อนไม่หยุด
มีรายงานหญ้าเสื่อมโทรมในลักษณะคล้ายกันในพื้นที่อื่นๆ เช่น เกาะพระทอง (พังงา) อีกหลายพื้นที่กำลังสำรวจเพิ่มเติม
ภาพที่เห็นคือหญ้าทะเลไหม้เนื่องจากน้ำลงต่ำผิดปรกติ น้ำยังร้อน/แดดแรง ปัจจุบันในพื้นที่นั้นหญ้าตายหมดแล้ว
หญ้าทะเลยังตายจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนรุนแรง บางแห่งเน่าจากปลาย บางแห่งเน่าเฉพาะโคนก่อนใบขาด ยังมีความเป็นไปได้ในเรื่องโรค (เชื้อรา)
3.พะยูน 220 ตัวอยู่ที่ตรัง/กระบี่ (ศรีบอยา) เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
4.กรมทะเลมีงบศึกษาวิจัยสัตว์หายากน้อยมาก แม้เริ่มมีอุปกรณ์และทีมงานดีขึ้น แต่งบปฏิบัติการยังน้อยและทำการสำรวจได้ไม่เต็มที่
ในด้านสัตวแพทย์ทะเล ฯลฯ ยังมีบุคลากรจำกัด การศึกษาที่จำเป็น เช่น ตรวจฮอร์โมน ศึกษา DNA การย้ายถิ่น ฯลฯ เพิ่งเริ่มต้น และคงต้องใช้เวลาอีกนานด้วยความจำกัดในหลายด้าน
5.คาดว่าพะยูนอาจเคลื่อนย้ายไปหาแหล่งที่ยังมีหญ้าเหลือ โดยมีเส้นทางขึ้นเหนือ (กระบี่ตอนบน/พังงา/ภูเก็ต) หรือเส้นทางลงใต้ (สตูล) แต่ยังบอกไม่ได้ชัดเจน
บอกไม่ได้เพราะการสำรวจทำตามงบจำกัด ไม่สามารถสำรวจต่อเนื่องเป็นพื้นที่กว้างในช่วงเวลาเดียวกัน
6.ในอดีตไม่เคยมีสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจหญ้าทะเลที่ตรังเมื่อ 40 ปีก่อน หญ้าไม่เคยหายไปเยอะแบบนี้
เนื่องจากหญ้าตายเพราะโลกร้อน/สิ่งแวดล้อม การแก้ที่ต้นเหตุจึงยากมาก
7.การปลูกฟื้นฟูจำเป็นต้องเลือกพื้นที่เหมาะสม พันธุ์หญ้าที่เหมาะสม (DNA) ภูมิต้านทานโรค ฯลฯ ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะสภาพแวดล้อมแปรปรวน
คณะประมงตั้ง “หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน” และมีโรงเพาะเลี้ยงหญ้าทะเลเพื่อเรื่องนี้ตั้งแต่ 4 ปีก่อน
8.การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องพะยูน คือการสำรวจให้กว้างที่สุด ดูการอพยพ (หากมี) เพื่อดูแลแหล่งหญ้าใหม่ที่พะยูนอาจไป
แนวทางใหม่ๆ เช่น การติดตามสัตว์แบบ tracking ด้วยดาวเทียม การตรวจสุขภาพแบบจับมาตรวจ การให้อาหารเฉพาะหน้า ฯลฯ อาจต้องเริ่มคิดกัน
9.กรมทะเลตั้งคณะทำงานแล้วตั้งแต่ต้นปี ทำงานต่อเนื่องมาจนถึงตอนนี้ (บางคนก็อยู่ในทะเลตอนนี้) ประชุมกันเกือบทุกวัน เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญดีกว่านี้อีกแล้ว
10.ทางออกที่สำคัญสุดคือการสนับสนุนงบประมาณให้โครงการต่างๆ ที่กรมทะเลเสนอไป เพื่อให้งานเดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเรื่องของพะยูน
ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะได้งบหรือไม่ ? (งบไม่ใช่หลายล้าน ทั้งหมดที่เสนอไป ราคาใกล้เคียงรถ EV จากจีน)
ทั้งหมดนั้นคือที่สรุปมาให้เพื่อนธรณ์ ในฐานะคนในคณะทำงานครับ (ไม่ได้ตังค์ ไม่มีเบี้ยประชุม ไม่มีโครงการวิจัยในส่วนนี้ ฯลฯ)
จะพยายามต่อไปเท่าที่ทำได้ ยังไงก็ต้องหาทางช่วยน้องครับ
ต่อมา "อ.ธรณ์" ยังได้โพสต์ ผลสำรวจพะยูนเบื้องต้นที่ตรัง โดยระบุข้อความว่า
ผลสำรวจพะยูนเบื้องต้นที่ตรังออกมาแล้วครับ คงถึงเวลาต้องร้องไห้
กรมทะเลบินสำรวจทุกปีที่เดิม ในเดือนเดียวกัน (มีนาคม) ด้วยวิธีเดิมๆ นักบินช่างภาพก็คนเดิมๆ
เมื่อเทียบตัวเลขปีก่อนกับปีนี้ คำว่าตกใจอาจไม่พอ
ปีที่แล้วพบไม่น้อยกว่า 180 ตัว แม่ลูก 12 คู่
ปีนี้พบ 24 ตัว (ลิบง 17 มุกด์ 7) ไม่พบแม่ลูกเลย
เน้นย้ำว่าเป็นผลขั้นต้น ยังต้องสำรวจอีก 2 วัน แต่แค่นี้ก็พอบอกได้ว่าพะยูนตรังน้อยลงมาก ขนาดช่างภาพอาสาสมัครที่มาช่วยสำรวจเป็นสิบๆ ปียังแทบร้องไห้
ปีที่แล้วยังพบพะยูนรวมเป็นฝูง แต่ปีนี้ไม่พบฝูงพะยูนเลย กระจายกันออกไปเป็นตัวเดี่ยวๆ เพราะหญ้าเหลือน้อยมาก
ผลชันสูตรพะยูนที่ตาย พบว่าป่วย ในทางเดินอาหารแทบไม่พบหญ้าทะเล (หากเราไม่มีอะไรกิน เราก็ป่วยตาย ผลชันสูตรคงไม่สามารถระบุได้ว่าอดตาย)
ตัวเลขสำคัญสุดจึงย้อนมาที่ผลสำรวจทางอากาศ พะยูนลดน้อยลงมาก
แล้วพะยูนไปไหน ? เราไม่ได้มีพะยูนตายเป็นร้อยๆ
ดังที่เคยบอกเพื่อนธรณ์ เมื่อหญ้าทะเลหมด พะยูนคงไม่รอให้อดตาย หากตัวไหนไปได้ก็ไป
แต่ไปไหน ? นั่นคือสิ่งที่ผมบอกไว้ในโพสต์ก่อน
เราต้องการโครงการขนาดใหญ่สำรวจต่อเนื่องทั้งพื้นที่ กระบี่/ตรัง/สตูล หรือจะครอบคลุมทั้งอันดามันยิ่งดี
คณะทำงานสัตว์หายากเสนอไปแล้ว หากได้รับความสนับสนุน นักวิจัยของกรมทะเลพร้อมทำงาน
สำหรับทางออก การแก้ปัญหา ฯลฯ ยังบอกไม่ได้ เอาแค่ว่าพะยูนหายไปไหนแค่นี้ก่อน
180 เหลือ 24 ไม่มีแม่ลูกเลย แค่นี้ผมก็พูดอะไรไม่ออก คิดอะไรไม่ออก มันตื้อไปหมด
ได้แต่ภาวนาว่าในการสำรวจอีก 2 วัน เราจะเจอน้องพะยูนเยอะขึ้น แม้รู้ดีว่าไม่มีทางเท่าปีก่อน แต่อย่างน้อยก็ขอให้เยอะกว่านี้สักนิด
24 ตัวมันเป็นตัวเลขที่โหดร้ายและทำร้ายจิตใจเกินไปครับ
หมายเหตุ - เป็นผลสำรวจขั้นต้น รอผลเป็นทางการจากกรมทรัพยากรทางทะเลอีกครั้ง แต่จำนวนคงน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน
ขอขอบคุณ : เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND